หลังจากเห็นข่าวคราวของการลงทุนเทค ผู้นำด้าน Data Center ของมาเลเซียกันมาบ้างแล้ว วันนี้มาเลเซียก็ไม่รอช้า ทุ่มสุดตัว! ใส่เม็ดเงินกว่าแสนล้านดอลลาร์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
โดยล่าสุดอัดฉีดเงินสนับสนุนปั้นคนเก่งเทคขั้นสูงป้อนอุตสาหกรรม พร้อมวางเป้าหมายชัด บรรจุเป็นยุทธศาสตร์ชาติใหม่ ผลักดันสู่ศูนย์กลางการผลิตของโลก ซึ่ง ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ นายกรัฐมนตรีประกาศชัดว่า นับจากนี้มาเลเซียจะเป็นหมุดหมายปลายทางของโอกาสที่มีความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ Trade War รองรับบริษัทระดับโลก กระจายห่วงโซ่การผลิตมายังตลาดอาเซียน
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเปิดเผยในงาน Semicon SEA 2024 ที่กำลังจัดขึ้นในขณะนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อผลักดันให้มาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค โดยรัฐบาลจะทุ่มเม็ดเงินอย่างน้อย 5.3 แสนล้านริงกิต (1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตลอดทั้งห่วงโซ่ และเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก
โดยแผนดังกล่าวได้บรรจุภายใต้แผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (NSS) ที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินสนับสนุนบุคลากรไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านริงกิต (5.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะ 5-10 ปีต่อจากนี้ เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมวิศวกรชาวมาเลเซียผู้มีความสามารถและมีทักษะสูง 60,000 คน และจะสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของมาเลเซีย เช่น กองทุน Khazanah Nasional
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ส่องวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 2 เฟส
อันวาร์ระบุอีกว่า ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้จะแบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส เริ่มจากเฟสแรกที่มุ่งเน้นการลงทุนโดยตรงในประเทศ (DDI) ไปที่การออกแบบแผงวงจรรวม (IC) อุปกรณ์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง ควบคู่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เน้นสร้างโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์และ CPU อุปกรณ์ แผงวงจรอื่นๆ
ส่วนเฟสที่ 2 จะโฟกัสไปที่การก่อตั้งบริษัทในประเทศอย่างน้อยอีก 10 แห่ง ซึ่งต้องเป็นบริษัทด้านการออกแบบและการบรรจุขั้นสูงสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่บริษัทนั้นต้องมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 210-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 พันล้านริงกิต – 4.7 พันล้านดอลลาร์ริงกิต) ซึ่งในส่วนนี้ก็เพื่อยกระดับค่าแรงของชาวมาเลเซียให้สูงขึ้นด้วย
“วิจัย พัฒนา คือยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์หลักของมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยเราจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลกขับเคลื่อนนวัตกรรม” อันวาร์กล่าว
นอกจากนี้ อันวาร์ยังย้ำอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนและส่งเสริมการลงทุนพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายเพิ่มอีก 40% และจะผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลักของมาเลเซียภายในปี 2035 อีกด้วย
มาเลเซียครองสัดส่วน 13% ของตลาดโลก
THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูล มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกมาตั้งแต่ 5 ทศวรรษมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียครองสัดส่วน 13% ของตลาดโลก ด้านการบรรจุและทดสอบชิป
และหากย้อนไปในช่วงที่ผ่านมา มาเลเซียสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทชั้นนำต่างๆ อีกทั้งเมื่อปีที่แล้วมีทั้ง Intel และ Infineon จากเยอรมนีประกาศลงทุน 5 พันล้านยูโร ระยะ 5 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตพลังงาน Silicon Carbide ขนาด 200 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มาเลเซียอีกด้วย
นอกจากมาเลเซียจะส่งเสริมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ดังข้างต้นแล้ว เร็วๆ นี้รัฐบาลยังได้เปิดตัวแพ็กเกจ ‘Golden Pass’ เพื่อกระตุ้นการลงทุน จูงใจบริษัทร่วมลงทุนและบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเข้ามาในประเทศ
พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งศูนย์กลางการออกแบบชิปครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในรัฐสลังงอร์ (Selangor) ซึ่งเป็นรัฐเขตอุตสาหกรรม ใกล้เมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์
ไทยลุยปั้นวิศวกรทักษะสูง 300 คน ป้อน 7 บิ๊กคอร์ปไต้หวัน
สำหรับไทย นอกจากรัฐบาลมุ่งลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ก็มุ่งพัฒนาไปที่อุตสาหกรรมกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ป้อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการเว้นภาษีนักลงทุน 8 ปี
ล่าสุด นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสมาคมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวัน จะจัด Job Matching เป็นครั้งแรก วันที่ 5 มิถุนายน เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่ทำงานกับบริษัทผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ชั้นนำระดับโลกจากไต้หวัน 7 บริษัท นำโดยผู้ผลิต Advanced PCB อันดับ 1-2 ของโลก ได้แก่ บริษัท Zhen Ding Tech และบริษัท Unimicron นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิต PCB และบริษัทในซัพพลายเชนชั้นนำจากไต้หวันอีก 5 ราย ได้แก่ Gold Circuit Electronics, Dynamic Technology Manufacturing, Unitech, First Hi-Tec Enterprise และ Yankey Engineering ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ตัดสินใจลงทุนในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยจะมีการจ้างงานรวมกว่า 5,000 คน
ทั้งนี้ ระหว่างนี้รัฐบาลจะเน้นกลุ่มฝึกบุคลากรทักษะสูงสำหรับเตรียมโรงงานและการตั้งสายการผลิตในช่วงแรก รวมกว่า 300 ตำแหน่ง เงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 20,000-40,000 บาท
อ้างอิง: