วันนี้ (15 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กลุ่มภาคีสีรุ้ง เข้ายื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเรียกร้องให้มีมติรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มได้เน้นย้ำจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐบาล แต่ต้องการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แม้ว่าวิปรัฐบาลจะมีมติไม่รับร่างแล้วก็ตาม พร้อมยืนยันว่าทางภาคีสีรุ้งและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษ เพียงต้องการแสดงถึงความเป็นปกติและไม่แตกต่างกับคนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ LGBTQ+ ควรได้รับ จึงหวังว่าในวันนี้ ส.ส. ไม่ว่าจะฝ่ายใดจะคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิความเป็นคน
โดย พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า ตัวแทนกลุ่ม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีการพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคม ส่วนตัวมองว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เหมาะสมมากกว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นบุคคลชั้นที่ 2
พรหมศรยังระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ได้บอกว่าจะเพิ่มสิทธิอะไร แต่แสดงถึงการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่คิดว่าควรได้รับ ที่สำคัญเดือนนี้เป็นเดือนไพรด์ เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ตนอยากบอกว่าวันนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรทุกคนควรคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานความเป็นคน ฉะนั้นหวังว่าจะไม่ทำให้เราเสียใจ
ทั้งนี้ ในเอกสารที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิก ยังได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความเห็นต่อการพิจารณากฎหมายไว้ 13 ข้อ โดยหลักๆ คือการแสดงจุดยืนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รวมถึงระบุว่าการที่รัฐบาลยืนยันจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนของประชาชนที่สนับสนุนร่างแก้ไขสมรสเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ www.Support1448.org กว่า 330,000 รายชื่อ
ด้าน ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ เฌอเอม ผู้ประกวดมิสยูนิเวิร์ส กล่าวว่า จริงๆ แล้วมีความหวังเหมือนกับทุกคนที่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านมากกว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ด้วยเหตุผลที่ทุกคนก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว เรื่องนี้ได้มีการคุยกับแทนคุณที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา เราพูดไปตรงๆ ว่ามันไม่ได้มีใครได้ใครเสียอะไร แต่มันเป็นสิ่งที่จะทำให้ใครอีกหลายๆ คนกลับมามีสิ่งที่เขาเคยมี มันไม่ใช่ของขวัญ อันนี้คือการคืนสิทธิให้พลเมืองอย่างที่ควรจะเป็น เราขอให้เขาตัดสินใจให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ทำกิจกรรมยืนยันว่าจะปักหลักทำกิจกรรมเต้น เล่นดนตรี สันทนาการ จนกว่าจะมีการโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และหากร่างดังกล่าวถูกโหวตคว่ำจะมีการรวมตัวกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครต่อเนื่อง
จากนั้นต่อมาเวลา 12.10 น. สาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนมาพูดคุยกับผู้ทำกิจกรรม โดยกล่าวว่า ตามปกติแล้วในพื้นที่มีส่วนที่จัดไว้ให้ประชาชนมาทำกิจกรรมชุมนุม แต่ขณะนี้บริเวณนั้นยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างจึงไม่สามารถรองรับผู้ที่มาชุมนุมได้ ห้องน้ำที่อยู่บริเวณนั้นจึงยังไม่เปิดใช้งานด้วย และน้ำดื่ม ต้องยอมรับว่าไม่มีงบประมาณในการจัดสรรมาให้บริการได้