ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum (WEF) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2023 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้น หลังประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ หรือ ‘บองบอง’ ลูกชายอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประกาศแผนเปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า กองทุนการลงทุนมหารลิกา (Maharlika Investment Fund: MIF) ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยแผนการเปิดตัวกองทุน MIF ระหว่างประชุม WEF มีขึ้นหลังร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนผ่านการอนุมัติโดยรัฐสภาฟิลิปปินส์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้จะเผชิญกระแสวิจารณ์จากหลายฝ่าย ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการของกองทุน ซึ่งขาดความชัดเจนและอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านการเงินและการทุจริต อีกทั้งยังดูเร่งรีบผลักดันมากกว่านโยบายอื่นๆ ที่จำเป็น
ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงขั้นเปรียบเทียบการจัดตั้งกองทุน MIF กับกองทุน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซียที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกจากการทุจริตครั้งใหญ่ จนทำให้ นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียต้องหลุดจากตำแหน่ง อีกทั้งถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษจำคุก
อย่างไรก็ตาม กฎหมายจัดตั้งกองทุน MIF ยังคงไม่ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นหลังเปิดประชุมสภาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้
ขณะที่ คาร์ลอส ซอร์เรตา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงว่า แผนเปิดตัวกองทุน MIF ที่ดาวอส จะเป็นเพียงการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ
โดยมาร์กอส ซึ่งเป็นผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงคนเดียวและเป็น 1 ใน 2 ผู้นำเอเชียที่เข้าร่วมประชุม WEF ทราบดีว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ร่างกฎหมายกองทุนฉบับสุดท้ายซึ่งต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาอาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด
แต่เขามองว่าการประชุมรอบนี้เป็น ‘โอกาสสำคัญ’ ซึ่งเขาคาดหวังที่จะได้หารือและนำเสนอแผนกองทุน MIF ในภาพกว้างกับบรรดานักลงทุนและผู้นำทางธุรกิจระดับโลกที่เข้าร่วมการประชุม
และนี่คือรายละเอียดและข้อกังวลของกองทุน MIF
อะไรคือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของฟิลิปปินส์?
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เป็นกองทุนการลงทุนของรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปได้รับเงินทุนจากรายได้ส่วนเกินหรือทุนสำรองของประเทศ โดยรัฐบาลจะนำเงินกองทุนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ทางด้านการเงินและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของงบประมาณ เพิ่มเงินออม และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
สำหรับกองทุน MIF จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อลงทุนในภาคส่วนสำคัญ เช่น เงินตราต่างประเทศ หุ้นกู้ในประเทศและต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยจะช่วยสนับสนุนเงินทุนในโครงการที่มีความสำคัญของประเทศ
ขณะที่รูปแบบของกองทุน MIF นั้นถูกวางเป้าหมายดำเนินการในลักษณะเดียวกับกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของหลายสิบประเทศและเขตแดน รวมถึงสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
รัฐบาลฟิลิปปินส์จะหาแหล่งเงินทุนจากไหน
เงินทุนเริ่มต้นของกองทุน MIF นั้นจะมาจากเงินปันผลของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas) รวมถึงเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงินของรัฐบาล ธนาคารที่ดิน (910 ล้านดอลลาร์) และธนาคารเพื่อการพัฒนาของฟิลิปปินส์ (455 ล้านดอลลาร์)
ตามกฎหมายการเคหะของฟิลิปปินส์ระบุว่า สถาบันการเงินของรัฐบาลอาจเพิ่มการลงทุนของตนให้สูงกว่าเงินสมทบที่จำเป็น และจะได้รับสิทธิ์ในการ ‘ผ่อนปรนอย่างรอบคอบและเป็นไปตามกฎระเบียบ’ เพื่อปกป้องความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงิน
ใครจะดูแลกองทุน?
จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อควบคุมและดูแลการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุน MIF
โดยรัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์จะเป็นประธาน และคณะกรรมการทั้งหมดจะประกอบด้วยผู้บริหารจากธนาคารที่ดินและธนาคารเพื่อการพัฒนา รวมถึงผู้แทนของผู้สนับสนุนกองทุน ตลอดจนกรรมการอิสระจากสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ
มีข้อกังวลอะไรบ้าง?
บรรดา ส.ส. และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ต่างตั้งคำถามต่อข้อเสนอจัดตั้งกองทุน MIF ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ยังมีกลุ่มคนยากไร้และภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องการงบประมาณช่วยเหลือมากกว่า
ในบางแห่ง เช่น เมืองคาดาเมย์ ที่มีประชากรยากไร้จำนวนมาก และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย พบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพากันตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลไม่นำงบประมาณมาช่วยสนับสนุนก่อน แทนที่จะนำไปใช้กับกองทุน MIF ที่การเติบโตในระยะยาวนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังหวั่นวิตกว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น
ขณะที่ชื่อกองทุนคือ ‘มหารลิกา’ นั้นแปลว่า ‘ชนชั้นนักรบ’ ถูกโยงไปยังอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสผู้พ่อ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้นำกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์มองว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติควรมีชื่อที่เป็นกลางทางการเมืองมากกว่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงกับใครก็ตาม
ขณะเดียวกันทางด้านสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (Philippine Chamber of Commerce and Industry: PCCI) ก็จับมือกับกลุ่มธุรกิจสำคัญๆ ในการแนะนำให้ระงับข้อเสนอจัดตั้งกองทุนนี้ไว้ก่อน โดยตั้งข้อสังเกตว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อสถานะความน่าเชื่อถือของประเทศ
มีนโยบายป้องกันอะไรบ้าง?
บรรดา ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่ผลักดันให้รับรองกองทุน MIF ยืนยันต่อประชาชนหลายต่อหลายครั้งว่าจะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงของกองทุน
โดยร่างกฎหมายฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้เพิ่มบทลงโทษที่สูงขึ้นสำหรับผู้ที่กระทำการทุจริตหรือฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ซึ่งรวมถึงการปรับเงินสูงกว่า 9 หมื่นดอลลาร์ หรือกว่า 2.9 ล้านบาท และจำคุกสูงสุด 20 ปี
นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลร่วมของรัฐสภา เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินการของกองทุน MIF ว่าควรผ่านกฎหมายจัดตั้งกองทุนหรือไม่ ขณะที่การทำธุรกรรมและบัญชีต่างๆ ของกองทุนจะต้องถูกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ
ผู้เชี่ยวชาญยอมรับข้อเสนอกองทุน MIF ไหม?
Carlos Manapat ประธานภาควิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Santo Tomas กล่าวว่า กองทุน MIF นั้นมีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างละเอียด ซึ่งประเด็นที่เขากังวลมากกว่าคือบุคคลที่จะดูแลกองทุน
นอกจากนี้เขายังเสนอมาตรการตรวจสอบและถ่วงดุลสำหรับสมาชิกที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการ MIF ซึ่งควรได้รับการพิจารณาและตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากฝ่ายนิติบัญญัติ
ขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจและการเมือง Foundation for Economic Freedom (FEF) และหน่วยงานด้านนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ โต้แย้งว่าจะไม่มีการสร้างความมั่งคั่ง ในเมื่อธนาคารที่ดินและธนาคารเพื่อการพัฒนาเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนแก่ MIF แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลเองก็ตาม
นอกจากนี้การที่ต้องให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์นำเงินปันผลมาสนับสนุนกองทุนที่เป็นของรัฐบาลถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากธนาคารกลางนั้นมีหน้าที่ในการส่งเสริมเสถียรภาพด้านราคาและจัดการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
ขณะที่มูลนิธิ IBON วิพากษ์วิจารณ์ข้อยกเว้นของกองทุนจากกฎหมายบางฉบับ โดยอธิบายว่าการกระทำเช่นนี้อาจทำให้กองทุนกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุน ‘กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และพวกพ้อง’ หรือแย่กว่านั้นคือสร้างเงื่อนไขสำหรับการทุจริตได้โดยไม่ต้องรับโทษ
อย่างไรก็ตาม ทีมเศรษฐกิจของมาร์กอสได้ปกป้อง MIF โดยกล่าวว่า จะช่วยส่งเสริมแผนพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยรัฐมนตรีกระทรวงงบประมาณฟิลิปปินส์ยังกล่าวอีกว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และสถาบัน Milken Institute ในสหรัฐฯ นั้นสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน
ความเสี่ยงซ้ำรอย 1MDB
เม็ดเงินสนับสนุนกองทุน MIF ทั้งหมดนั้นมาจากสถาบันการเงินของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งแตกต่างจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ที่เป็นต้นแบบ เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่มีเงินทุนส่วนเกิน
ที่ผ่านมาระหว่างที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุน MIF ในปีที่แล้ว เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแผนในช่วงเริ่มต้น ที่จะจัดหาแหล่งเงินทุนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องบทบัญญัติในการแต่งตั้งประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดบริหารของ MIF
โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเกรงว่า MIF อาจกลายเป็นเหมือนกองทุน 1MDB ที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับสินบนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกบทบัญญัติในร่างกฎหมายจัดตั้ง MIF ที่เป็นข้อขัดแย้งก่อนที่จะลงมติรับรองในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ซึ่งแม้ว่ามาร์กอสจะรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน แต่ยังจำเป็นที่จะต้องผ่านการโหวตรับรองจากวุฒิสภาก่อนที่จะมีการลงนามรับรองในขั้นสุดท้าย
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Economy/Marcos-plans-Philippine-wealth-fund-soft-launch-at-Davos
- https://www.cnnphilippines.com/news/2022/12/24/the-proposed-maharlika-investment-fund-what-you-need-to-know.html
- https://verafiles.org/articles/vera-files-fact-sheet-the-maharlika-investment-fund-explained
- https://en.wikipedia.org/wiki/Maharlika_Investment_Fund
- https://www.aseanbriefing.com/news/philippines-to-establish-sovereign-wealth-fund/
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/marcos-to-raise-proposed-philippine-sovereign-wealth-fund-at-davos-meet