หลังจากสตรีมมาร่วมเดือน ภาพยนตร์เรื่อง Maharaja ก็ไต่อันดับใน Netflix ประเทศไทยเสียที สมกับที่คอหนังประสานเสียงเชียร์ว่านี่คือของดีจากอินเดียที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของบท มีส่วนผสมครบรสทั้งคอเมดี้ ดราม่า ที่ขาดไม่ได้คือบู๊ล้างผลาญเวอร์วังตามแบบฉบับภาพยนตร์จากอินเดียใต้ และหักมุมแบบหงายหลังเมื่อดูจบ
Maharaja เล่าเรื่องของช่างตัดผมบุคลิกเงียบขรึมชื่อมหาราชา (Vijay Sethupathi) เขาทำงานในร้านตัดผมเล็กๆ ที่เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตเขาก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อรถบรรทุกพุ่งเข้าชนบ้านจนทำให้ภรรยาเสียชีวิต เขาจึงตัดสินใจพาโจธี (Sachana Namidass) ลูกสาว ย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่พร้อมกับ ‘ลักษมี’ ถังขยะโทรมๆ ที่มหาราชาและลูกสาวดูแลประคบประหงมราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัว
ขณะที่โจธีไปเข้าค่ายนักกีฬา อยู่ดีๆ มหาราชาก็ถูกบุกค้นบ้าน โดยของที่หายไปมีเพียงลักษมี เขาเอาเรื่องนี้ไปแจ้งความที่โรงพัก ดูเหมือนตำรวจก็ไม่ได้สนใจทำคดีและคิดว่านี่คือเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อเห็นมหาราชอาละวาดว่าต้องการลักษมีกลับมาให้ได้ จึงวางแผนที่จะทำถังขยะขึ้นมาใหม่แล้วจะให้แนตตี (Singampuli) โจรกระจอกสวมบทแพะรับบาปในคดีนี้
ส่วนอีกฉากเป็นเรื่องราวของธนา (Manikandan) ช่างซ่อมรถที่ถูกลูกค้านักเลงใหญ่ทำร้ายเพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยแว่นตากันแดดไป ทำให้เขาตามกลับไปเอาคืนในบาร์จนนักเลงคนนั้นบาดเจ็บปางตาย
ตัดมาอีกฉากเป็นเรื่องราวของเซลวัม (Anurag Kashyap) และซาบารี (Vinod Sagar) โจรคู่หูที่บุกปล้นฆ่าและข่มขืนผู้หญิง โดยฉากหน้าเซลวัมทำอาชีพสุจริต มีบุคลิกเป็นแฟมิลี่แมน รักเมียและอัมมู ลูกสาวของเขาสุดหัวใจ แต่วันหนึ่งเรื่องราวการปล้นของเขาก็ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์จนเขาถูกตำรวจจับ ทำให้เขาเชื่อว่าเขาต้องถูกหักหลังจากใครสักคน
ทั้ง 3 เรื่องดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่กลับเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างลงตัว นำไปสู่การล้างแค้นและจุดจบแสนเซอร์ไพรส์ที่ใครดูแล้วต้องคันปากยิบๆ อยากเล่าให้เพื่อนฟังแน่นอน
Maharaja เข้าฉายทั่วโลกตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในสัปดาห์แรกของภาพยนตร์ภาษาทมิฬ และกลายเป็นภาพยนตร์ภาษาทมิฬที่ทำรายได้สูงสุดอันดับ 3 ประจำปีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกมากมายจากการแสดงของ Vijay Sethupathi รวมทั้งการเขียนบทและการกำกับของ Nithilan Swaminathan ซึ่งฉีกขนบหนังทมิฬหรือ Kollywood ไปพอสมควร
