×

คนเกิดน้อย ปัญหาใหญ่เพราะคนไทยแก่ก่อนรวย

28.01.2022
  • LOADING...
คนเกิดน้อย ปัญหาใหญ่เพราะคนไทยแก่ก่อนรวย

เชื่อว่าหลายคนไม่อยากจะมีลูกในยุคสมัยนี้ หรือบางคนฝันอยากมีลูก 2 คน หรือ 3 คน แต่เมื่อสำรวจชีวิตที่ต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ หลายท่านก็อาจจะพบว่าเรามีลูกได้แค่คนเดียว หรืออาจจะตัดใจไม่มีลูกเลยก็ได้

 

สภาวะแบบนี้ทำให้ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2564 พบว่ามีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 

 

ขณะที่ ‘อัตราการเสียชีวิต’ ของ พ.ศ. 2564 เพิ่มสูงขึ้นสวนทางการเกิดใหม่ของประชากรในประเทศไทยอย่างน่าตกใจ เพราะมีอัตราการเสียชีวิตจำนวนกว่า 563,650 คน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่อัตราการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่าอัตราการเกิดใหม่ของเด็กทารก อันที่จริงปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกครับ เช่น อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็เกิดปัญหาการชะลอตัวของประชากรด้วยกันทั้งนั้น 

 

แต่ถ้าจะมาเจาะดูของประเทศไทย นโยบายการส่งเสริมให้มีลูกมาก มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ด้วยการส่งเสริมการแต่งงาน ส่งเสริมให้แม่มีลูกมาก มีการจัดพิธีสมรสหมู่ เริ่มจัดงานวันแม่ จัดประกวดแม่ลูกดก และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก แนวคิดตอนนั้นของผู้นำเราคือ การที่ประเทศมีประชากรจำนวนมาก จะทำให้ประเทศไทยมีแรงงานมากพอที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้า รวมทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่ในอนาคต

 

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความสำเร็จนโยบายนี้หรือเปล่า แต่ว่าผลที่ตามมาถือว่าบรรลุเป้าหมาย เพราะว่าประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่เกินกว่า 1 ล้านคนในทุกปี

 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีคนเกิดมากขึ้น แต่คนเสียชีวิตน้อยลงด้วยระบบสาธารณสุขที่เริ่มพัฒนาขึ้น ปัญหาก็ตามมาอีกแบบ วิธีคิดก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยมองว่าหากจำนวนประชากรมากเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ประกาศใช้นโยบายชะลออัตราการเพิ่มประชากรใน พ.ศ. 2513 ภายใต้สโกแกน ‘ลูกมาก ยากจน’ สนับสนุนให้มีการวางแผนครอบครัว รณรงค์การคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย และเหมือนกันครับ ผลที่ตามมาถือว่าบรรลุเป้าหมาย โดยหลัง พ.ศ. 2526 ตัวเลขการเกิดของไทยในแต่ละปีก็ต่ำกว่า 1 ล้านคน

 

โดยตัวเลขที่เรียกว่า Total Fertility Rate (TFR) ที่แปลง่ายๆ ว่า คนสองคนแต่งงานกันจะมีลูกกี่คน ก็พบว่า ในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2517 ค่า TFR ของไทยอยู่ที่ 5 คน ตอนนี้ลดลงเหลือ 1.6 คน นั่นแปลว่า อัตราประชากรจะขาดทุนไปเรื่อยๆ เพราะพ่อ-แม่ 2 คน มีเด็กเกิดใหม่มาทดแทนไม่ถึง 2 คน องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำค่า TFR อยู่ที่ 2.1 เพื่อให้อัตราประชากรเท่าทุนหรือมีกำไรขึ้นมาบ้าง 

 

แน่นอนว่าอะไรที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ส่งผลเสียด้วยกันทั้งนั้น เพราะ การเกิดน้อยส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจก็ส่งผลต่อการเกิดใหม่ของประชากรเช่นกัน

 

ถ้าดูข้อมูลจากกราฟจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2536-2564 จะเห็นว่าตัวเลขประชากรใหม่ที่ลดฮวบ มีอยู่ 2 ช่วง

 

ช่วงแรก คือหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วง พ.ศ. 2544-2545 กราฟก็ปรับพุ่งขึ้น 

 

และช่วงที่สอง คือหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา พ.ศ. 2558 อัตราการเกิดลดลงเหลือประมาณ 740,000 คน ต่ำกว่า 750,000 คน เป็นปีแรก และลดลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 5.4 แสนคน

 

ขณะที่ใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า มีผู้สูงอายุ หรือคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หลังจากที่เราเป็นประเทศ Aging Society หรือประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมีคนแก่มากกว่า 10% ของประชากรตั้งแต่ พ.ศ. 2548 

 

ในที่นี้จะไม่ขอพูดถึงการแก้ปัญหาอัตราประชากร แต่จะขอพูดถึงปัญหาใหญ่ของการเป็นสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะประเทศไทยถูกนิยามว่าเป็น ‘ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง’ 

 

กล่าวคือ ไทยเป็นประเทศที่เคยเติบโตอย่างมากในอดีต มีการลงทุนจากต่างประเทศมากมาย ยุครุ่งเรืองของเราต้องย้อนไปถึงยุคอีสเทิร์นซีบอร์ดสมัย พล.อ. เปรม เป็นนายกฯ แต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยก็ถดถอยลง อาจจะฟื้นตัวหลังจากนั้นเพราะการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การส่งออกของเราดีได้ก็เพราะค่าเงินบาทเราถูกลง แรงงานเรายังราคาถูก แต่ปัจจุบันไทยไม่มีจุดแข็งนั้นอีกแล้ว ค่าแรงเราแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม การลงทุนของภาคเอกชนก็ลดลงมาก จาก 30% ของรายได้ประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2540 ลดลงเหลือ 15% ใน พ.ศ. 2561 การส่งออกเราก็ไม่ขยายตัวแล้วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเราก็ลดลงเรื่อยๆ จากโต 5% ในช่วง พ.ศ. 2543-2550 ลดลงเหลือ 3.4% ช่วง พ.ศ. 2558-2562 ยิ่งมาเจอวิกฤตโควิด ไทยเราติดลบเลย 

 

ทั้งหมดนี้มันนำไปสู่อะไร เศรษฐกิจที่ไม่เติบโตมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนในสังคมกำลังกลายเป็นคนแก่มากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เงินเดือนเริ่มต้นหมื่นกว่าบาท และเงินเดือนขึ้นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี เพราะความสามารถของนายจ้างที่จะจ่ายเงินเดือนนั้นลดลง

 

นี่แสดงให้เห็นว่า รายได้ของรุ่นคุณใหม่เติบโตช้า ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องแก่ลง การเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เป็นกลายเป็นเรื่องยากของชีวิต สรุปก็คือ เศรษฐกิจโตไม่ทันที่จะหล่อเลี้ยงความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรน้อยลง สัดส่วนของคนที่มีแรงในการผลิตน้อยลง จำนวนสัดส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น ภาระที่ต้องดูแลก็เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนคนที่ต้องมารับภาระตรงนั้นกลับน้อยกว่า แถมรายได้ของพวกเขาก็เติบโตช้า ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นประเทศ ‘แก่ก่อนรวย’ 

 

วิธีแก้ปัญหาก็มีอยู่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทักษะเฉพาะทางให้กับแรงงาน เพื่อที่จะให้คนแก่ทำงานในโลกปัจจุบันได้อยู่ การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบสวัสดิการที่ดีเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยเฝ้าฝันว่ามันจะเกิดขึ้นได้สักวันหนึ่ง ไม่เช่นนั้นในอนาคต พวกเราอาจจะเป็นคนแก่ แต่ยังจน แถมยังไม่มีคนดูแล แค่คิดก็เศร้าแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising