×

MAKRO – เผยเป้าหมายปี 2566

19.01.2023
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ตั้งเป้าหมายปี 2566 โดยตั้งเป้ายอดขายทั้งธุรกิจ B2B (Business-to-Business; MAKRO) และธุรกิจ B2C (Business-to-Consumer; Lotus’s) เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก YoY พร้อมกับอัตราการเติบโตของยอดขายสาขา (SSS) เป็นบวก ขยายสาขาเพิ่ม และรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น สะท้อนถึง Upside ต่อยอดขายที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 7% โดยข้อมูลเป้าหมายปี 2566 มีดังนี้

 

  1. การขยายสาขา สำหรับธุรกิจ B2B MAKRO วางแผนเปิดสาขา 12 สาขาในประเทศไทย (Classic & Eco Plus 4 สาขา และ Food Service 4 สาขา) และ 6 สาขาในต่างประเทศ (ประเทศละ 1 สาขาในกัมพูชาและเมียนมา และประเทศละ 2 สาขาในจีนและอินเดีย) สำหรับธุรกิจ B2C บริษัทวางแผนเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต 14 สาขาในมาเลเซีย และเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 5 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 5 สาขา และ Go Fresh 200 สาขา รวมถึงขยายมอลล์ 19 แห่งในประเทศไทย 

 

  1. ยอดขายผ่านช่องทาง Omnichannel ด้วยการเพิ่มความสามารถในการจัดส่งในธุรกิจ B2B และระบบ IT ที่มีเสถียรภาพสำหรับแอปพลิเคชันออนไลน์ในธุรกิจ B2C บริษัทจึงตั้งเป้าสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทาง Omnichannel ต่อยอดขายรวมเพิ่มขึ้นสู่ 15-20% ภายใน 3 ปีข้างหน้า (เทียบกับ 9.5% ของยอดขายรวมในปี 2565) 

 

  1. สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของ MAKRO (Private Label) ด้วยภาวะเงินเฟ้อผลักดันให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น บริษัทจึงคาดว่าสัดส่วนยอดขายสินค้า Private Label ต่อยอดขายรวมจะเพิ่มขึ้นสู่ 16% (เทียบกับ 15% ในปี 2565) สำหรับธุรกิจ B2B และ 15% (เทียบกับ 12% ในปี 2565) สำหรับธุรกิจ B2C ในปี 2566 

 

  1. ธุรกิจให้เช่า บริษัทเชื่อว่าการปรับส่วนผสมผู้เช่าและการใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าได้ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้อัตราการเช่าพื้นที่ในปี 2566 ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด ที่ 96% ในประเทศไทย (เทียบกับ 92% ณ สิ้นปี 2565) และ 97% ในมาเลเซีย (เทียบกับ 95% ณ สิ้นปี 2565)

 

นอกจากนี้ การรับรู้ Synergy ที่ MAKRO ตั้งเป้ารับรู้จำนวน 2.7 พันล้านบาท บริษัทรับรู้ไปแล้ว 1.3 พันลล้านบาทใน 10M65 (ประหยัด CAPEX ได้เกือบ 1 พันล้านบาท ผ่านการซื้ออุปกรณ์ร่วมกัน และส่วนที่เหลือเกิดจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้นและการประหยัดต้นทุน เช่น การบริหารจัดการสินค้ากลุ่มอาหารสด สินค้า Private Brand และรายได้ค่าเช่าได้ดีขึ้น และการใช้บริการ Back Office ร่วมกัน) และส่วนที่เหลือจะรับรู้ในปี 2566 

 

ส่วนการรีไฟแนนซ์หนี้ ณ สิ้น 3Q65 MAKRO มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (1.18 แสนล้านบาท) ต่อทุนที่ 0.3 เท่า โดยมีสัดส่วนหนี้สินสกุลดอลลาร์สหรัฐเทียบกับหนี้สินสกุลเงินบาทอยู่ที่ 54% (1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ): 46% (5.3 หมื่นล้านบาท) ในเดือนสิงหาคม 2565 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นๆ มูลค่าไม่เกิน 9.5 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2.6 หมื่นล้านบาท 

 

ในเดือนตุลาคม 2565 บริษัทได้ออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท (ต้นทุนทางการเงิน 3.2% ต่อปี) เพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้จำนวน 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 หมื่นล้านบาท) และเงินกู้สกุลบาทจำนวน 6.9 พันล้านบาท (ต้นทุนทางการเงิน 5% ต่อปี) 

 

MAKRO จะบันทึกค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้คืนก่อนกำหนดครั้งเดียวจำนวนไม่ถึง 200 ล้านบาทใน 4Q65 และคาดว่าต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยจะทำจุดสูงสุดใน 4Q65 ที่ระดับเฉลี่ย 5% และจะลดลงใน 2H66 เนื่องจากบริษัทวางแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้ส่วนที่เหลืออีก 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนี้สกุลบาทให้แล้วเสร็จภายใน 1H66

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น MAKRO ปรับเพิ่มขึ้น 11.76%WoW สู่ระดับ 42.75 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.02%MoM สู่ระดับ 1,684.10 จุด 

 

กลยุทธ์การลงทุนและแนวโน้มธุรกิจ:

InnovestX Research คาดว่ากำไรปกติ 4Q65 จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว YoY เนื่องจากยอดขายปลีกและรายได้ค่าเช่าที่ดีขึ้นจะช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล การรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จใน 1H66 จะเป็นปัจจัยกระตุ้นในระยะถัดไป โดยคงเรตติ้ง Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF ที่ 43 บาทต่อหุ้น

 

สำหรับปี 2566 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต โดยเกิดจากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น และการผนึกกำลังทางธุรกิจมากขึ้น การรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเสร็จในปี 1H66 จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือการเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X