สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,789 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44
โดยล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% ได้แก่ เขื่อนแม่กวง, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแม่มอก, เขื่อนทับเสลา, เขื่อนกระเสียว, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนลำพระเพลิง, เขื่อนลำแซะ, เขื่อนลำนางรอง, เขื่อนป่าสักฯ, เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล
ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่งที่มีระบบติดตามได้ พบว่า อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อยจำนวน 91 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีภายในระยะ 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานคำนึงถึงลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก โดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มน้ำด้านอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่คุณภาพน้ำด้านการเกษตร แม่น้ำแม่กลอง และเพชรบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำท่าจีน บางปะกง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่เกษตรในพื้นที่ด้วย
ขณะที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชน ที่บริโภคน้ำประปาในช่วงนี้ที่มีรสผิดปกติ และมีกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพหากบริโภคน้ำประปา โดยการประปานครหลวง (กปน.) ได้รายงานในเรื่องคุณภาพน้ำที่มีรสผิดปกติว่า ขณะนี้แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนเหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการประปานครหลวงได้ร่วมมือกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยทางการประปานครหลวงเองได้พยายามสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ หน่วยความเค็มเป็นหน่วย กรัมต่อลิตร ค่าที่เกิน 0.3 กรัมต่อลิตร หรือ 300 PPM จะเริ่มเป็นน้ำกร่อย (มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก: WHO) โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ คนเป็นโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาช่วงนี้ และแนะนำให้ใช้น้ำกรองผ่านระบบ RO ด้วย นอกจากนี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลงในการใช้น้ำเพื่อปรุงอาหารอีกด้วย
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาออนไลน์แบบเรียลไทม์ได้ด้วยตนเองทาง twqonline.mwa.co.th/map.php