วันนี้ (4 ตุลาคม) เลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบทองของกลางจากร้านทอง บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด ซึ่งเป็นร้านของ แม่ตั๊ก-กรกนก สุวรรณบุตร และ ป๋าเบียร์-กานต์พล เรืองอร่าม
ขณะที่ สคบ. ได้เก็บตัวอย่างทองวันที่ 24 กันยายน 2567 ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง และใช้วิธีการทดสอบ 2 วิธี วิธีแรกคือการเอ็กซเรย์และวิธีที่สองคือการเผาหรือหลอม ซึ่งสรุปได้ว่าตัวอย่างทองที่เก็บมาทั้งหมดนั้นเป็นทองแท้ที่มี 99.99%
ผลตรวจสอบทั้งหมด 6 ตัวอย่างที่เก็บในวันที่เข้าไปตรวจสอบที่ร้าน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดังนี้
- ทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ (ห่วงใหญ่) น้ำหนัก 1.89 กรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 96.55% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 92.78%
- ทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ (ห่วงเล็ก) น้ำหนัก 1.9 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 96.00% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 94.44%
- ทองรูปพรรณประเภทกำไรข้อมือ (ปี่เซียะ) จำนวน 8 ตัว น้ำหนัก 4.96 กรัม จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97%
- ทองรูปพรรณประเภทกำไรข้อมือ (ตราไข่) น้ำหนัก 0.77 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97%
- ทองรูปพรรณประเภทลูกปัด จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 1.19 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 71.15% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 61.45%
- ทองรูปพรรณประเภทจี้ (ปี่เซียะ) น้ำหนัก 11.13 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง จากการเอ็กซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% จากการหลอมอยู่ที่ 99.95%
เลิศศักดิ์ระบุว่า สำหรับผลการตรวจสอบนั้นต้องเอาไปประกอบการเสนอขายและข้อเท็จจริงอื่นด้วย ขณะที่สินค้าทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่คุมฉลาก ในเบื้องต้นพบว่าน่าจะเข้าข่ายการเปลื้องฉลาก กล่าวคือ ไม่ระบุรายละเอียดสินค้าบนฉลากอย่างครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เจ้าของร้านทองมีความผิดกรณีฉลากไม่ครบถ้วน และจะเสนอผู้มีอำนาจทางกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะที่การโฆษณาขายของเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องนำผลตรวจมาดูประกอบการขาย ได้รับข้อเท็จจริงจากตำรวจและจากผู้บริโภค เกี่ยวกับการขายมาประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งให้โอกาสผู้ขายมาชี้แจงเช่นกัน
นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบว่ามีการขอทำการตลาดแบบตรงซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนว่าทำถูกขั้นตอนหรือไม่ รวมถึงการขายทางออนไลน์ว่ามีการใช้ถ้อยคำโฆษณาเกินจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สคบ. จะรวบรวมรายชื่อของผู้เสียหายส่งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อพิจารณาว่าจะรับผิดชอบและเยียวยาอย่างไร ทั้งนี้ผู้เสียหายที่มีการนำทองไปคืนก็ยังสามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากความผิดอาญาและแพ่งต่างกัน
เลิศศักดิ์ยังกล่าวต่อว่า ในประเด็นเซ็ตของแถมที่ทางแม่ตั๊กและป๋าเบียร์ระบุว่าเป็นทองคำ 99.99% ตอนนี้ สคบ. กำลังขอตัวอย่างจากผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ โดยจะส่งให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สคบ. จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบพ่อค้า-แม่ค้าที่ไลฟ์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ว่าขายสินค้าประเภทใด และเข้าข่ายสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ต่อไปในอนาคต