×

แม่หยัว ผู้หญิงเป็นอะไรได้บ้างในโลกการเมือง

14.11.2024
  • LOADING...
แม่หยัว

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • แม่หยัว พาคนดูย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ จินดา (ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่) หรือชื่อก่อนหน้าของท้าวศรีสุดาจันทร์ เธอเป็นลูกสาวของ ออกพระลพบุรี (กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) แห่งราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งก่อนหน้านั้นราชวงศ์อู่ทองแห่งเมืองละโว้และราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งสุพรรณบุรีรวบรวมหัวเมืองต่างๆ จนเป็นอาณาจักรอโยธยา โดยปฐมกษัตริย์มาจากราชวงศ์อู่ทอง แต่การแย่งชิงอำนาจหลายครั้งทำให้ตอนนี้บัลลังก์อโยธยาตกเป็นของราชวงศ์สุพรรณภูมิ
  • ความโดดเด่นของ แม่หยัว คือการเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ ซึ่งทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์กลายเป็นตัวละครสีเทาจนเกือบขาว เพราะในมุมหนึ่งเธอก็เป็นแค่หมากในเกมการเมือง มีหลายช่วงหลายตอนที่สะท้อนให้รู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงจิตใจดีเป็นพื้นฐาน ประมาณสายลับยุคสงครามเย็นผู้จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ฝืนใจด้วยหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
  • นอกจากการใส่ตัวละครหญิงทั้งสี่เข้ามาในเรื่องจะช่วยเพิ่มดีกรีความดราม่า ยังทำให้เข้าใจสมดุลอำนาจในอาณาจักรอโยธยา และบรรยากาศในราชสำนักที่มีคนจากหลากหลายตระกูลมาอยู่รวมกันเพื่อรักษาโมเมนตัมของอำนาจให้มาอยู่ฝั่งตนให้มากที่สุด อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าในกรอบจารีตอันเคร่งครัดในยุคนั้น ผู้หญิงทำอะไรได้บ้างเพื่อมีบทบาททางการเมือง

ถ้าอยากพิสูจน์ประโยคที่ว่าประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะจริงหรือไม่ หนึ่งในตัวอย่างที่ยืนยันได้คือชีวิตของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ เพราะทั้งในแบบเรียนหรือเรื่องเล่าต่างๆ เธอคือนางร้ายที่มีสีสันที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่เจอทั้งข้อกล่าวหาว่าฝักใฝ่ในอำนาจ ฆ่าทั้งลูกและสามี เล่นชู้ มักมากในกาม ซึ่งถูกผลิตซ้ำในละครและภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง 

 

แต่สำหรับละครเรื่อง แม่หยัว คือการนำเรื่องราวชีวิตของท้าวศรีสุดาจันทร์มาตีความใหม่ด้วยบริบททางการเมืองในสมัยนั้น ทำให้เวอร์ชันนี้นางร้ายในประวัติศาสตร์ดูมีเลือดมีเนื้อ มีความเป็นมนุษย์มากกว่าครั้งไหนๆ 

 

แม่หยัว

 

แม่หยัว พาคนดูย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ จินดา (ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่) หรือชื่อก่อนหน้าของท้าวศรีสุดาจันทร์ เธอเป็นลูกสาวของ ออกพระลพบุรี (กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) แห่งราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งก่อนหน้านั้นราชวงศ์อู่ทองแห่งเมืองละโว้และราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งสุพรรณบุรีรวบรวมหัวเมืองต่างๆ จนเป็นอาณาจักรอโยธยา โดยปฐมกษัตริย์มาจากราชวงศ์อู่ทอง แต่การแย่งชิงอำนาจหลายครั้งทำให้ตอนนี้บัลลังก์อโยธยาตกเป็นของราชวงศ์สุพรรณภูมิ

 

จินดาถูกวางหมากในเกมการเมืองนี้ตั้งแต่เกิด โดยเธอต้องเข้ามารับตำแหน่งสนมสี่ทิศจากสี่หัวเมืองใหญ่ร่วมกับ ละอองคำ (บิ๊นท์-สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์) จากสุโขทัย, ตันหยง (เฟิร์น-นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล) จากนครศรีธรรมราช และ จิตรวดี (เป้ย-ปานวาด เหมมณี) จากสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นภรรยาของ พระไชยราชา (ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล) มาก่อนตั้งแต่สมัยยังเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก 

 

แม่หยัว

 

ภารกิจหลักของจินดาคือการขึ้นสู่อำนาจและนำพาให้ราชวงศ์อู่ทองกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยได้รับความช่วยเหลือจาก วามน (ฟิล์ม-ธนภัทร กาวิละ) รักแรกจากบ้านเกิดของเธอ แต่ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสนมทั้งสี่ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะได้ใกล้ชิดพระไชยราชาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีเหล่าขุนนางคอยขัดแข้งขัดขา นำมาสู่การชิงไหวชิงพริบเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นแม่อยู่หัวหรือแม่หยัว สตรีที่มีอำนาจสูงสุดในอโยธยา

 

ความโดดเด่นของ แม่หยัว คือการเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ ซึ่งทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์กลายเป็นตัวละครสีเทาจนเกือบขาว เพราะในมุมหนึ่งเธอก็เป็นแค่หมากในเกมการเมือง มีหลายช่วงหลายตอนที่สะท้อนให้รู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงจิตใจดีเป็นพื้นฐาน ประมาณสายลับยุคสงครามเย็นผู้จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ฝืนใจด้วยหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

 

“เกิดในราชสกุลก็เหมือนหมากบนกระดาน” จินดากล่าวไว้

 

ก็ไม่ต่างจากสนมอีกสามคนที่เปรียบเสมือนมิสแกรนด์จากหัวเมืองใหญ่ที่มีภารกิจไม่ต่างกัน โดยละอองคำมีความคล้ายกับจินดาคือก้าวเข้ามาเพื่อผลักดันราชวงศ์ตัวเองให้ขึ้นมาเป็นใหญ่ในอโยธยาบ้าง ขณะที่ตันหยงเข้ามาเพราะหน้าที่ซึ่งในเรื่องก็บอกใบ้ถึงเพศวิถีไม่ธรรมดา ตั้งแต่ตอนต้นเรื่องในฉากที่เข้าไปทำแผลให้จินดาและเฉลยความจริงเมื่อละครเดินทางมาถึงครึ่งเรื่อง ส่วนจิตรวดีน่าจะเป็นคนเดียวที่ทำทุกอย่างเพราะความรักและอยากเป็นที่หนึ่งในใจของพระไชยราชา 

 

แม่หยัว

 

นอกจากการใส่ตัวละครหญิงทั้งสี่เข้ามาในเรื่องจะช่วยเพิ่มดีกรีความดราม่า ยังทำให้เข้าใจสมดุลอำนาจในอาณาจักรอโยธยา และบรรยากาศในราชสำนักที่มีคนจากหลากหลายตระกูลมาอยู่รวมกันเพื่อรักษาโมเมนตัมของอำนาจให้มาอยู่ฝั่งตนให้มากที่สุด อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าในกรอบจารีตอันเคร่งครัดในยุคนั้น ผู้หญิงทำอะไรได้บ้างเพื่อมีบทบาททางการเมือง

 

เริ่มตั้งแต่การหาทางรับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์เพื่อให้มีลูกชายให้ไวที่สุด นำมาสู่สารพัดเล่ห์เหลี่ยมและฉากไวรัลทั้งท่าพับเป็ดของจินดาหรือท่าม้วนเสื่อพร้อมเสิร์ฟของละอองคำ จนกระทั่งได้ขึ้นเป็นพระมเหสีมีทายาทให้กษัตริย์ก็ต้องใช้อำนาจผ่านลูกชาย หากแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่คนในสมัยนั้นจะรับได้ จึงมีจุดจบและจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ไม่สวยงามเหมือนกับผู้นำหญิงในโลกเก่าอย่าง คลีโอพัตรา บูเช็กเทียน หรือ ซูสีไทเฮา ที่ถูกใส่สีตีไข่โดยเฉพาะเรื่องเพศ ถ้าพูดให้แฟร์ก็ไม่แปลกเพราะเสน่ห์ทางเพศคงเป็นวิธีเดียวที่ผู้หญิงในยุคนั้นจะก้าวขึ้นสู่อำนาจได้

 

 

แม่หยัว แม้จะเกิดจากความตั้งใจที่ดี และแต้มต่อคือได้รับความสนใจตั้งแต่ยังไม่ออกอากาศ แต่ก็มีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด อย่างแรกคือความรู้สึกดูแล้วไม่อิ่มทั้งๆ ที่สร้างตัวละครได้น่าสนใจ และน่าจะพัฒนาไปได้อีกไกลมาก แต่ด้วยจำนวนตอนเพียง 10 ตอน ทำให้ความเข้มข้นเรื่องการแย่งชิงอำนาจฝ่ายในจืดเกินไป ถ้าจะเด่นจริงๆ ก็เห็นจะเป็นบทตันหยงที่เหมือนเกิดมาเพื่อกวนประสาทด้วยการกุมความลับของทุกคนเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด และเพิ่มซีนแซฟฟิกให้เรื่องมีสีสันยิ่งขึ้น 

 

 

ส่วนจิตรวดีก็เหมือนจะมีอะไรอยู่ลึกๆ จนผ่านมาครึ่งเรื่องแล้วก็ยังไม่มีรัศมีเมียหลวงลวงสังหารอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ละอองคำก็ไม่แน่ใจว่าในพาร์ตหลังจะกลับมามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน เพราะในประวัติศาสตร์อีกไม่กี่รัชกาลราชวงศ์ของเธอก็จะขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทั้งหมดทั้งมวลทำให้พัฒนาการของตัวละครจินดามีปัญหาไปด้วย เพราะเราไม่ได้เห็นการต่อสู้ เหตุผล หรือวิธีคิดที่เปลี่ยนไปของตัวละครนี้สักเท่าไรเลย 

อีกส่วนคืองานโปรดักชัน เรื่องภาพถือว่าทำการบ้านค่อนข้างดีในฉากท้องพระโรง ขณะที่ส่วนอื่นๆ ยังมีเรื่องให้คนดูจับโป๊ะได้หลายจุดอย่างที่เห็นข่าวในโซเชียลมีเดียกันมาบ้าง ส่วนฉากในเขตพระราชวังหรือพระราชพิธีต่างๆ ยังดูเป็นโปรดักชันละครไทย ดูแล้วไม่อิ่ม ทั้งที่ความจริง แม่หยัว น่าจะพัฒนาไปไกลเทียบเท่าซีรีส์แย่งชิงอำนาจแบบของจีนหรือเกาหลีได้เลยทีเดียว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising