เฉลิมฉลองให้กับทุกความรักและความสัมพันธ์ เพราะไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร เพศไหน ความรักเหล่านั้นก็นับเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ THE STANDARD POP ถือโอกาสนี้พาทุกคนย้อนชมเส้นทางความรักของ LGBTQ+ บนโลกภาพยนตร์และละครไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่ามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ในระยะแรกที่เราได้เห็นตัวละคร LGBTQ+ ปรากฏในภาพยนตร์หรือละครไทย มักเป็นบทบาทที่ผูกติดอยู่กับความตลกขบขันเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเป็นการให้พื้นที่กับพวกเขาได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวเอง แต่ก็เป็นการดึงอัตลักษณ์เพียงด้านเดียวออกมานำเสนอ จนทำให้เกิดเป็นการเหมารวมและภาพจำที่ผิดๆ ว่า LGBTQ+ ต้องเป็นคนตลกขบขัน
นอกจากการเลือกนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว เมื่อพูดถึงความรักของ LGBTQ+ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะมีพื้นที่ในการบอกเล่าถึงความรักของตัวเอง หรือหากจะมีก็มักเป็นความรักที่ไม่สมหวังหรือไม่ได้ลงเอยกันในตอนจบ
ย้อนกลับไปในปี 2550 รักแห่งสยาม นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ได้หยิบยกเรื่องราวความรักของเด็กหนุ่มสองคนมานำเสนอผ่านภาพยนตร์ จนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้อย่างมาก
“เราคงคบกับมิวเป็นแฟนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รักมิวนะ”
แม้ในตอนจบสุดท้ายของเรื่อง มิว (พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) และ โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) จะไม่สมหวังในความรัก รวมทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีกระแสตอบกลับจากผู้ชมบางส่วนค่อนไปทางลบ แต่รักแห่งสยามก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมทั้งทำให้สังคมเริ่มมองเห็นความรักของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น
ย้อนกลับมายังโลกของละครไทย เราพบว่าแท้จริงแล้วตั้งแต่ในยุคที่ซีรีส์วายยังไม่ได้มีกระแสฟีเวอร์เหมือนในปัจจุบัน รักแปดพันเก้า ละครจากค่ายเอ็กแซ็กท์ที่ออกอากาศในปี 2547 เป็นละครที่กล้าหยิบยกเรื่องราวความรักของกลุ่ม LGBTQ+ มานำเสนอไปพร้อมๆ กับคู่รักชายหญิงในเรื่องได้อย่างมีมิติ แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครหลักของเรื่อง แต่จอน (ภูริ หิรัญพฤกษ์) และ ที (แฮ็ค-รุ่งเรือง อนันตยะ) นับเป็นภาพจำแรกๆ ในวงการละครไทยที่ทำให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าพวกเขาเองก็มีความรักที่สวยงามไม่ต่างกับคู่รักเพศอื่น แม้จะมีช่วงเวลาที่ผิดใจกันหรือมีอุปสรรคมากมายที่ต้องก้าวผ่าน แต่พวกเขาก็มีความรักที่จริงใจและเป็นรักแท้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือตัว ละครจอนและทีจากรักแปดพันเก้า กลายเป็นต้นตำรับของภาพลักษณ์ตัวละครชายรักชาย ที่ฝ่ายหนึ่งจะมีรูปลักษณ์แข็งแรงและมีนิสัยมุทะลุ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชายหน้าตาสะอาดสะอ้านและมีลักษณะนิสัยเรียบร้อยกว่า กลายเป็นขนบและภาพจำของตัวละครชายรักชายที่วงการบันเทิงไทยยังไม่สามารถสลัดภาพเหล่านี้ไปได้หมด
หลายปีต่อมาวงการละครไทยเริ่มมีการนำตัวละครชายรักชายมานำเสนอมากขึ้น เช่น พี (โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์) และ ก้อง (ฟลุค-พชร ธรรมมล) จากละครเรื่อง พรุ่งนี้ก็รักเธอ (2552), บันลือ (โอ๊ต-วรวุฒิ นิยมทรัพย์) และ เรวัต (เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) จากละคร เลื่อมพรายลายรัก (2553) ทำให้ผู้ชมได้เห็นแง่มุมความรักของ LGBTQ+ ที่มีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่ก็นับเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกความรัก
การนำเสนอความรักในรูปแบบชายรักชายเริ่มมีพื้นที่ในสื่อละครและภาพยนตร์มากขึ้น ในขณะที่เพศอื่นๆ ในกลุ่ม LGBTQ+ กลับไม่ถูกพูดถึงเท่าไรนัก ทำให้เราไม่ได้เห็นมุมมองความรักหรือชีวิตของพวกเขาในมิติที่หลากหลายเท่าที่ควร
จนกระทั่งปลายปี 2553 ภาพยนตร์เรื่อง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย นำแสดงโดย ติ๊นา-ศุภนาฎ จิตตลีลา และ ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงและผู้หญิงมานำเสนอ จนมีกระแสโด่งดังไปถึงต่างประเทศ และต่อยอดมาเป็นภาคที่สองในปี 2555
ก้าวข้ามจากยุคของละครไทยมายังช่วงเวลาที่ซีรีส์เริ่มเป็นที่นิยมในไทย ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2556 บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ครอบครัว และความรักของวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ รวมทั้งพูดถึงความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ อย่างเปิดเผย ผ่านตัวละคร ภู (มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกําพล) ธีร์ (ตั้ว-เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์) คู่รักชายรักชาย และ ก้อย (เบลล์-เขมิศรา พลเดช) ดาว (ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล) คู่รักหญิงรักหญิง จนกลายเป็นซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญให้กับวงการบันเทิงไทย
นอกจากกระแสคู่จิ้นที่โด่งดังไปถึงต่างประเทศ ผู้ชมยังได้เห็นแง่มุมชีวิตและความรักของ LGBTQ+ ในมุมที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ทั้งความสับสนในความรู้สึกของตัวเองและการต้องเปิดเผยสิ่งที่เป็นกับคนรอบข้าง ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยไปจนถึงต่อต้าน
ฉากที่ดาวโดนเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งและล้อความสัมพันธ์ของเธอกับก้อย ด้วยการนำเครื่องดนตรีฉิ่งมาเล่นล้อเลียนทั้งคู่ต่อหน้าเพื่อนๆ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่เปิดรับของคนรอบข้างและการต้องก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของคู่รัก LGBTQ+ ในสังคม
กระทั่งเข้ามาสู่ยุคของซีรีส์วาย ซึ่งเริ่มต้นมาจากกระแสของ Love Sick The Series ซีรีส์วายเรื่องแรกของไทยที่แจ้งเกิดนักแสดงนำอย่าง กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง และ ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเหมือนการจุดประกายให้วงการบันเทิงไทยหันมานำเสนอเรื่องราวความรักของชายรักชายมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสวายฟีเวอร์อย่างในปัจจุบัน
หากมองในแง่หนึ่ง การเกิดขึ้นซีรีส์วายซึ่งนำเสนอความรักของผู้ชายสองคนได้อย่างเปิดเผย นับเป็นก้าวที่สำคัญในการเปิดรับความรักของกลุ่ม LGBTQ+ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าการเกิดขึ้นของซีรีส์วายก็มาพร้อมการสร้างภาพจำหรือความเข้าใจผิดบางอย่างให้กับผู้ชมที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+ เช่นเดียวกัน
