×

สรุปความเคลื่อนไหว ‘มาตรา 112’ กับการเมืองนอก-ในสภา จุดชี้วัดความแตกต่างของพรรคการเมือง

06.11.2021
  • LOADING...
มาตรา 112

ขณะที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งยังไม่ครบวาระ 4 ปี ยังไม่มีการประกาศยุบสภาและยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แต่บรรยากาศการเมืองของทุกขั้วทุกพรรคมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวราวกับกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอีกไม่นาน และต่อให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์อยู่ครบวาระ 4 ปี ณ เวลานี้ก็นับได้ว่าใช้เวลาเดินมามากกว่าครึ่งทางแล้ว ไม่เร็วไม่ช้าเกินไปที่แต่ละพรรคทั้งเก่าและใหม่จะต้องเสนอตัวต่อสาธารณะว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พวกเขาจะชูใครเป็นผู้นำพร้อมข้อเสนอจูงใจประชาชนให้ลงคะแนนเสียงหย่อนบัตรสนับสนุน  

 

การแข่งขันทางการเมืองของพรรคใหญ่มีจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งวันที่ 28 ตุลาคม เมื่อพรรคเพื่อไทย เปิดตัว อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค

 

พลิกความลังเลของมวลชนที่ติดตามพรรคให้มีความเชื่อมั่นว่าพรรคใหญ่พรรคนี้มาแน่มาจริง โดยคนในตระกูลชินวัตรมาเอง ด้วยการส่งคนรุ่นลูกซึ่งเป็น Gen Y ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง

 

ไม่กี่วันต่อมาคือวันที่ 31 ตุลาคม การเมืองนอกสภามีการชุมนุมและมีเหตุการณ์สำคัญเป็นภาพจำเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษกกลุ่มราษฎร กรีดแขนเป็นตัวเลข 112 พร้อมกรีดเป็นเครื่องหมายขีดฆ่าตัวเลขดังกล่าว หลังอ่านแถลงการณ์ ‘ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112’

 

ในค่ำวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากทึ่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอภาคประชาชนที่เรียกร้องเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว ลงนามโดย ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย  

 

แถลงการณ์ดังกล่าวตอกย้ำความรู้สึกให้กับผู้สนับสนุนพรรคมีความเชื่อมั่นอีกครั้งเมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลง โดยพรรคออกมาแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกับข้อเรียกร้องการชุมนุมที่นำโดยคนรุ่นใหม่ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังการเปิดตัวของอุ๊งอิ๊งบนเวทีพรรคเพื่อไทย   

 

แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นคือวันที่ 2 พฤศจิกายน ทักษิณ ชินวัตร บิดาของอุ๊งอิ๊ง โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ต่อข้อเสนอของแต่ละฝ่ายที่มีต่อมาตรา 112 ซึ่งมีทั้งข้อเสนอให้ยกเลิก แก้ไข และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยทักษิณบอกว่า ‘ตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคม’ ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่าและพูดคุยกับผู้เห็นต่างเพื่อถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้องถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้

 

ข้อความของทักษิณ แม้ไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล ไม่ได้เข้าข้างผู้ใช้กฎหมายดำเนินคดีกับเยาวชนผู้เห็นต่าง แต่ก็ลดทอนพลังของแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยที่ออกมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เพราะทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของพรรคต้องทบทวนความเข้าใจอีกครั้งว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกันแน่ 

 

ทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยและการโพสต์ข้อความของทักษิณไม่ได้มีข้อขัดแย้งกัน และพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนที่จะไม่ยกร่างแก้ไขเอง แต่พร้อมจะผลักดันข้อเสนอจากภาคประชาชนเข้าสู่สภา เพื่อจะได้รับฟังเสียงให้รอบด้าน 

 

ขณะที่พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค แถลงตอกย้ำการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกล โดยแถลงความคืบหน้าการเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนที่พรรคเคยยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ 

 

ชัยธวัชระบุว่า 4 ใน 5 ร่างได้รับการนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะที่อีก 1 ร่างซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 112 ถูกโต้แย้งโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งมีข้อความสำคัญคือองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

 

พรรคก้าวไกลจึงยื่นหนังสือขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวที่ยังตกค้างอยู่ของพรรคก้าวไกล เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว   

 

ชัยธวัชกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ 

 

สาระสำคัญ 

  1. ยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับในฐานความผิดหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาล แต่ยังคงคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐจึงกำหนดอัตราโทษจำคุกให้คงอยู่ แต่ลดโทษจำคุกสูงสุดจากเดิม 15 ปี ให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 1 ปี และไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 3 ปี นอกจากนั้นกำหนดให้ลงโทษปรับได้หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาลงโทษให้สอดคล้องกับสภาพความผิดได้ ถ้ามีความผิดจริงแต่ไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องลงโทษจำคุก ลงโทษปรับก็ได้ หรือถ้ารุนแรงถึงขนาดลงโทษจำคุกก็ไม่จำเป็นต้องมีขั้นต่ำ 3 ปี 

 

  1. เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งผู้อื่นหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้  

 

  1. เพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ โดยบัญญัติให้ 1) ผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด 2) ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน 

 

ซึ่งข้อความที่เป็นบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษนี้เองที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาได้โต้แย้งกลับมาว่า เป็นบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 

 

สำหรับกรณีนี้พรรคก้าวไกลได้เคยทำหนังสือชี้แจงตอนที่มีการโต้แย้งครั้งแรกไปยังสำนักการประชุมของสภาไปแล้ว และวันที่ 4 พฤศจิกายน ยื่นหนังสือต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาอีกครั้งเพื่ออธิบายยืนยันว่า เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ และกฎหมายของไทย ตลอดจนหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่อย่างใด

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน หลังมีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมือง รุ้ง ปนัสยา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยให้ความเห็นแย้งกับข้อความของทักษิณ รุ้งกล่าวภายหลังขึ้นศาลคดีการชุมนุมว่า ปัญหามาตรา 112 มีตั้งแต่ตัวกฎหมาย กฎหมายนี้ชัดเจนว่ามีความพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทุกวันนี้มีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย 

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่มีต่อมาตรา 112 นอกจากมีการเปิดโต๊ะครั้งแรกให้เข้าชื่อเพื่อยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการชุมนุม 31 ตุลาคมแล้ว 

 

ล่าสุดวันนี้ 6 พฤศจิกายน มีการเปิดให้ลงชื่อทางออนไลน์ผ่าน https://www.no112.org โดยคณะก้าวหน้าและคณะราษเปซ ผ่านไป 24 ชั่วโมง มีผู้ลงชื่อแล้วทะลุกว่า 1 แสนคน

 

ส่วนความเคลื่อนไหวภาคประชาชนฝ่ายที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 นำโดย สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ ในนามเครือข่ายภาคีกองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนจำนวน 222,928 รายชื่อ ยื่นหนังสือต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบทบัญญัติว่าด้วยพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกมาตรา และคัดค้านการแก้ไขประมวลอาญา มาตรา 112 

 

สุวิทย์ให้เหตุผลว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ แต่มีกลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือมาแสดงความกำเริบเหิมเกริม กระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน หมิ่นประมาท ด้อยค่า จำกัดบทบาท และต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังปลุกระดมมวลชนโดยใช้เฟกนิวส์เรียกร้องให้ทำการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพื่อลิดรอนพระราชอำนาจ จึงได้รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้าน เพื่อให้เกิดการยับยั้งการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกมาตรา และคัดค้านการขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116

 

นอกจากนั้น อีกหนึ่งอดีตผู้นำมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ก็ได้แสดงความเห็นต่อข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่า สารภาพว่ายืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้เหมาะสมถูกต้องแล้วสำหรับประเทศไทย

 

สุเทพมองว่า สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาเรื่องการปกป้องประมุขของประเทศเป็นหลักสากล ประเทศอื่นก็ทำกันทั้งนั้น ในสหรัฐอเมริกาก็มี เพื่อปกป้องประธานาธิบดี เป็นเรื่องปกติสากล ส่วนประเทศไทย คนไทยมีความกตัญญูรู้คุณต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเพณีการปกครอง จึงได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญารองรับ นอกจากนั้นมองว่า เมื่อก่อนไม่เคยมีใครคิดที่จะไปดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือจะไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ คนไทยจึงไม่ได้ให้ความสนใจมาตรา 112 ไม่มีใครเดือดร้อนที่มีการบัญญัติมาตรา 112 

 

ทางด้านพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในภาวการณ์ปัจจุบันเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการแก้ไขไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยกเว้นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคไม่คิดแตะต้องแก้ไข เพราะเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมที่สุด

 

ต่อมาระหว่างที่จุรินทร์เดินพูดคุยกับประชาชนในโครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ที่บริเวณหน้ากรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ มีประชาชนที่เข้ามาซื้อสินค้าได้เข้ามาฝากเรื่อง มาตรา 112 กับจุรินทร์ โดยบอกว่า “ขอฝากท่านเรื่องสถาบัน เรื่องสถาบันเราไม่ยอม ฝากปกป้องสถาบันด้วย และเลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว” ทางด้านจุรินทร์ได้รับเรื่องและกล่าวว่าไม่แก้มาตรา 112 

 

ด้านจุดยืน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงโดย รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าในนามของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างแน่นอน เราจะบริหารประเทศโดยยึดหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  

 

จากท่าทีแต่ละพรรคแต่ละฝ่าย จะเห็นได้ว่าในฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลประสานเสียงเดียวกันในการไม่แตะต้องมาตรา 112 ทั้งการแก้ไขหรือยกเลิก ขณะที่พรรคฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านในปัจจุบัน ยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่มีเพดานหลายระดับ ตั้งแต่การเมืองนอกรัฐสภาที่ผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 112 ในขณะที่ 2 พรรคการเมือง คือ เพื่อไทย และ ก้าวไกล ยังมีวิธีการที่แตกต่างกัน คือเพื่อไทยพร้อมรับลูกผลักดันข้อเสนอจากภาคประชาชนเข้าสู่สภา ขณะที่ก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 แต่ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกในเพดานเดียวกับภาคประชาชน 

 

ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเป็นที่จับตา เนื่องจากแต่ละจังหวะการตัดสินใจของพรรคมีผลต่อการตัดสินใจของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคด้วยเช่นกัน เนื่องจากมวลชนกลุ่มเดียวกันนี้ปรากฏตัวได้ทั้งเวทีสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แต่หากต้องเลือกหย่อนบัตรให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ทิศทางและท่าทีต่อมาตรา 112 อาจจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญว่าพวกเขาจะเลือกพรรคใดเป็นอันดับแรก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising