มาเลเซียมาแรงแซง ‘ไทย’ ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย สำหรับ ยอดขาย ตลาดรถยนต์ ในอาเซียน สะเทือนอีกระลอกกับสถานะดีทรอยต์แห่งเอเชีย เมื่อไทยเจอวิกฤตหนี้ครัวเรือน แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในไทยเข้าสู่ ‘ขาลง’ ร่วงถึง 25% ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์!
นำมาสู่คำถามที่ว่า ช่วงเวลานี้สมรภูมิตลาดอาเซียนแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (ในมิติของยอดขาย) กำลังถึงจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะเหตุใด?
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลเซีย (Malaysian Automotive Association) เปิดเผยถึงยอดขายรถยนต์ไตรมาส 1 ของปีนี้ ในกลุ่ม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
โดยพบว่ายอดขายรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งอยู่อันดับ 3 มายาวนาน ขยับขึ้นมาแซงหน้าไทยไปเป็นที่เรียบร้อย และมีการขยายตัว 5% และยังสามารถทำยอดขายได้ดีกว่าเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่ยอดขายรถยนต์ของไทยปรับลดลง 25%
โดยมาเลเซียมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 202,245 คัน การเติบโตต่อเนื่องนี้มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น 11% ในปี 2566 ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่ 799,731 คัน
แนวโน้มการเติบโตมาจากปัจจัย ‘มาตรการยกเว้นภาษีการขาย’ สำหรับรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้กับแบรนด์รถยนต์แห่งชาติอย่าง Perodua และ Proton ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดราว 60%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หนี้ท่วมไทย…ปัญหาอยู่ที่ใคร? ‘บ้าน-รถยนต์’ ถูกยึด แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น 50% เพราะคนผ่อนต่อไม่ไหว
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน
- ส่องมูลค่า Data Center ไทย แม้เติบโตถึง 31% ต่อปี แต่ยังเป็นรองมาเลเซีย
มาตรการนี้เป็นการยกเว้นภาษี เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตโควิด แม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงกลางปี 2565 แต่ยอดขายรถยนต์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามคำสั่งซื้อก่อนหน้าก็ยังคงส่งผลดีต่อตัวเลขยอดขายรวมในปี 2566 ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แข่งขันสูง ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขาย
Ivan Khoo ตัวแทนขาย Toyota ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ บอกกับ Nikkei Asia ว่า ยอดขายในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 สดใสกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย Vios เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีราคาต่ำกว่า 100,000 ริงกิต (21,000 ดอลลาร์)
“ทั้งสองกลุ่ม ทั้ง ICE ของ Toyota หรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฮบริดยังคงทำยอดได้ดีต่อเนื่อง แต่ในทางตรงกันข้าม ยอดขายในไทยกลับลดลง แม้ไทยครองตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ แต่กลับพบว่ายอดขายช่วงไตรมาสที่ผ่านมาลดลง 25% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวล
โดยยอดขายรถยนต์รายเดือนของไทยลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว จากสาเหตุหลักๆ คือหนี้ค้างชำระสินเชื่อรถยนต์ บวกกับการบริโภคที่ซบเซา แม้ EV จีนเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม
ไทยจมหนี้ ยอดยึดรถพุ่ง
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าช่วงปีที่ผ่านมา ตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไทยเผชิญปัญหาหนี้เสียและยอดรถที่ถูกยึดจำนวนมาก โดยเครดิตบูโรสรุปในช่วงปี 2566 ว่า ไทยมีปัญหาหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2565 และหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วันกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และราคารถยนต์มือสองที่ตกต่ำ ส่งผลให้บรรดาธนาคารพาณิชย์และบริษัทจัดไฟแนนซ์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
‘อินโดนีเซีย’ ตลาดรถยนต์ เบอร์ 1 อาเซียนก็ชะลอตัว
เมื่อมองไปที่ตลาดรถยนต์เบอร์ 1 ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์
โดยในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2565 และถือว่ายอดขายต่ำกว่าปี 2561 ถึง 30,000 คัน และแม้ว่าสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียจะตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.05 ล้านคัน แต่ยอดขายในปี 2566 ก็ยังไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
เวียดนามก็ไม่ต่างกัน ยอดขายลด 16%
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ ‘เวียดนาม’ ก็เผชิญกับตัวเลขที่ลดลง 16% ในไตรมาสแรกของปีนี้ไม่ต่างกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา ทั้งจากปัจจัยการส่งออกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามยังคงต่ำกว่ายอดขายปีที่แล้วถึง 2 หลัก
‘ฟิลิปปินส์’ มีแนวโน้มเติบโตสุดใน 5 เพื่อนบ้านอาเซียน
ส่วนตลาดรถยนต์ ‘ฟิลิปปินส์’ น่าสนใจว่ากลับมีแนวโน้มเติบโต โดยมียอดขายในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 จากในบรรดา 5 ประเทศข้างต้น หลังจากอัตราเงินเฟ้อลดลงราว 4% ในช่วงปลายปี 2566 และการจับจ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง
ผู้ผลิตเจาะกำลังซื้อชนชั้นกลางตลาดอาเซียน
เมื่อพิจารณาในฝั่งกำลังซื้อ ณ เวลานี้ บรรดาผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในอาเซียน ต่างพุ่งเป้าไปที่กำลังซื้อ ‘ชนชั้นกลาง’ จึงเกิดการแข่งขันในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องของ ‘เงินอุดหนุนจากรัฐบาล’ และภาวะเศรษฐกิจมหภาค
สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซียประเมินอีกว่า ยอดขายรถยนต์รวมจะลดลง 7.5% ในปีนี้ แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดและแบตเตอรี่คาดว่าจะเติบโตก็ตาม
“การใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลงเนื่องจากค่าครองชีพที่สูง ภาษีรถ และอัตราภาษีบริการที่สูงขึ้น รวมถึงการซ่อมแซมและบำรุงรักษายานยนต์ก็มีผล” สมาคมกล่าว
ส.อ.ท. ชี้ ไทยจมหนี้ครัวเรือน เขย่าอุตสาหกรรมยานยนต์
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2567 มีการผลิตทั้งสิ้น 138,331 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 23.08%
โดยมีปัจจัยหลักจากการผลิตขายในประเทศลดลงถึง 41.01% จากการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งที่ลดลงตามยอดขายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม
“หนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ ไม่เพียงแค่นั้น ยอดขายและส่งออกก็หายไปทุกเซ็กเตอร์” สุรพงษ์กล่าว
อ้างอิง: