การเมืองมาเลเซียร้อนทะลุองศาเดือดตลอดสัปดาห์นี้ เมื่อ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีประกาศยื่นใบลาออกต่อกษัตริย์มาเลเซีย ท่ามกลางกระแสข่าวและการจับตาของสื่อต่างๆ ว่าเขากำลังรัฐประหารตนเอง โดยกรุยทางสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่มี อันวาร์ อิบราฮิม อีกต่อไป
เกิดอะไรขึ้นในมาเลเซีย
23 กุมภาพันธ์ 2020
มีข่าวร้อนทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้าทั้งในสื่อหลักและโลกออนไลน์ พูดถึงการเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกตของพรรคการเมืองหลัก การพบปะของแกนนำพรรคการเมืองต่างขั้วกันในเมืองหลวง ในตอนเย็นมีบุคคลระดับสูงของประเทศไม่ต่ำกว่า 20 คน เข้าเฝ้า ยังดีเปอร์ตวนอากง (สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละห์ ชะห์) กษัตริย์มาเลเซีย แต่ไม่มีข่าวคืบหน้าหรือแถลงการณ์ใดๆ ออกมา
กลุ่มนักข่าวกระจายไปเกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่หน้าอิสตานาเนการา (พระราชวัง) โรงแรมเชอราตัน ที่แกนนำพรรคหลายพรรคกำลังประชุม ตึก PWTC ใกล้ที่ทำการพรรคอัมโน และหน้าบ้านพักของดาโต๊ะสรี อันวาร์ อิบราฮิม
มีการคาดการณ์กันว่าอาจมีการยุบสภา ปรับคณะรัฐมนตรี หรือมีการสลับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดาที่ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
24 กุมภาพันธ์ 2020
ช่วงเช้ามีข่าวการสลายกลุ่มแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan: PH) หรือแนวร่วมแห่งความหวัง และจะมีการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีฝ่ายค้านในปัจจุบันเข้าร่วมกับพรรคสหประชาชนมาเลย์ (Parti Pribumi Bersatu Malaysia: PPBM) ของ ตุน ดร.มหาเธร์ พร้อมกับบอกว่ามี ส.ส. ในมือแล้ว 130 คน (จากจำนวนทั้งหมด 222 คน) ที่สนับสนุนให้มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจนครบวาระ
ขณะเดียวกันฝั่ง PH ที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม และพรรคยุติธรรมประชาชน (Parti Keadilan Rakyat: PKR) ของเขา พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party: DAP) และพรรคอามานะห์ ก็ออกมาบอกว่าพวกเขาจะยังสนับสนุนมหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายเกิดการแย่งชิงมหาเธร์ เพราะถ้ามหาเธร์ไปทางไหน ย่อมได้อยู่ร่วมเป็นรัฐบาล ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีข่าวลือว่ามหาเธร์ลาออก
และในเวลา 13.00 น. พรรค PPBM ที่มี ส.ส. จำนวน 26 คน ประกาศถอนตัวออกจากแนวร่วม PH และ อัสมิน อาลี รองประธานพรรค PKR พร้อม ส.ส. รวม 11 คน ก็ประกาศลาออกจากพรรคด้วย ส่งผลให้กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที จากนั้นมหาเธร์ได้ประกาศลาออก โดยในช่วงเย็นเขาได้เข้าเฝ้ายังดีเปอร์ตวนอากง ต่อมาก็มีการประกาศแต่งตั้งให้มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จ
อำนาจของยังดีเปอร์ตวนอากง
ตามมาตรา 43 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย สรุปความว่า “หากนายกรัฐมนตรีมีเสียงสนับสนุนไม่พอ นายกรัฐมนตรีสามารถร้องขอต่อยังดีเปอร์ตวนอากง ให้มีการยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องลาออก”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มหาเธร์ลาออกโดยไม่ได้ร้องขอให้มีการยุบสภา ดังนั้นยังดีเปอร์ตวนอากง สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 43(2) (a) แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ได้ โดยเหตุผลที่รองนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์แทนไม่ได้ เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกก็จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นอันสิ้นสุดลง
เท่ากับว่าตอนนี้สภายังอยู่ แต่ไม่มีรัฐบาล ไม่มีคณะรัฐมนตรี มีแต่นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์
นอกจากนี้ถ้าแต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าตนมี ส.ส. มากกว่าหรือไม่อาจตกลงกันได้ ยังดีเปอร์ตวนอากง สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเรียก ส.ส. เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์เป็นรายคนว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี Chief Secretary to the Government of Malaysia (ตำแหน่งสูงสุดของสายข้าราชการ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะรัฐมนตรีด้วย) ร่วมเป็นพยาน
25 กุมภาพันธ์ 2020 ถนนทุกสายมุ่งสู่วัง
ความคึกคักวิ่งกันฝุ่นตลบของฝ่ายการเมืองในสองวันที่ผ่านมาสงบลงชั่วคราว มหาเธร์เข้าทำเนียบทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ และมีเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มาเลเซีย เมื่อยังดีเปอร์ตวนอากงได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เรียก ส.ส. เป็นรายคนเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ โดยจะแบ่งเป็นวันนี้และพรุ่งนี้อีกวัน
ซึ่งมหาเธร์อาจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 หาก ส.ส. ส่วนใหญ่สนับสนุนเขา เพราะเขาเองไม่ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. แต่อย่างใด (มาเลเซียมีข้อกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.)
แต่หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับมหาเธร์ ทำไมลาออก?
ย้อนกลับไปตอนที่มีการตั้งรัฐบาล PH และมหาเธร์บอกว่า เขาจะอยู่ในตำแหน่งแค่ 2 ปี จากนั้นจะลงจากเก้าอี้และให้ อันวาร์ อิบราฮิม เป็นนายกฯ ต่อจากเขา โดยช่วงเวลา 2 ปีกำลังจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ตลอดระยะที่ผ่านมา เก้าอี้ของมหาเธร์ร้อนระอุตลอดเวลา เขาถูกกดดันให้ลงจากอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ นานา โดยดูได้จากการให้สัมภาษณ์ตามที่ปรากฏในสื่อทั้งในและต่างประเทศของ อันวาร์ อิบราฮิม รวมถึงผู้สนับสนุนเขาที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างถี่ยิบ มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกันบ้างในรอบปีที่ผ่านมา
- อันวาร์บอกกับสำนักข่าว Bloomberg ในเดือนกันยายน 2019 ว่าเขาจะสืบทอดตำแหน่งนายกฯ ต่อจากมหาเธร์ในเดือนพฤษภาคม 2020
- ราฟิซี รามลี คนสนิทของอันวาร์ออกมาเตือนมหาเธร์ให้กำหนดวันที่แน่นอนในการลงจากอำนาจ (มกราคม 2020) (https://amp.scmp.com/week-asia/politics/article/3045423/mahathir-set-retirement-date-or-well-do-it-you-anwar-ally-rafizi)
- ลิม กิต เซียง จากพรรค DAP ขู่ว่าจะเลิกเล่นการเมืองหากมหาเธร์ไม่ให้อันวาร์เป็นนายกฯ (พฤษภาคม 2019) (https://www.themalaysianinsight.com/s/153585)
- วิลเลียม ลีออง จาก PKR กล่าวว่า “ถึงเวลาสำหรับ ‘แผน B’ เพื่อทำให้อันวาร์ได้เป็นนายกฯ เร็วขึ้น” (มกราคม 2020) (https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2020/02/16/time-for-plan-b-to-ensure-anwar-is-pm-say-pkr-man/)
- กลุ่มสนับสนุนอันวาร์ (PRO-ANWAR) ออกมาขู่ว่าจะจัดการชุมนุม หากอันวาร์ไม่ได้เป็นนายกฯ ในเดือนพฤษภาคม 2020 (กุมภาพันธ์ 2020) (https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/supporter-may-hold-street-protest-if-anwar-ibrahim-is-not-pm-by-may)
- รองประธานพรรคอามานะห์ คาดว่ามหาเธร์จะวางมือและให้อันวาร์เป็นนายกฯ (สิงหาคม 2019) (https://m.malaysiakini.com/news/488453)
- ฮูซาม จากพรรคอามานะห์ กล่าวว่า มะห์ยุดดิน ยาซิน ควรเป็นรองนายกของอันวาร์ (กรกฎาคม 2019) (https://m.malaysiakini.com/news/483478)
- ยุวชนพรรค PKR เรียกร้องให้มหาเธร์ลาออก (มกราคม 2020) (https://www.themalaysianinsight.com/langasa/s/214086?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook&fbclid=IwAR3jtl5hk8z0PmsjWd9yJxrWSb9ZTrNDazVXkGGGTV5)
- ประธานยุวชนพรรค PKR กล่าวว่าอันวาร์ต้องเป็นนายกฯ ในตอนนี้ ไม่ใช่ในเดือนพฤษภาคม 2020 (มกราคม 2020) (https://m.malaysiakini.com/news/505876)
- ส.ส. พรรค DAP กล่าวหาว่าการเลือกตั้งซ่อมที่ PH พ่ายแพ้มาตลอดนั้น เป็นเพราะความผิดพลาดของมหาเธร์คนเดียว (มกราคม 2020) (https://m.malaysiakini.com/news/507859)
- รอนนี ลิว ตุน ทาส จาก DAP กล่าวว่า PH สามารถตั้งรัฐบาลเองได้โดยไม่ต้องมี PPBM (ตุลาคม 2019) (https://www.thestar.com.my/news/nation/2019/10/22/ronnie-liu-takes-a-swipe-at-dr-m-s-watch-will-still-still-)
- รามาซามี จาก DAP และชางลิห์คัง จาก PKR กดดันให้เปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยเร็ว (มกราคม 2020) (https://m.malaysiakini.com/news/507938)
- อับดุลลาห์ซานี ตั้งคำตามว่ามหาเธร์จะลาออกเมื่อใด (พฤษภาคม 2019) (https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2019/05/31/exactly-when-will-you-resign-pkr-man-asks-dr-m-)
- รอนนี ลิว ตุน ทาส จาก DAP กล่าวว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจต้องเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020 (มกราคม 2020) (https://m.malaysiakini.com/news/507175)
- กลุ่ม NGOS อิสลามบางกลุ่ม และ ABIM เรียกร้องให้มหาเธร์กำหนดวันลงจากอำนาจที่ชัดเจนแน่นอน (สิงหาคม 2019) (https://www.bloombergquint.com/onweb/malaysia-s-bersih-calls-for-mahathir-to-set-date-for-succession)
คนระดับมหาเธร์ถูกกดดันให้ออกทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาตามสัญญา คิดว่าเขาจะอยู่นิ่งเฉยหรือ แน่นอนในรอยยิ้มของมหาเธร์ท่ามกลางการถูกทิ่มแทงจากทุกทิศทุกทาง เขาย่อมต้องทำอะไรบางอย่างโดยอาศัยชั้นเชิงการเมืองที่เหนือชั้นและแหลมคมกว่า
PH จากเดิมที่เป็นรัฐบาล 139 เสียง แต่เมื่อ PPBM, อัสมิน อาลี จาก PKR, ซาฟีอี อัฟดัล จากพรรค Warisan Sabah ประกาศถอนตัวจาก PH ก็ทำให้เหลือเพียง 92 เสียง เมื่อเป็นเสียงข้างน้อย มหาเธร์ลาออก PH ล่มสลายในทันที
มหาเธร์เข้าเฝ้ายังดีเปอร์ตวนอากง เพื่อแจ้งว่าเขามี ส.ส. ในมือ 130 คน อีกฝ่ายหนึ่งถึงรู้ตัวแล้วว่า “ได้ทำผิดพลาดไปแล้ว”
หลังจากนั้นอันวาร์และตัวแทนจากพรรคอามานะห์, DAP ได้เดินทางไปขอพบมหาเธร์ที่ปุตราจายา แต่เขาไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบ จึงพากันไปที่บ้านพักของเขาใน Seri Kembangan เพื่อชักชวน ขอร้องให้เขากลับมาในฐานะนายกรัฐมนตรีของ PH มันเหมือนดราม่าแต่เป็นเรื่องจริง เพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน
และสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ อดีตแนวร่วม PH ที่เหลือแค่ DAP, อามานะห์ และ PKR ไปขอร้องให้มหาเธร์เป็นนายกของ PH ทั้งที่เขาถอนตัวออกมาแล้ว
ขณะเดียวกันพรรคจากซาบาห์, ซาราวัก, PPBM อัมโน และ ปาส ก็เสนอชื่อมหาเธร์เป็นนายกฯ ของฝ่ายตนเหมือนกัน
กลายเป็นว่ามหาเธร์ได้รับเสียงสนับสนุนจากสองฝ่ายอย่างเอกฉันท์ ทั้งที่สองฝ่ายนั้นต่างก็เคยโจมตีเขา
ที่เหนือชั้นกว่านั้น เมื่ออดีต PH เสนอชื่อมหาเธร์เป็นนายกฯ เท่ากับว่าปิดประตูสำหรับอันวาร์ในการเป็นนายกฯ คนต่อไปอย่างสิ้นเชิง
บนเวทีการเมืองที่ยาวนานของมหาเธร์ ย่อมมีทั้งคนรักและคนเกลียด แต่ความจริงก็คือความจริงที่ว่า ไม่มีใครที่จะเป็นได้เหมือนเขา ระยะเวลา 22 เดือนในตำแหน่งนายกฯ ที่ถูกกดดันสารพัด หยามเกียรติ เสมือนเป็นนายกฯ เป็ดง่อย ไม่สามารถคุมอำนาจได้ ยากต่อการบริหาร แต่เขาใช้เวลาแค่ 2 วันเท่านั้น พลิกกลับมาเอาชนะทุกเกม สมดั่งคำเรียกขานว่าปรมาจารย์ทางการเมืองแห่งมาเลเซียอย่างแท้จริง
แต่ความร้อนแรงของการเมืองมาเลเซียก็ใช่ว่าจะจบลงแล้ว ยังต้องดูกันต่อว่าทางออกจะเป็นอย่างไร การจับมือกันตั้งขั้วการเมืองใหม่จะสำเร็จหรือไม่ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือทางออกคือการยุบสภา อีกไม่นานคงรู้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- http://www.astroawani.com/berita-politik/terserah-kepada-agong-tentukan-pm-penganalisis-politik-231607
- https://www.malaysiakini.com/news/512048?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook&fbclid=IwAR2r0wtq_Q_2pDg2AEKo0uJDHE6rz-Ha3PvZyrygWXb_VkoyOAyvHXliwCU
- https://www.malaysiakini.com/news/512048?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook&fbclid=IwAR2r0wtq_Q_2pDg2AEKo0uJDHE6rz-Ha3PvZyrygWXb_VkoyOAyvHXliwCU
- https://www.mstar.com.my/lokal/semasa/2020/02/25/222-ahli-parlimen-menghadap-agong/#.XlStplt2mlM.facebook