×

การเดินทางฟรีไม่ใช่คำตอบเสมอไป ลักเซมเบิร์กกับการ ‘แก้ปัญหารถติด’ ที่เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

15.07.2022
  • LOADING...
Luxembourg

ในขณะที่หลายคนเฝ้าฝันถึงคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีของประชาชนที่รัฐควรจะเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือให้อย่างเรื่องค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้วโมเดลนี้ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ในทางที่ดีเสมอไป โดยมีกรณีตัวอย่างของประเทศลักเซมเบิร์ก ที่รัฐอุดหนุนค่าเดินทางฟรีทั้งหมด แต่สุดท้ายก็แก้ปัญหารถติดไม่ได้ แถมเสียเงินงบประมาณมหาศาลถึง 41 ล้านยูโร หรือกว่า 1.5 พันล้านบาท

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจนี้เกิดที่ประเทศลักเซมเบิร์ก รัฐอิสระเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีจำนวนประชากรเพียงแค่ 640,000 คน และเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวมากที่สุดในโลก ซึ่งดูแล้วประชากรประเทศนี้น่าจะมีความสุข เพราะบ้านเมืองก็สวยงาม เงินทองก็มากมี แต่เรื่องจริงคือชาวลักเซมเบิร์กมีความทุกข์กับปัญหาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกับประเทศในโลกที่ 1 อย่างเรื่องรถติด

 

โดยในบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้นไม่มีชาติใดที่จะมีจำนวนความหนาแน่นของรถสูงเท่ากับลักเซมเบิร์กอีกแล้ว ในปี 2020 มีการคำนวณว่าในประเทศนี้จะมีจำนวนรถ 696 คันต่อจำนวนประชากร 1,000 คน หรือเรียกได้ว่า 9 ใน 10 ครัวเรือนของลักเซมเบิร์กจะมีรถกันทุกบ้าน และ 1 ใน 10 ครอบครัวจะมีรถอย่างน้อย 3 คัน

 

หนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนให้คนมีรถเป็นเพราะอัตราภาษีและภาษีของลักเซมเบิร์กต่ำ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่นี่ถูกที่สุดในยุโรป และยังใช้ก๊าซได้ถูกที่สุดในบรรดาชาติยุโรปตะวันตกด้วย ทำให้ชาวลักเซมเบิร์กใช้รถกันอย่างสนุกสนาน

 

โดยที่ในเมืองเล็กๆ เราจะพบกับดีลเลอร์รถหรูอย่างเฟอร์รารี หรือมาเซราติได้อย่างง่ายดาย แต่นั่นก็นำไปสู่ปัญหาที่ไม่ควรเกิดคือ เรื่องของรถติดแบบแสนสาหัส ถึงขั้นที่ในช่วงฤดูร้อนนี้ตำรวจต้องขอร้องให้ประชาชนอย่าขับรถเข้ามาในเขตชายหาดด้านในเมือง เพราะจะทำให้รถติดและมีปัญหาการจอดรถในที่ห้ามจอด

 

รัฐบาลลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มสูงกว่า 690,000 คนภายในปี 2030 ได้พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2020 ด้วยวิธีในอุดมคติด้วยการประกาศให้ชาวลักเซมเบิร์กทุกคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ฟรี ทั้งรถไฟ รถราง รถบัส จะมีข้อยกเว้นก็เพียงการโดยสารด้วยตั๋วชั้นหนึ่งทั้งนั้น

 

มาตรการนี้ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณต่อปีมากกว่า 31 ล้านยูโร หรือราว 1.5 พันล้านบาท ซึ่งก็ควรจะได้รับผลตอบรับที่ดี ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมนโยบายนี้ เพราะช่วยประหยัดได้ทั้งเงินและประหยัดเวลาด้วย เพราะการขับรถกลับจากที่ทำงานบางครั้งอาจจะใช้เวลา 60-75 นาที แต่หากขึ้นรถไฟจะใช้เวลาน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี นโยบายดีๆ แบบนี้กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาจำนวนรถบนท้องถนนได้ และดูเหมือนจะอาการหนักขึ้นด้วยซ้ำไป โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าความหนาแน่นบนท้องถนนของลักเซมเบิร์กในบางพื้นที่สูงกว่าในเดือนพฤษภาคม 2019 ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศนโยบายเดินทางฟรีด้วยซ้ำไป

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะนโยบายนี้ไม่ได้สร้างแรงดึงดูดใจที่มากพอให้แก่ชาวลักเซมเบิร์กที่ยังรักการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะก็มีข้อเสีย เช่น บางครั้งอาจจะมีจำนวนผู้ใช้มากเกินไป เกิดการล่าช้า หรือการยกเลิกขบวนรถไฟกะทันหัน ซึ่งก็เป็นปัญหาดั้งเดิมของประเทศตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดอยู่แล้ว และที่สำคัญคือรัฐบาลเองก็ยังอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยการไม่ขึ้นภาษีน้ำมัน

 

อีกส่วนหนึ่งของปัญหาคือเรื่องราคาค่าที่อยู่อาศัยที่สูง โดยเฉพาะค่าเช่าสำหรับแรงงานที่คิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งจะข้ามมาจากฝรั่งเศส 110,000 คน และอีก 50,000 คนจากเยอรมนีและเบลเยียม ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าในเมืองลักเซมเบิร์ก ซิตีได้ไหว เพราะราคานั้นสูงถึง 1,2000 ยูโร หรือราว 44,000 บาท ทำให้ต้องพักนอกชายแดนซึ่งราคาค่าเช่าอยู่ที่ 700 ยูโร หรือราว 25,000 บาท และขับรถเดินทางเข้าประเทศมาแทน จนสุดท้ายรถก็ติดอยู่ดี

 

จากทั้งหมดนี้ดูเหมือนการแก้ปัญหารถติดด้วยการให้เดินทางฟรีจึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับประเทศลักเซมเบิร์กที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง การแก้ปัญหาในราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยจึงถูกมองว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและตรงจุดมากกว่า ซึ่งจริงๆ ก็ควรเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม คันตรงไหนก็เกาตรงนั้น ไม่มีอะไรยากหรือมากไปกว่านี้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising