×

‘งูเจ้า’ สู่ ‘ต้าวงู’ ย้อนดูว่างูคืออะไรในแม่เบี้ย

23.08.2021
  • LOADING...
Cobra hood

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แม่เบี้ย 2532 และ 2534 ‘งู’ ในเรื่องเป็นตัวแทนอำนาจที่เหนือกว่า และหลายๆ ครั้งก็มีอาการ ‘หวง’ จนคนคิดไปว่าเมขลาเป็น ‘เมียงู’ แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นอำนาจในแง่ของจิตใจ ทั้งตัณหาราคะ หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดบาปในใจของเมขลาที่รู้ทั้งรู้ว่าการใช้ชีวิตของตัวเองมันผิดมากกว่า
  • แม่เบี้ย 2558 สังเกตว่า ‘งู’ จะปรากฏตัวในแทบทุกฉากเซ็กซ์ในเรื่อง เป็นตัวแทนของตัณหาราคะ ด้านมืดในใจมนุษย์ อย่างครั้งแรกที่เมขลาได้เจอกับ ‘คุณ’ ก็คือตอนที่แม่ของเธอยอมร่วมละเลงเพลงรักแบบทรีซัมกับพ่อและหญิงอื่น จากนั้นเมขลาเองไม่ได้เจอกับ ‘คุณ’ อีกเลยหลังจากที่แม่เสียชีวิต
  • แม่เบี้ย 2564 ‘งู’ ในเรื่องนี้เป็นเหมือนคุณงามความดีในจิตใจของเมขลาและเป็นเทวดาประจำตัวของเธอเสียมากกว่า โดยจะปรากฏตัวเมื่อเมขลาเพลี่ยงพล้ำทำผิด หรือไม่ก็มาช่วยเมื่อมีคนคิดร้ายกับเธอ จนใครได้ดูก็อยากมี ‘งู’ แบบนี้เลี้ยงไว้สักตัว
  •  

 

คำถามสุดฮิตในแม่เบี้ยคือสรุปแล้วงูคืออะไรกันแน่ในภาพยนตร์และละครทุกเวอร์ชัน ซึ่งเอาเข้าจริงคำตอบก็อยู่ที่การตีความของผู้สร้างในแต่ละครั้ง และตัวนิยายต้นฉบับเองก็มีเสน่ห์ตรงการตีความ ‘งู’ แตกต่างกันไปตามพื้นฐานความเชื่อของคนอ่านแต่ละคน บ้างก็ว่าเป็นผีบรรพบุรุษบ้าง ตัณหาราคะบ้าง กฎแห่งกรรมบ้าง หรือแม้กระทั่ง ‘ไอ้นั่น’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ สำหรับตัวผู้เขียนเองได้ติดตามเรื่องแม่เบี้ยมาทั้งหมด 5 ในจำนวน 6 เวอร์ชัน (เว้นแต่เวอร์ชันละครเวที) ซึ่งตีความตามความคิดเห็นส่วนตัวได้ดังนี้

 

งู = อำนาจที่เหนือกว่า จากแม่เบี้ย 2532 (ฮันนี่-ภัสสร บุณยเกียรติ) และ 2534 (แสงระวี อัศวรักษ์)

 

Cobra hood

 

อย่างที่รู้กันว่า ‘งู’ ตามความเชื่อของมนุษย์มักเป็นตัวแทนของสิ่งลี้ลับ อำนาจความชั่วร้ายที่ชี้ชวนให้มนุษย์ทำบาป อย่างเรื่องราวในสวนเอเดนที่ปรากฏในพระคัมภีร์ของฝั่งตะวันตก ในขณะที่ความเชื่อฝั่งตะวันออกหรือในบ้านเราก็เชื่อว่างูเป็นสัตว์กึ่งเทพ มีอำนาจบางอย่าง ดังที่เราก็เคยได้ยินเรื่อง ‘งูเจ้าที่’ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็แทบจะไม่มีสัตว์ชนิดใดที่ได้เป็นเจ้าของศาลเจ้าเหมือนกับงู ในแม่เบี้ยเวอร์ชัน 2532 และ 2534 ก็ดูเหมือนจะเน้นย้ำในจุดนี้ ทำให้โทนของหนังและละครดูลี้ลับและหลอนมากกว่าเวอร์ชันอื่นๆ อีกทั้งตลาดความบันเทิงในยุคนั้น เรื่องราวของผีสางยังคงขายได้จึงทำให้โทนของหนังและละครออกไปทางนั้นด้วย

ในขณะเดียวกัน ‘งู’ ในเรื่องก็เป็นตัวแทนอำนาจที่เหนือกว่า และหลายๆ ครั้งก็มีอาการ ‘หวง’ จนคนคิดไปว่าเมขลาเป็น ‘เมียงู’ แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นอำนาจในแง่ของจิตใจ ทั้งตัณหาราคะ หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดบาปในใจของเมขลาที่รู้ทั้งรู้ว่าการใช้ชีวิตของตัวเองมันผิดมากกว่า

 

แม่เบี้ย 2544 (มะหมี่-นภคปภา นาคประสิทธิ์) เมขลาผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับสังคมชายเป็นใหญ่

 

Cobra hood

 

ความแตกต่างของแม่เบี้ย 2544 คือการเพิ่มรายละเอียดที่มาที่ไปของตัวละครเมขลาให้คนดูเข้าใจว่าเพราะอะไรเธอจึงมีแนวคิดเสรีทางเพศจากภาพแฟลชแบ็กตอนเป็นเด็กที่เห็นแม่ถูกกดขี่จากบรรดาเมียๆ ของพ่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้เมขลาใช้วิธีแบบเดียวกันกับผู้ชายบ้าง เธอเห็นผู้ชายเป็นของเล่นและไม่แคร์ว่าผู้ชายคนนั้นจะมีเจ้าของแล้วหรือเปล่า

 

Cobra hood

 

ถ้าลองเปรียบเทียบดูเมขลาเวอร์ชันนี้จะ ‘กล้าหือ’ กับงูมากกว่าเวอร์ชันอื่น ทั้งในแง่การใช้คำพูดหรือปฏิสัมพันธ์ต่อกันเหมือนการคานอำนาจความเป็นชาย คือมีทั้งสยบยอมในบางครั้งและลุกขึ้นมาใช้ความก้าวร้าวรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

 

กงกรรมกงเกวียน กิเลส ตัณหา วัฏสงสาร ในแม่เบี้ย 2558 (อ้อม-กานต์พิศชา เกตุมณี)

 

Cobra hood

 

ถ้าจะเรียกแม่เบี้ย 2544 ว่าเป็นแม่เบี้ยขูดมะพร้าวเขย่าโลก แม่เบี้ย 2558 ก็คงเป็นเวอร์ชัน ‘ก็เปิดๆ ไปเลยสิคะ’ เพราะเต็มไปด้วยฉากเซ็กซ์สุดเร่าร้อนที่แฝงไว้ด้วยนัยยะบางอย่างตลอดทั้งเรื่อง และ ‘งู’ ถูกตีความได้หลากหลายมาก

สังเกตว่า ‘งู’ จะปรากฏตัวในแทบทุกฉากเซ็กซ์ในเรื่อง เป็นตัวแทนของตัณหาราคะ ด้านมืดในใจมนุษย์ อย่างครั้งแรกที่เมขลาได้เจอกับ ‘คุณ’ ก็คือตอนที่แม่ของเธอยอมร่วมละเลงเพลงรักแบบทรีซัมกับพ่อและหญิงอื่น จากนั้นเมขลาเองไม่ได้เจอกับ ‘คุณ’ อีกเลยหลังจากที่แม่เสียชีวิต และได้เจออีกครั้งก็ตอนที่เธอมีประสบการณ์ทางเพศเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน ‘งู’ ก็เหมือนเป็นกงกรรมกงเกวียน อย่างที่เราได้เห็น ‘โกสุม’ (แม็กกี้-อาภา ภาวิไล) เป็นตัวแทนของงูที่ยังคงวนเวียนอยู่ในบ้าน มองดูชีวิตเมขลาที่เหมือนกับชีวิตของตัวเอง

 

Cobra hood

 

ในเวอร์ชันนี้โฟกัสไปที่ช่วง 7 วันสุดท้ายของชนะชล และเล่าเรื่องผ่านความรู้สึกนึกคิดของเขาที่เหมือนอยู่ในกรงขัง และขอหลุดพ้นยอมละทิ้งทุกอย่างด้วยตัวเองต่อหน้างู ก็เหมือนการละทิ้งกิเลสตัณหาแล้วจากโลกนี้ไป ส่วนจุดจบของเรื่อง ‘งู’ ก็ไม่ตาย แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะวนกลับมาที่ลูปเดิมเพียงแต่มีตัวละครใหม่ก้าวเข้ามาเป็นวัฏสงสาร ซึ่งถ้าไม่ละทิ้งไปก็จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ไม่รู้จบ

 

จาก ‘งูเจ้า’ สู่ ‘ต้าวงู’ แม่เบี้ย 2564 (นาว-ทิสานาฏ ศรศึก)

 

Cobra hood

 

มาถึงแม่เบี้ยเวอร์ชันล่าสุดทางช่อง 7 ที่ตีความให้เรื่องราวเป็นโศกนาฏกรรมรักต้องห้ามที่มีกลิ่นอายอีโรติกอยู่จางๆ จึงทำให้ ‘เมขลา’ ในเวอร์ชันนี้ห่างไกลจากข้อความที่บรรยายไว้ว่า ‘ทั้งสวยทั้งเก่ง ประกอบกับนิสัยดอกทองเข้าไปด้วย ชอบผัวคนอื่นเป็นพิเศษ ผัวเมียจะฆ่ากันตายมาหลายคู่แล้ว’ เพราะเธออยู่ในศีลในธรรม ต่อสู้กับคำครหาว่าเป็นลูกเมียน้อยจึงไม่ยอมเป็นเมียน้อยของใคร จนตอนนี้เรื่องราวเดินทางมาถึงค่อนเรื่องแล้ว เมขลากับชนะชลก็ยังไม่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันเลย

เสน่ห์ของเวอร์ชันนี้คือการเฉลี่ยน้ำหนักให้กับตัวละครทุกตัวและเอาเรื่องโครงสร้างของครอบครัวมาเป็นประเด็นในเรื่อง ทำให้เราได้เห็นมุมมองลึกๆ ของตัว ‘ไหมแก้ว’ ว่าเธอมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ส่วน ‘ชนะชล’ เองก็ถูกตีความใหม่ ไม่ใช่ผู้ชายสมบูรณ์แบบแต่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจนทำให้เดินออกนอกลู่นอกทาง

 

Cobra hood

 

ความคิดเห็นของผู้เขียน ‘งู’ ในเรื่องนี้เป็นเหมือนคุณงามความดีในจิตใจของเมขลาและเป็นเทวดาประจำตัวของเธอเสียมากกว่า โดยจะปรากฏตัวเมื่อเมขลาเพลี่ยงพล้ำทำผิด หรือไม่ก็มาช่วยเมื่อมีคนคิดร้ายกับเธอ จนใครได้ดูก็อยากมี ‘งู’ แบบนี้เลี้ยงไว้สักตัว ส่วนท่าทางที่งูแสดงต่อเมขลาก็เป็นในเชิงห่วงใยให้ความอบอุ่น อย่างฉากที่เมขลาคร่ำครวญเพราะโดนหลอก งูก็เลื้อยรัดเหมือนโอบกอดเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่ปลอบใจลูกหลานมากกว่า ซึ่งเมื่อถึงจุดจบของเรื่อง นี่อาจจะเป็นแม่เบี้ยเวอร์ชันแรกที่คนดูต้องเสียน้ำตาให้กับ ‘งู’ ก็เป็นได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X