×

48 ชั่วโมงกับ Dua Lipa, Julianne Moore, Keira Knightley และสัมภาษณ์พิเศษประธาน Chanel ที่นิทรรศการ Mademoiselle Privé ที่เซี่ยงไฮ้

25.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นิทรรศการ Mademoiselle Privé มาจากชื่อสตูดิโอทำงานส่วนตัวของ กาเบรียล ชาเนล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่อยู่ชั้น 3 ของสำนักงานใหญ่เลขที่ 31 ถนนกัมบง ในปารีส และมีขนาดกว้างกว่า 6,000 ตารางเมตร โดยแบ่งออกเป็น 3 ห้องหลัก ที่บนชั้นลอยของอาคารประกอบไปด้วยเสื้อผ้ากูตูร์ น้ำหอม Chanel No.5 และเครื่องประดับ High Fine Jewelry
  • THE STANDARD สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับทาง บรูโน ปาฟโลฟสกี ประธานฝ่ายแฟชั่นของ Chanel อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่เขาได้พูดคุยกับสื่อหลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เสียชีวิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยบรูโนย้ำชัดว่า “ผมเชื่อว่าเวอร์ฌินีคือคนที่เหมาะสมที่สุดในการจะสานต่อผลงานของคาร์ล และเธอจะนำสิ่งใหม่มาให้กับแบรนด์และผู้หญิงแบบ New Femininity”
  • งาน Mademoiselle Privé ในครั้งนี้ก็เหมือนมหกรรมสวนสนุกที่เต็มไปด้วย KOL, อินฟลูเอนเซอร์, Friends of The House และแอมบาสเดอร์ของแบรนด์ อาทิ จูลีแอนน์ มัวร์, เคียรา ไนต์ลีย์, แคโรไลน์ เดอ เมเกรต์, วิลเลียม ชาน, หลิวเหวิน และ ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง จากประเทศไทย ซึ่งกลไกการจัดวางตารางของเหล่าพีอาร์และทีมงานที่ต้องทำงานกับคนดังผมถือว่ายอดเยี่ยม

 

ภายนอกงาน Mademoiselle Privé

 

ภายในงาน Mademoiselle Privé

 

“มีอะไรบ้างที่ยังไม่ได้เขียนเกี่ยวกับ Chanel” อาจเป็นหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นพอบทความนี้ปรากฏขึ้นบนฟีดของคุณ (และต้องขอขอบคุณที่คลิกเข้ามาอ่านครับ) เพราะต้องยอมรับว่าตลอด 22 เดือนที่ผ่านมา ผมได้เขียนถึงแบรนด์ Chanel อยู่บ่อยครั้งผ่าน THE STANDARD บ่อยจนบางครั้งแอบงงตัวเองว่าจะไปอินอะไรนักหนากับแบรนด์ที่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า หรือเครื่องประดับใส่ไม่ได้เพราะไม่มีไซส์ มีแต่น้ำหอมกลิ่นผู้ชายขวดสีน้ำเงินที่เป็นจุดเชื่อมโยงเล็กๆ แต่พอเราเริ่มศึกษา สัมภาษณ์ พูดคุย และไปงานต่างๆ ของแบรนด์ที่มีอายุราว 109 ปีนี้ ผมกลับรู้สึกว่าถ้าเราจะเขียนถึง Netflix, Starbucks, Amazon หรือ Apple อย่างไม่รู้จบ Chanel ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ตัวแทนภาคส่วนของวงการแฟชั่นที่เราต้องติดตามว่ากำลังเดินหน้าและขับเคลื่อนสังคมอย่างไร ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องราวชีวิตสวยหรู จิบ Prosecco สวมใส่แจ็กเก็ตผ้าทวีต และถือกระเป๋าหนังพร้อมโลโก้ C ไขว้ไปวันๆ อย่างแน่นอน

 

ครั้งนี้ทาง Chanel ได้เชิญ THE STANDARD มาร่วมงานนิทรรศการชื่อ Mademoiselle Privé ที่จัด ณ ศูนย์จัดงานแสดง West Bund Art Center ในกรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งงานนี้เคยจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ทั้งที่ลอนดอนในปี 2015 โซลในปี 2017 และฮ่องกงในปี 2018 โดยตลาดจีนก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อ Chanel เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเคยมาจัดโชว์อย่างยิ่งใหญ่ กับพื้นหลังเป็นฉากแม่น้ำหวงผู่ของ The Bund ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2009 กับคอลเล็กชัน Métiers d’Art Pre-Fall 2010

 

ศิลปะการตัดเย็บชั้นสูงโอต์กูตูร์

 

จูลีแอนน์ มัวร์

 

ชื่อ Mademoiselle Privé มาจากชื่อสตูดิโอทำงานส่วนตัวของ กาเบรียล ชาเนล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่อยู่ชั้น 3 ของสำนักงานใหญ่เลขที่ 31 ถนนกัมบง ในปารีส และมีขนาดกว้างกว่า 6,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 ห้องหลัก ที่บนชั้นลอยของอาคารเริ่มด้วยโลกศิลปะการตัดเย็บชั้นสูงโอต์กูตูร์ที่ Chanel เริ่มในปี 1915 ที่เมืองบียาริตส์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ก่อนที่ในปี 1918 ได้เปิดสาขา 31 ถนนกัมบง กรุงปารีส ที่ยังคงเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน โดยเข้ามาในห้องนี้ผมเองรู้สึกเหมือนกำลังสัมผัสบทสนทนากลุ่ม (ที่ไม่เคยเกิดขึ้น) ระหว่าง กาเบรียล ชาเนล, คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ และ เวอร์ฌินี วิอารด์ มือขวาของคาร์ล และตอนนี้ได้กลายเป็นอาร์ทิสติกไดเรกเตอร์คนใหม่ของ Chanel ที่พูดคุยกันถึงการรังสรรค์เสื้อผ้ากูตูร์ที่ร่วมสมัย มีความอมตะเหนือกาลเวลา ผลักดันด้านงานฝีมือ และมองไปข้างหน้าว่าผู้หญิงต้องการสวมใส่อะไรเพื่อจะแต่งเติมพลังให้ตัวเอง อย่างเช่น สูททรงสามมิติ ‘The 3D Suit’ ที่กาเบรียลได้ดีไซน์ในยุค 50 และต่อมาคาร์ลได้นำมาประยุกต์โครงสร้างสำหรับคอลเล็กชัน Fall/Winter 2015 ที่มีการใช้เทคนิคล้ำสมัยชื่อ Selective Laser Sintering ทำให้สูทในเวอร์ชันใหม่นี้ที่ใช้เวลาสูงถึง 1,245 ชั่วโมงในการตัดเย็บแบบที่ไม่มีรอยต่อตัดเย็บสักอัน

 

สำหรับใครที่ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่มกับโลกกูตูร์ของ Chanel ในห้องนี้ก็สามารถลงไปด้านล่างเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของกิจการงานฝีมือบางส่วนที่ Chanel ได้ซื้อมาภายใต้ส่วนของ Métiers d’Art อาทิ แบรนด์หมวก Maison Michel, รองเท้า Massaro และ Maison Lesage สตูดิโอเย็บปักถักร้อยชื่อดัง

 

ห้องเครื่องประดับชั้นสูง

 

ห้องน้ำหอม Chanel No.5

 

ถัดมาห้องที่สอง เล่าเรื่องราวเครื่องประดับชั้นสูงที่ได้แรงบันดาลใจจากคอลเล็กชันเดียวที่กาเบรียลเคยดีไซน์ไว้ในปี 1932 ชื่อ ‘Bijoux de Diamants’ พร้อมร่วมมือกับศิลปินชาวจีน Wu Guanzhen เพื่อมาทำจิตรกรรมตกแต่งฝาผนังสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ส่วนห้องสุดท้ายก็คือโฟกัสถึงเรื่องราวของ Chanel No.5 น้ำหอมอันเปรียบเสมือนอีกเสาหลักของแบรนด์ที่คิดค้นสูตรโดยกาเบรียลและเออร์เนสต์ โบซ์ ในปี 1921 ที่เมืองกราซ ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าเมืองนี้เคยทำอุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหลักจนถึงทศวรรษที่ 17 ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองน้ำหอมของโลกในทุกวันนี้

 

ถึงแม้ส่วนตัวผมไม่ได้ใช้น้ำหอมกลิ่นนี้ หรือคุ้นเคยไปมากกว่าบทบาททางวัฒนธรรมป๊อป เช่น ภาพแคมเปญของ แอนดี้ วอร์ฮอล ในยุค 80s และแคมเปญของผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์ ที่ถ่าย นิโคล คิดแมน ในปี 2004 แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกอณูของ Chanel No.5 ตั้งแต่ชื่อ ตัวขวด หรือกระบวนการคัดสรรกลิ่น ต่างมีเหตุและผลที่ถือว่าเป็นตัว Disruptor ในสมัยนั้น และเส้นทางชีวิตก็ไม่เคยเสื่อมคลายไปไหนจนถึงวันนี้

 

พอจบจากการทัวร์นิทรรศการ THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับทาง บรูโน ปาฟโลฟสกี ประธานฝ่ายแฟชั่นของ Chanel ซึ่งผมก็เพิ่งได้สัมภาษณ์เขาไปเมื่อราว 6 เดือนก่อนที่งานแฟชั่นโชว์ Chanel Cruise 2019 Replica ในกรุงเทพฯ แต่ความสำคัญในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือเป็นครั้งแรกๆ ที่เขาได้พูดคุยกับสื่อหลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เสียชีวิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนก็สงสัยว่าแบรนด์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยบรูโนย้ำชัดและหนักแน่น “ผมเชื่อว่าเวอร์ฌินีคือคนที่เหมาะสมที่สุดในการจะสานต่อผลงานของคาร์ล และเธอจะนำสิ่งใหม่มาให้กับแบรนด์และผู้หญิงแบบ New Femininity” โดยบรูโนยังบอกอีกว่าหน้าที่ของเขาคือการมองไปข้างหน้ากว่า 20 ปี และดูว่าจะนำพา Chanel ไปทิศทางไหนที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของสังคม แต่ยังคงปกป้องแบรนด์ดีเอ็นเออยู่ด้วย

 

โซนโรงหนังที่เปิดหนั้งสั้นและวิดีโอของแบรนด์

 

โซนจัดนิทรรศการ Métiers d’Art

 

แต่มาจีนทั้งที ผมก็ต้องคงคอนเซปต์สโลแกน ‘Stand Up For The People’ ของ THE STANDARD สักหน่อย และถามถึงประเด็นว่า ทาง Chanel มีมาตรการอย่างไรกับยุคสมัยนี้ ที่หลายแบรนด์คู่แข่งเจอกระแสการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวกับสินค้าหรือแคมเปญที่ปล่อยออกมา ซึ่งที่จีนก็มีตัวอย่างสำคัญของหนึ่งแบรนด์มหาอำนาจที่กำลังเจอมรสุมนี้อยู่ โดยบรูโนก็ตอบว่า ทางแบรนด์มีโครงสร้างการทำงานควบคู่กับทีมภายในประเทศของแต่ละตลาดอยู่ตลอดเวลา และต้องมีการฟีดแบ็กในทุกอย่างเพื่อให้เข้าใจบริบทของแต่ละสังคมที่มีต่อ Chanel ไม่ว่าร้ายหรือดี เพราะหากให้ทีมงานในสำนักงานใหญ่ที่ปารีสเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง มันก็จะเสี่ยงที่จะไม่เข้าใจเรื่องความละเอียดอ่อนของแต่ละวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละเชื้อชาติ

 

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีก็เป็นอีกปัจจัยที่เราได้พูดคุยกับบรูโน ซึ่งในนิทรรศการ Mademoiselle Privé ก็ได้มีการแทรกนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่ครบถ้วน และไม่ได้มองว่างานนี้คือเป็นการมองแต่มรดกของวันวานแบบทั่วไป โดยผมก็แอบตกใจว่า Chanel มีทีมงานออนไลน์กว่า 150 คน! และสำหรับนิทรรศการนี้ก็มีการเน้นกลไกพิเศษบนแอปฯ WeChat ที่ประเทศจีนใช้เป็นหลัก โดยมี QR Code ให้สแกนตามจุดต่างๆ เพื่อได้ดูและฟังคอนเทนต์พิเศษ ซึ่งทาง Chanel ก็ยังเชื่อมต่อประสบการณ์นี้แบบ Digital Linkage ไปยังร้านในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง เพื่อให้คนที่เข้ามาในร้านสามารถรับรู้ถึงเรื่อง Mademoiselle Privé และเพื่ออยากแวะเวียนไปชมงานที่ทุกคนเข้าฟรี

 

เคียรา ไนต์ลีย์

 

หลิวเหวิน

 

พูดถึงด้านดิจิทัลแล้ว แน่นอนมาจัดงานใหญ่ระดับโลกทั้งทีที่จีน งาน Mademoiselle Privé ในครั้งนี้ก็เหมือนมหกรรมสวนสนุกที่เต็มไปด้วย KOL, อินฟลูเอนเซอร์, Friends of The House และแอมบาสเดอร์ของแบรนด์ อาทิ จูลีแอนน์ มัวร์, เคียรา ไนต์ลีย์, แคโรไลน์ เดอ เมเกรต์, วิลเลียม ชาน, หลิวเหวิน และ ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง จากประเทศไทย ซึ่งกลไกการจัดวางตารางของเหล่าพีอาร์และทีมงานที่ต้องทำงานกับคนดังผมถือว่ายอดเยี่ยม (ผมไม่ได้อวย) และเอาเข้าจริงคงมีอีเมลเป็นร้อยๆ ตอบกลับไปมาว่า ‘คนนี้จะใส่อะไรช่วงงานพรีวิวตอนบ่าย’ ‘คนนี้จะใส่อะไรช่วงงานพรีวิวตอนงาน Welcome Dinner’ ‘ชุดนี้ซ้ำกับคนนี้แล้วนะ’ ซึ่งอย่างเช่น น้องออกแบบเองก็ไม่ได้แค่ไปยืนตรงแบ็กดรอปสวยๆ ช่วง Photocall 2-3 นาที แต่เธอยังต้องถ่ายวิดีโอแคมเปญแว่นตา ถ่ายสัมภาษณ์ความรู้สึกการมาร่วมงาน ถ่ายวิดีโอกับนิตยสาร L’officiel Thailand และทำอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าถามว่าทำไมผมต้องมาเล่าส่วนตรงนี้ด้วย ก็ต้องบอกว่าผมค่อนข้างเนิร์ด ชอบจัดเก็บรายละเอียดทุกอย่าง และอยากให้คนเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของคนในวงการแฟชั่น เพราะทุกอย่างที่เราเห็นสวยหรูเบื้องหน้า แน่นอนว่าเบื้องหลังนี่แหละคือคุณค่าที่ควรรู้ โดยเฉพาะสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากลิ้มชิมรสวงการนี้

 

ดัว ลิปา

 

ออกแบบ ชุติมณฑน์

 

ทุกอีเวนต์พิเศษของ Chanel ต้องปิดท้ายด้วยการแสดงของศิลปินระดับโลก ซึ่งครั้งนี้ได้หนึ่งในนักร้องสาวที่ฮอตสุดนาทีนี้อย่าง ดัว ลิปา มาร้องเพลงฮิต อาทิ One Kiss, New Rules, IDGAF และที่เหมาะกับอุณหภูมิองศาบ้านเราตอนนี้ก็เพลง Hotter Than Hell โดยดัวก็ถือได้ว่าเป็นศิลปินที่มีความแข็งแรงมากในการแสดงและมีความเป็นกันเอง ซึ่งเราก็หวังว่าในอนาคตทาง Chanel จะร่วมงานกับเธอมากยิ่งขึ้นในภาคส่วนต่างๆ เพราะผมเชื่อว่าความนิยมของผู้หญิงคนนี้จะไม่หยุดเพียงเท่านี้

 

สุดท้ายผมก็กลับมานั่งคิดว่า 48 ชั่วโมงที่ผมได้ไปงาน Mademoiselle Privé มากไปกว่าแค่ความ ‘ชีวิตดี!’ หรือได้ไปถ่ายรูปสวยๆ อัปเดตลงอินสตาแกรม ผมคิดว่ามานิทรรศการแบบนี้ช่วยตอกย้ำว่า วงการแฟชั่นไม่ว่าจะ Chanel หรือห้องเสื้ออื่นๆ ก็มีคุณค่าที่ไม่ควรถูกตีค่าไปวันๆ แค่เพราะเรื่องราคา ความฟุ่มเฟือย และตัวละครของ เมอรีล สตรีป ในหนังปี 2006 เพราะเอาเข้าจริงผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสนใจแฟชั่น เพราะในทุกๆ วันที่ตื่นขึ้นมาอาบน้ำไปทำงาน เราก็ต้องเลือกแล้วว่าจะใส่อะไร แม้จะเป็นชุดยูนิฟอร์มแบบเดิมๆ และใครจะไปรู้ สิ่งที่เราใส่ไม่ว่าจะราคา 199 หรือ 190,000 บาท ก็อาจจะมีต้นตอที่มาจากความคิดและดีไซน์ของ กาเบรียล ชาเนล ซึ่งนิทรรศการ Mademoiselle Privé จะทำให้คุณเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น

 

*งานนิทรรศการ Mademoiselle Privé จะจัด ณ ศูนย์จัดงานแสดง West Bund Art Center ที่กรุงเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 2 มิถุนายนนี้

 

 

ภาพ: All Courtesy of Chanel

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories