ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน นับว่าเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร ด้วยตัวเลขผู้อยู่อาศัยกว่า 3,000 ครัวเรือน
พื้นที่แห่งนี้อยู่ใต้แผนการจัดสรรและดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามโครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน หรือที่รู้จักกันในนาม ‘มักกะสันคอมเพล็กซ์’ อันเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินของรัฐบาลสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ราว 497 ไร่ แบ่งย่อยพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ มีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือเจริญโภคภัณฑ์) เป็นผู้ได้รับสัมปทานในพื้นที่ส่วนที่ 1 เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้ทำการขอเช่าพื้นที่ในส่วนที่ 4 เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นจุดพักอุปกรณ์ก่อสร้าง หากปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองมากกว่า 10,000 ชีวิต
ท่ามกลางการขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ ผู้คนในชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อต่อรองขอเช่าพื้นที่เดิมเพื่ออยู่อาศัยระหว่างที่บ้านพักแห่งใหม่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องด้วยเงื่อนไขนานัปการด้านสถานะทางเศรษฐกิจของผู้คนในชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ
THE STANDARD พาไปสำรวจพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน พื้นที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองขนาดใหญ่อีกพื้นที่ นอกเหนือจากชุมชนคลองเตย
ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันแบ่งเป็นพื้นที่ 5 ชุมชน จำนวน 3,000 กว่าครัวเรือน ชุมชนมีพื้นที่ที่หลากหลาย นับตั้งแต่บ้านเรียงรายริมทางรถไฟ ไปจนถึงบ้านแออัดกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อน
ตัวอักษรพร้อมหมายเลขสีแดงที่ถูกฉีดพ่นบนฝาบ้านแต่ละหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อระบุจำนวนบ้านในพื้นที่ชุมชนที่จะทำการผลักดันออกจากพื้นที่
ผู้อยู่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันล้วนเต็มไปด้วยผู้คนหาเช้ากินค่ำ ทั้งรถเข็นแผงลอย ตลอดจนแรงงานในภาคส่วนต่างๆ สังเกตได้จากเครื่องมือทำมาหากินที่ถูกจอดไว้รอบที่พักอันแออัด
ผู้อยู่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันนำผักที่เหลือขายจากตลาดสายหยุดในช่วงเช้ามาวางแผงหน้าบ้านของตนเพื่อขายต่อให้ผู้คนในชุมชน
เก้อ ประกอบอาชีพขายผักสด โดยเก้อจะไปรับผักมาจากตลาดสี่มุมเมืองในช่วงเช้า เพื่อมาจัดใส่รถเข็นเดินขายไปตามเส้นทางประจำ
“ต้องขายให้หมดในแต่ละวันครับ เก็บไม่ได้ผักมันเน่าเหี่ยวครับผม”
พัฒน์ อายุ 60 ปี อาศัยอยู่ที่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 6 กับลูกสาวและสามี เธอและสามีประกอบอาชีพขายไก่ทอด ปลาทอด บริเวณย่านนานา ออกขายประมาณ 7 โมงเช้าของทุกวัน ไปจนถึงบ่ายหรือจนของหมด
แนวบ้านที่เบียดกันอย่างแออัด ประกบสร้างด้วยวัสดุที่ไม่เข้ากัน คือภาพคุ้นตาของที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง
ด้วยลักษณะพื้นที่ที่ค่อนข้างแคบของชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 5 จึงมีการใช้ทุกพื้นที่ของตัวบ้าน เช่น ฝาผนังบ้านถูกใช้เป็นที่แขวนเสื้อผ้า เนื่องจากบ้านบางหลังไม่มีพื้นที่ทั้งในบ้านและนอกบ้านที่กว้างพอจะใช้เป็นพื้นที่ตากผ้าหรือใช้วางของ
ข้าวสารของผู้อยู่อาศัยที่นำมาตากแห้งริมทางรถไฟบริเวณโซน 6 เนื่องด้วยพื้นที่จำกัดของที่อยู่อาศัย
ทางเข้าชุมชนริมทางมักกะสันโซน 5 และ 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างแออัด น้ำเจิ่งนองหลังฝนตก เป็นสภาพปกติของถนนหนทางในชุมชนแห่งนี้
เรื่องและภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ / Plus Seven