×

MAKRO – คาด 2H22 จะดียิ่งขึ้น ด้วย Lotus’s หลังรีแบรนด์ร้านค้าเสร็จ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลง และการผนึกกำลังทางธุรกิจ

16.06.2022
  • LOADING...
MAKRO

เกิดอะไรขึ้น:

ใน 2Q22TD ยอดขายสาขา (SSS) ของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับสูง YoY สำหรับธุรกิจ B2B (Business-to-Business: MAKRO) ในประเทศไทย จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่จะอยู่ในระดับทรงตัว YoY สำหรับธุรกิจ B2C (Business-to-Consumer: Lotus’s) ในประเทศไทย จากฐานสูงของปีก่อนอันเป็นผลมาจากการกักตุนอาหาร และเพิ่มขึ้นมากกว่า 10%YoY 

 

ธุรกิจ B2C ในมาเลเซีย หลังจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การเปิดประเทศอีกครั้ง และการอนุญาตให้พลเมืองถอนเงินออมเพื่อการเกษียณ สำหรับธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า (Mall) อัตราการเช่าพื้นที่และอัตราค่าเช่าใน 2Q22TD ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจาก 1Q22 โดยบริษัทตั้งเป้าอัตราการเช่าพื้นที่กลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด ณ สิ้นปี 2022 และอัตราค่าเช่าจะฟื้นตัวในอีก 2 ปี (ปรับสัดส่วนผู้เช่า) 

 

ส่วนการขยายสาขาเพิ่ม โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นใน 2H22 โดยในปี 2022 สำหรับธุรกิจ B2B MAKRO ตั้งเป้าเปิดสาขา 8-12 สาขาในประเทศไทย และ 2-4 สาขาในต่างประเทศ (อินเดียและกัมพูชา ประเทศละ 1-2 สาขา) สำหรับธุรกิจ B2C บริษัทวางแผนเปิดสาขา 162-213 สาขาในประเทศไทย (ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 8-9 สาขา และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 150-200 สาขา) และซูเปอร์มาร์เก็ต 8-9 สาขาในมาเลเซีย (เทียบกับ 2 สาขาใน 1Q22) 

 

บริษัทตั้งเป้ารีแบรนด์ร้านค้าในธุรกิจ B2C ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2022 ซึ่งหลังจากปรับปรุงร้านค้า บริษัทพบว่ายอดขายปรับตัวดีขึ้น โดยเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลางสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก และเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับต่ำสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่

 

ด้านมาร์จิ้นปี 2022 จะดีขึ้น MAKRO คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจ B2B จะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพราะยอดขายกลุ่ม HoReCa (ธุรกิจโรงแรม, ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) ที่ให้มาร์จิ้นสูงจะเพิ่มขึ้น และยอดขายกลุ่มค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่ให้มาร์จิ้นต่ำจะลดลง (มาตรการกระตุ้นลดลง) และธุรกิจ B2C จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะใน 2H22 จากการมียอดขายสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารซึ่งให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์เหมือนใน 3Q21 และการมียอดขายสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มมากขึ้นหลังจากรีแบรนด์ร้านค้าเสร็จสิ้น 

 

MAKRO คาดว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นได้

 

สำหรับแผนรีไฟแนนซ์หนี้ ณ สิ้น 1Q22 MAKRO มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (เงินกู้ยืม) สุทธิต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.25 เท่า โดยจากเงินกู้ยืมทั้งหมด 1.36 แสนล้านบาท มีเงินกู้ยืมภายใต้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท (20%) ซึ่งจะมีการชำระคืนทั้งหมดภายใน 3Q22 และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงได้ 200-225 ล้านบาทต่อไตรมาส และลดอัตราภาษีที่แท้จริง (ลดขาดทุนที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ภายใต้ CPRD) 

 

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ที่เหลือบางส่วน ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างหนี้ SCBS ประเมินได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลกระทบทำให้กำไรสุทธิปี 2023 ของ MAKRO ปรับลดลง 6% 

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น MAKRO ปรับเพิ่มขึ้น 2.94%MoM สู่ระดับ 35.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้น 0.17%MoM สู่ระดับ 1,587.06 จุด

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2022:

SCBS คาดว่ากำไร 2Q22 ของ MAKRO จะเติบโต YoY อันเป็นผลมาจาก SSS ที่เติบโตดีขึ้นและมาร์จิ้นที่แข็งแกร่งนำโดยธุรกิจ B2B แต่จะอ่อนตัวลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

ขณะที่กำไร 2H22 จะปรับตัวดีขึ้น เพราะการดำเนินงานของ Lotus’s จะดีขึ้นหลังจากรีแบรนด์ร้านค้าเสร็จ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลงจากการชำระคืนหนี้ และจะมีการรับรู้ประโยชน์จากการผนึกกำลังทางธุรกิจ 

 

อย่างไรก็ดี ปี 2022 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต 48% โดยการเติบโต 15% จะเกิดจากการผนึกกำลังทางธุรกิจ (รับรู้ 50% ใน 2H22 จากเป้า 2.7 พันล้านบาท ใน 2H22 – ปี 2023) และที่เหลือจะเกิดจากการดำเนินงานตามปกติที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจาก SSS และรายได้จากธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า (Mall) ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย การขยายธุรกิจ และมาร์จิ้นที่ปรับตัวดีขึ้นจากการมีสัดส่วนการขายที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดและการปรับปรุงธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ หากแบ่งตามธุรกิจ การเติบโตของกำไรในปี 2022 นั้น 11% คาดว่าจะเกิดจากธุรกิจ B2B และ 37% จะเกิดจากธุรกิจ B2C (โดยเฉพาะใน 2H22 หลังจากรีแบรนด์ร้านค้าเสร็จสิ้น)

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องติดตาม คือการเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X