เราอาจคุ้นเคยกับหนัง Bollywood ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่บอมเบย์ และใช้ภาษาฮินดีซึ่งใช้กันในอินเดียเหนือ แต่สำหรับอินเดียใต้มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมมากกว่าจึงมีภาพยนตร์ภาษาถิ่นจำนวนมาก เช่นภาษาทมิฬ มีศูนย์กลางอยู่ที่เจนไนในรัฐทมิฬนาฑู เรียกว่า Kollywood หรือหนัง Tollywood ที่ใช้ภาษาเตลูกู มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไฮเดอราบัด จุดเด่นก็คือเป็นหนังแอ็กชันเวอร์วัง มีตัวละครขาวจัดดำจัด และเล่าเรื่องเรียบง่าย ตัวอย่างที่เพิ่งได้ดูไปเมื่อปี 2022 ก็คือ RRR ที่สตรีมทาง Netflix
แม้ Maharaja ยังคงกลิ่นอายความเวอร์วัง อย่างเช่นการใช้พลังดึงโครงสร้างตึกให้ร้าวได้ของมหาราชา และฉากแอ็กชันเลือดสาดแบบเดี่ยวปะทะหมู่ แต่ความโดดเด่นกลับอยู่ที่การออกแบบตัวละครและการเล่าเรื่องแบบสลับไปสลับมาแต่ละช่วงเวลา ความเจ๋งก็คือเราดันดูรู้เรื่องและไม่อาจละสายตาจากหนังได้เลย
เริ่มที่การออกแบบตัวละครให้มีบุคลิกแปลกประหลาดตั้งแต่ตัวมหาราชาที่ห่างไกลจากคำว่าพระเอกไปมาก คือดูทึ่มๆ ดื้อเงียบ บทสนทนาบางตอนก็ชวนฮา หรืออย่างนักเลงที่เข้าไปทำร้ายธนาก็มีความเป็นติ่งเพราะแว่นตาที่หายไปเป็นของนักแสดงที่ตัวเองชื่นชอบ แม้กระทั่งการให้ลักษมีเป็นถังขยะ เหมือนการท้าทายคนดูว่าถ้าไม่รู้เบื้องหลังก็คิดว่าเรื่องนี้ไร้สาระ
ถึงอย่างนั้นก็ยังแม่นยำเรื่องการสร้างความผูกพันกับตัวละคร เช่นคาแรกเตอร์ของโจธี เป็นเด็กสาวสดใส อนาคตไกล มองโลกในแง่บวก เมื่อต้องมาเจอประสบการณ์เลวร้ายก็ทำให้คนดูใจสลายได้เหมือนกัน อีกทั้งยังย้ำให้เจ็บหนักขึ้นไปอีกด้วยการวางคาแรกเตอร์ของตัวร้าย ทั้งเซลวัมและธนา ให้โหดร้ายผิดมนุษย์มนา อย่างฉากเปิดตัวเซลวัมนั่งทำอาหารหน้าตาเฉยในขณะที่เหยื่อร้องขอชีวิต หรือตัวแนตตีให้ดูน่ารังเกียจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับโจธีจึงมีผลต่อความรู้สึกของคนดู ขณะเดียวกันก็แปรผันเป็นความสะใจเมื่อความจริงทุกอย่างถูกเผยออกมา
ส่วนการเล่าเรื่องก็เลือกเอาบางช่วงในไทม์ไลน์มาวางสลับกัน จุดนี้อาจจะสร้างความสับสนไปบ้าง โดยวางรายละเอียดทีละเล็กละน้อยให้คนดูตามเก็บไปเรื่อยๆ ยั่วยุให้คนดูอยากรู้ตลอดเวลา แบบถ้าพลาดไปก็อาจต้องย้อนกลับไปดูใหม่อีกรอบ แถมบางอย่างก็เข้ามาแบบดื้อๆ อย่างเช่นงู ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของอะไร บ้างก็ว่าเป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้าย บ้างก็ว่าใช้สัญชาตญาณของงูที่มักจะกินลูกตัวเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขันเป็นการบอกใบ้จุดจบของเรื่อง
เอาเข้าจริง Maharaja คือภาพยนตร์ที่ดำเนินไปผ่านชีวิตของพ่อสองคน ที่ไล่ระดับตั้งแต่ความอบอุ่น แล้วค่อยๆ ไล่ระดับความเข้มข้นผ่านเหตุการณ์ต่างๆ จนค่อยๆ เผยให้เห็นอีกด้านของแต่ละตัวละคร นำไปสู่การล้างแค้นอย่างสาสม จนตอนจบแทบไม่ต่างจากหนังขึ้นหิ้งอย่าง Oldboy โดยยังคงสไตล์หนังอินเดียใต้ไว้เกือบครบ คือตัวละครขาวจัดดำจัด และฉากแอ็กชันเลือดสาดจนแทบปิดตาดู ขาดก็แต่การเล่าเรื่องที่เรียบง่าย เพราะหากเดินตามเส้นตรงหนังเรื่องนี้ก็คงเป็นหนังล้างแค้นธรรมดาๆ ใครเลยจะคิดว่าแค่ถังขยะใบเดียวจะพาคนดูมาได้ไกลขนาดนี้ งานนี้ต้องขอซูฮกให้ผู้กำกับที่นำสไตล์เก่าๆ เชยๆ มาปรุงใหม่จนได้หนังที่ต้องอุทานว่า ‘คิดได้ยังไง’ แต่ยังได้อรรถรสเหมือนเดิม
อ้างอิง: