Lululemon แบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายจากแคนาดาออกมาขอโทษ กรณีหนึ่งในพนักงานได้โพสต์โปรโมตรูปสินค้าผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวเป็นเสื้อยืดสกรีน Bat Fried Rice ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบอย่างมากในโซเชียลมีเดีย
โดยเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อ เทรเวอร์ เฟลมมิง อาร์ตไดเรกเตอร์ของ Lululemon ได้โพสต์ลิงก์ขายเสื้อยืดในอินสตาแกรมส่วนตัว โดยสินค้าด้านในคือเสื้อแขนยาวสกรีนลายกล่องเดลิเวอรีแบบอาหารเอเชีย ผลงานการออกแบบของ เจสส์ สลูเดอร์ ศิลปินวาดภาพอิสระจากแคลิฟอร์เนีย โดยหน้ากล่องเขียนว่า ‘No Thank You’ เช่นเดียวกับที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง พร้อมรูปปีกค้างคาวที่ข้างกล่อง และตะเกียบด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อ
ส่วนในโพสต์ของศิลปินซึ่งได้เขียนแคปชันพาดพิงถึงแหล่งกำเนิดของโรคโควิด-19 และพุ่งเป้าค้าวคาว ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #humornothate #batfriedrice
ผลลัพธ์ที่ออกมาได้สร้างความไม่พอใจในโลกโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก โดยเสียงส่วนใหญ่กล่าวว่าการกระทำครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งชนวนสร้างความเกลียดชัง และการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์นี้
ในภายหลังทางบริษัทได้ตอบกลับในคอมเมนต์บนโพสต์ทั่วไปของแบรนด์หลังจากที่ถูกโจมตีอย่างหนักว่า “สินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของทางแบรนด์ และขอโทษที่พนักงานของบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโปรโมตสินค้าที่นำมาซึ่งความไม่พอใจนี้ เราได้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาพที่ออกมาไม่เหมาะสมและไม่มีข้อแก้ตัว เราได้ดำเนินการทันที และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้พ้นออกจากการเป็นพนักงานของ Lululemon แล้ว” แต่อย่างไรก็ตาม ทางแบรนด์ยังไม่ได้ออกมาขอโทษเป็นทางการแต่อย่างใด
กระแสดังกล่าวถูกพูดถึงใน Weibo โซเชียลมีเดียของประเทศจีนอยากมาก โดยหัวข้อ Lululemon insults China ได้ถูกเข้าชมไปแล้วกว่า 204 ล้านครั้ง และในอินสตาแกรมของแบรนด์ก็ได้มีลูกค้ามาโจมตีไปกว่า 3,000 คอมเมนต์ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Lululemon ถูกจ้องมองจากสังคม ชิป วิลสัน ผู้ก่อตั้งได้ถูกโจมตีเรื่องการพูดถึงรูปร่างของผู้หญิงบางแบบว่าอาจไม่เหมาะกับแบรนด์เมื่อปี 2013
สำหรับโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงสัตว์ต้นกำเนิดว่ามาจากค้างคาวจริงหรือเปล่า มีเพียงแค่การรายงานแหล่งกำเนิดซึ่งก็คือตลาดปลาในเมืองอู่ฮั่น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากการแพร่ระบาดของไวรัส คือกระแสต่อต้านชาวต่างชาติหรือ Xenophobia ต่อชาวจีนและชาวเอเชียในทั่วโลก โดยมีการรายงานการทำร้ายร่างกาย โจมตีทางคำพูด ไม่ว่าจะเป็นชุมชน China Town ในมหานครนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และโทรอนโต ประเทศแคนาดา
ภาพ: John Greim/LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.nytimes.com/reuters/2020/04/21/business/21reuters-health-coronavirus-lululemon.html
- www.vox.com/2020/2/7/21126758/coronavirus-xenophobia-racism-china-asians
- www.telegraph.co.uk/news/2020/04/22/who-coronavirus-pandemic-covid-19-started/
- www.huffingtonpost.ca/2013/11/06/lululemon-chip-wilson-womens-bodies_n_4228113.html