แม้ว่าราคาอาหาร น้ำมัน และการเดินทาง จะเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าเหล่าคนรวยกระเป๋าหนักจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนัก สะท้อนจากการที่ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในสินค้าแบรนด์หรูตั้งแต่รองเท้าผ้าใบราคา 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงรถสปอร์ตราคา 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ
รายงานระบุว่า Ferrari, Dior, Louis Vuitton และ Versace ต่างแข่งขันกันอวดยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาสล่าสุดของปีนี้ พร้อมคาดการณ์แนวโน้มกำไรที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับความหวาดกลัวต่อภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องประหยัดกันสุดฤทธิ์ เห็นได้จากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนผ่านทาง Walmart หรือ Best Buy ที่พบว่า การใช้จ่ายในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยลดลงเพราะถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความแข็งแกร่งในหมวดสินค้าหรูหรานั้นสอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอดีต โดยที่คนรวยมักเป็นคนสุดท้ายที่รู้สึกถึงผลกระทบ เนื่องจากความมั่งคั่งอันสุดขั้วของคนรวยเหล่านี้ ทำให้ยังมีกำลังในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าหรูหราราคาแพงที่มักใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ
ด้าน มิลตัน เพ็ดราซา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Luxury Institute บริษัทวิจัยตลาดและการจัดการธุรกิจ กล่าวว่า การมีสัญลักษณ์แห่งอำนาจเป็นสิ่งที่ทรงพลัง แถมสัญลักษณ์แห่งอำนาจเหล่านี้ยังมีความสำคัญอย่างมากในหมู่คนรวยที่ต้องมีการอวดรวย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยอดขายแบรนด์เนมราคาแพงจะยังคงขายได้
ยกตัวอย่างเช่น LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงอย่าง Christian Dior, Fendi และ Givenchy รายงานว่า รายรับเพิ่มขึ้น 21% ที่ 3.67 หมื่นล้านยูโร ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ Versace มีรายงานเพิ่มขึ้น 30% มาอยู่ที่ 275 ล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์มองว่า แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่อย่างน้อยแบรนด์หรูในตอนนี้ก็แข็งแกร่งและแข็งแรงดีไม่มีแผ่ว
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่แพงขึ้นจนทำให้ผู้บริโภคหลายคนต้องชะลอการใช้จ่าย และซื้อแต่สิ่งของที่จำเป็นด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่สินค้าประเภทหนึ่งที่ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดีก็คือสินค้าเพื่อความงาม
ข้อมูลจาก NPD Group ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวยอดขายของหมวดหมู่สินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เทคโนโลยีและของเล่น ตลอดจนผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่ร้านค้าเฉพาะทางและห้างสรรพสินค้า พบว่า สำหรับผู้ค้าปลีก หมวดหมู่สินค้าด้านความงามได้กลายเป็นช่องทางทำเงินที่หาได้ยากในห้วงเวลานี้ ที่ผู้คนลดการใช้จ่ายท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยเป็นหมวดหมู่ค้าปลีกเพียงหมวดเดียวที่มียอดขายยูนิตเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แม้จะถูกจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือยก็ตาม
โอลิเวีย ถง นักวิเคราะห์ของ Raymond James กล่าวว่า ผู้บริโภคอาจไม่สามารถไปกินข้างนอกบ้านได้บ่อย แต่การควักเงินซื้อลิปสติกสักแท่งให้ตัวเองดูดี ดูสวย ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง และการดูดีก็ทำให้เกิดความรู้สึกทางบวก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอภิรมย์
มีรายงานว่า ห้างค้าปลีกอย่าง Target และ Walmart ต่างก็มียอดขายในสินค้าความงามเพิ่มขึ้น ทำให้ห้างตัดสินใจลงทุนในหมวดหมู่ความงามเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ลาริสซา เจนเซน นักวิเคราะห์ความงามของ NPD เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นการกลับมาของ ‘ดัชนีลิปสติก’ ซึ่งเป็นคำที่ ลีโอนาร์ด ลอเดอร์ ประธานคณะกรรมการของ Estee Lauder ใช้เพื่ออธิบายยอดขายเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นทศวรรษ 2000
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ปริมาณการขายลิปสติกก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเจนเซนกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ส่งต่อไปยังผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่นๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยยอดขายเครื่องสำอางรวมถึงลิปสติกเพิ่มขึ้น 20% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเพิ่มขึ้น 12% น้ำหอมเพิ่มขึ้น 15% และการดูแลเส้นผมเพิ่มขึ้น 28%
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/08/13/ultra-rich-still-shopping-for-luxury-despite-inflation-recession-fears.html
- https://www.cnbc.com/2022/08/14/-the-lipstick-index-is-back-and-retailers-are-trying-to-cash-in-.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP