×

เมื่อ ‘มาดามเดียร์​’ สนใจลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่​ จากคนทำสื่อสู่คนการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
25.11.2023
  • LOADING...
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

มาดามเดียร์ สนใจลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดวันนี้ (25 พฤศจิกายน) สำหรับการเฟ้นหาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ โดยมาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีชื่อเข้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ต่อสื่อมวลชนว่า ตนเองก็มีความสนใจ และการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกิจกรรมหลักของพรรคที่สะท้อนอุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยภายในพรรคตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งการที่จะเริ่มขับเคลื่อนกระบวนการทางประชาธิปไตย​ให้มีความ​เข้มแข็งต่อไปในอนาคต​ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองหรือสถาบันการเมือง​เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง​ นอกเหนือจากการตื่นตัวของประชาชนเพียงอย่า​งเดียว​

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความพร้อมใช่หรือไม่หากถูกเสนอชื่อลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค​ วทันยา​กล่าวว่า​ ตนมีความพร้อม​ ซึ่งคงไม่ต้องรอถึงวันเลือกกรรมการบริหารพรรค​ หากมีความพร้อม​หรือความชัดเจนอะไรก็จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง​

 

วทันยากล่าวอีกว่า ยังเชื่อมั่นว่าในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรค​ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจัดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคถึง​ 2 ครั้ง​ แต่ขณะนี้มีการเพิ่มองค์ประชุมสำรองเพิ่มเติมแล้ว จากการสมัครของสมาชิกทั่วประเทศ​ ดังนั้นปัญหาขององค์ประชุมไม่ครบในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว อีกทั้งผู้ใหญ่หลายคนในพรรคมีความเห็นตรงกันว่า พรรคไม่มีผู้บริหารหรือหัวหน้าพรรค ทำให้เกิดสุญญากาศในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะบทบาทฝ่ายค้าน ซึ่งปีหน้าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย 

 

“ทุกคนในพรรคจึงมีความเห็นว่า เราควรจะมีข้อยุติเรื่องหัวหน้าพรรค เพื่อขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านต่อไปได้​ จึงเชื่อได้ว่าวันที่​ 9 นี้จะได้ทั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค” วทันยากล่าว

 

มาดามเดียร์คือใคร เส้นทางชีวิตจากคนทำสื่อสู่คนการเมือง

 

22 กันยายน 2566 วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังลาออกจากการเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมปีเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่า “ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในรัฐสภาที่ทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ สส. ได้”

 

กลายเป็นเส้นทางใหม่อีกครั้งของวทันยา ในสนามการเมืองที่เริ่มต้นเป็นที่รู้จักจากแวดวงกีฬา แวดวงสื่อมวลชน ก่อนเดินสู่สนามการเมืองในฐานะผู้เล่น

 

เส้นทางผู้จัดการทีมฟุตบอล

  • ปี 2559: ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งกีฬาฟุตบอลในซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย ซึ่งทีมของเธอได้เหรียญทอง
  • ปี 2560: ยุติบทบาทจากการทำหน้าที่ผู้จัดการ

 

พื้นหลังผู้บริหารสื่อ (แต่เดิมเป็นกรรมการบริษัทประกอบธุรกิจสื่อ 4 แห่ง) ได้แก่ 

  • บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด
  • บริษัท ร่วมมือร่วมใจ จำกัด
  • บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด

 

ปี 2559: เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 506,000,002 หุ้น หรือ 8.04%

 

ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 มาดามเดียร์ระบุว่า เธอขายหุ้นบริษัทสื่อมวลชนทั้งหมด ก่อนจะยื่นใบสมัครเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) 

 

เส้นทางการเมือง

  • 16 พ.ย. 2561: สมัครเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ
  • 27 พ.ค. 2562: เลือกตั้งซ่อม สส. เขต 8 เชียงใหม่ พรรคพลังประชารัฐได้รับ 27,861 คะแนน ได้ สส. บัญชีรายชื่อเพิ่ม 1 คนคือ มาดามเดียร์ ในลำดับที่ 19
  • 29 พ.ค. 2562: รับหนังสือรับรองการเป็น สส. อย่างเป็นทางการ
  • 2563: ตั้งทีม สส. กลุ่มดาวฤกษ์ มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน
  • 16 ส.ค. 2565: ลาออกจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในรัฐสภาที่ทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ สส. ได้”
  • 22 ก.ย. 2565: เปิดตัวสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

ผลงานเด่นในสภา

  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โหวตสวนมติพรรค งดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกันยายน 2564 งดออกเสียงให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกรกฎาคม 2565 งดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

 

ผลงานอื่นๆ 

  • ฟ้อง พรรณิการ์ วานิช ขณะเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในคดีหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ในประเด็นการถือหุ้นและครอบงำสื่อ
  • โฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน 

 

ย้อนรอยประชุมใหญ่ 2 ครั้ง ที่ล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

พรรคประชาธิปัตย์ผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง โดยผลสุดท้ายองค์ประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง เนื่องจากข้อบังคับพรรคได้กำหนดเกณฑ์การเลือกหัวหน้าพรรคคิดเป็นอัตราส่วน 70 ต่อ 30 โดยให้น้ำหนักกับ สส. 25 คน คิดเป็น 70% และอีก 30% ให้เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เป็นไปได้ว่าข้อบังคับพรรคและเกณฑ์ 70-30 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่

 

พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังจุรินทร์ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ หลังการประชุม สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ได้เสนอยกเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ 87 ที่กำหนดว่า

 

ในการโหวตหัวหน้าพรรคจะใช้น้ำหนักในการลงคะแนน 70% สส. ปัจจุบัน 25 คน และมาจาก 30% กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ รวมถึงให้ยกเว้นข้อบังคับที่ 37 กรณีเมื่อหัวหน้าพรรคลาออกต้องตั้งกรรมการบริหารพรรคใน 60 วัน แต่ท้ายสุดที่ประชุมไม่เห็นด้วยและถูกตีตกไป

 

ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้ประสงค์สมัครเป็นหัวหน้าพรรค แต่เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุมทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้

 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นจากการประชุมครั้งแรกคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้แตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ประกอบด้วย สส. เสียงข้างมากอยู่ในขั้ว เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา ผู้กุมบังเหียนดูแล สส. ภาคใต้ และกุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ สนับสนุน นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค ขึ้นมานำทัพพรรค

 

ส่วน สส. เสียงส่วนน้อยอยู่ในขั้ว สส. บัญชีรายชื่อทั้ง 3 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ สส. เขตภาคใต้บ้านใหญ่ตระกูลดัง เช่น สรรเพชญ บุญญามณี สส. สงขลา, สุพัชรี ธรรมเพชร สส. พัทลุง, ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พัทลุง, ยูนัยดี วาบา สส. ปัตตานี และ สมบัติ ยะสินธุ์ สส. แม่ฮ่องสอน สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง 

 

ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในขั้วเสียงส่วนใหญ่ กล่าวภายหลังการประชุมล่มครั้งที่ 1 ว่า “การที่ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคภายในวันนี้ได้นั้นไม่ใช่ความล้มเหลว” พร้อมทั้งเชื่อว่าการประชุมครั้งหน้าจะไม่มีปัญหา และมองว่าคนที่เป็นองค์ประชุมควรมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ 

 

ขณะที่การประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม วันดังกล่าวมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค รวมทั้งแกนนำ สส., อดีต สส. และตัวแทนสาขาพรรค 

 

เมื่อถึงกำหนดเริ่มประชุม น.ต. สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค แจ้งว่ามีองค์ประชุมเพียง 210 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป แม้จะมีการรอเวลาให้สมาชิกเดินทางมาเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ถึงตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนด และไม่สามารถประชุมได้ 

 

สิ้นเสียงแจ้งองค์ประชุมไม่ครบ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำ สส. ออกจากห้องประชุม ยืนแถวหน้ากระดาน แถลงประณามต่อเหตุการณ์ประชุมล่มครั้งที่ 2 นี้ ระบุว่า

 

“เป็นพฤติกรรมที่เลวร้าย ไม่เคยเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ผลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างมาก องค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 ครั้ง ไม่สามารถดำเนินการได้ และครั้งนี้ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของบางกลุ่มในพรรค 

 

“ให้องค์ประชุมออกจากห้อง ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ไปเที่ยวต่างประเทศ พฤติกรรมเหล่านี้เลวทราม ไม่ควรจะเกิดขึ้นในพรรค อยากจะฝากอีกครั้งว่าช่วยปลุกจิตสำนึกของคนในพรรคประชาธิปัตย์ พวกเขารู้ตัวว่าทำพฤติกรรมอะไรไว้ หากจิตสำนึกกลับคืนมา ถ้ามีจิตสำนึกต้องมาช่วยให้พรรคเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคน” เฉลิมชัยกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising