วานนี้ (30 พฤศจิกายน) เสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสายงานบัญชีและการเงิน ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ขอแจ้งให้ทราบว่า ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่าเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาตรวจค้นบริษัทฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสาธารณชนและนักลงทุน
ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทฯ ขอเรียนให้ข้อเท็จจริงว่า การเข้าตรวจค้นดังกล่าวเป็นขั้นตอนการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐโดยที่บริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ผิดกฎหมาย และในการรับซื้อเนื้อสุกรของบริษัทฯ มีกระบวนการที่รัดกุม และมีการตรวจสอบเอกสารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า สินค้าที่จำหน่ายในแม็คโครทุกสาขา มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล และยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ รายการดังกล่าวมิได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานตามปกติของบริษัทฯ
DSI บุกตรวจ หลังพบหลักฐานเอี่ยวหมูเถื่อน
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำกำลังพร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมคือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เพื่อหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ หลังพบความเชื่อมโยงว่า มีเนื้อหมูเถื่อนถูกลักลอบเข้ามายังบริษัทดังกล่าว และถูกจำหน่ายไปยังผู้บริโภค
ภายหลังการตรวจค้น ศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการสื่อสารองค์กร ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีในการเข้าตรวจโกดังเก็บสินค้าที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ DSI ได้ขอตรวจค้นและขอเอกสารการซื้อ-ขายเนื้อหมูกับบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด เนื่องจากก่อนหน้านี้กรรมการบริษัทตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมูเถื่อนที่ DSI กำลังดำเนินการ
ศิริพรกล่าวต่อว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าเคยซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวจริง ซึ่งขณะนั้นทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาเครื่องในหมูไม่เพียงพอ จึงต้องประสานไปยังบริษัทดังกล่าวเพื่อให้หาเครื่องในหมู (ตับหมู) มาทดแทน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค โดยบริษัทดังกล่าวนำตับหมูมาขายให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) พร้อมเอกสารการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์มาแสดง
ทั้งนี้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวหลายปี โดยมีทั้งการซื้อสินค้าประเภทปลาและสินค้าแช่แข็งหลายๆ อย่าง ซึ่งทุกอย่างยืนยันได้ว่ามีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายทุกล็อตการผลิตที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
จนกระทั่งปี 2565 ทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกซื้อเนื้อหมูกับทางบริษัทดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเนื้อหมูไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งต่อมาบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ตรวจพบตับหมูไม่ได้คุณภาพ เมื่อช่วงต้นปี 2566 ทางบริษัทจึงยกเลิกซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวทุกสินค้า
อย่างไรก็ตาม การตรวจค้นในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวน 2 ผู้ต้องหา ซึ่งพบว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูในขบวนการดังกล่าว โดยทั้ง 2 ผู้ต้องหาให้การยอมรับว่าขายหมูเถื่อนให้ศูนย์กระจายสินค้าแบบขายส่งขนาดใหญ่ของประเทศรายหนึ่ง โดยเริ่มนำเข้าหมูเถื่อนตั้งแต่ปี 2564