“เราไม่ได้ชอบผู้ชาย แต่เราชอบนายคนเดียว”
ในระยะแรกตัวละครหลักของเรื่องมักเลือกที่จะยอมรับความรู้สึกของตัวเองว่าการชอบผู้ชายไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นเกย์ แต่เป็นเพราะชื่นชอบผู้ชายคนนี้คนเดียว ประโยคเหล่านี้กลายเป็นการกีดกันและกดทับความหลากหลายของ LGBTQ+ ที่แม้ระยะหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงบทซีรีส์ให้ตัวละครยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่แรก แต่ภาพจำของความเป็นชายและหญิงที่นำเสนอผ่านตัวละครชายร่างสูงและตัวละครชายตัวเล็กหน้าตาน่ารัก ก็ยังเป็นกับดักของซีรีส์วายไทยที่ยังไม่สามารถทำลายกรอบเหล่านี้ไปได้หมด
นอกจากนี้แม้ซีรีส์วายจะเป็นการเปิดให้ผู้ชมได้เห็นความรักในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังขาดการเล่าถึงตัวอักษรอื่นๆ ในกลุ่ม LGBTQ+ และมีเพียงตัวอักษร G หรือเกย์ ที่ถูกนำเรื่องราวมาบอกเล่าเท่านั้น รวมทั้งบางครั้งเราอาจพบเห็นตัวละคร LGBTQ+ ยังคงถูกนำเสนอให้เป็นตัวตลกและสร้างสีสันในซีรีส์วายบางเรื่องไม่ต่างจากในอดีต
ต่อมาในปี 2559 Gay OK Bangkok ซีรีส์ออนไลน์ที่นำเสนอความรักของเกย์ในแบบที่หลายคนมองว่าตรงและแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นจากซีรีส์เรื่องไหน แต่ถึงอย่างนั้นซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้หยิบยกเรื่องราวความสัมพันธ์ของพวกเขามาเล่าอย่างจริงใจผ่านพื้นหลังของกรุงเทพฯ สถานที่ที่เราคุ้ยเคยกันเป็นอย่างดี
Gay OK Bangkok นับเป็นมิติใหม่ของซีรีส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ อย่างแท้จริง เพราะผู้ชมได้เห็นเรื่องราวที่มีต้นแบบมาจากชีวิตจริงของพวกเขา ถึงแม้จะไม่สวยงามอย่างซีรีส์วายที่เราเคยรับชม แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องเจอและก้าวผ่าน เป็นมิติใหม่ที่เปิดเปลือยโลกความรักและความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ ให้ผู้ชมได้สัมผัส แต่น่าเสียดายที่ซีรีส์ออนไลน์เรื่องนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มที่ค่อนข้างจำกัด และไม่ได้มีกระแสมากพอที่จะส่งเสียงไปถึงผู้คนกลุ่มใหญ่ในสังคม
ปัจจุบันความรักของ LGBTQ+ ปรากฏให้เห็นมากขึ้นผ่านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์วาย เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ในโลกภาพยนตร์ก็มีการหยิบยกเรื่องราวความรักของ LGBTQ+ มานำเสนอมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (2560) จากฝีมือการกำกับของ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเจ้าของไร่มะลิที่มีอดีตฝังใจกับชายหนุ่มผู้มีโรคร้ายติดตัว ความรักของผู้ชายสองคนถูกเล่าออกมาอย่างงดงามและละเมียดละไม เหมือนการค่อยๆ ร้อยดอกมะลิเป็นบายศรี สะท้อนมิติความสวยงามของทุกความรัก ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม
ต่อมาในปี 2562 ภาพยนตร์เรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ก็เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ตั้งคำถามถึงเรื่องเพศสภาพของตัวละครว่า หากคนรักได้เกิดมาในตัวตนใหม่และมีเพศที่เปลี่ยนไป เราจะยังรักเขาคนนั้นเหมือนเดิมหรือเปล่า เป็นภาพยนตร์ที่พาผู้ชมก้าวเข้าไปสำรวจการมีอยู่ของ LGBTQ+ ในสังคมที่ถูกตีกรอบจากคนรอบข้าง จนพวกเขาไม่สามารถมีความรักต่อกันได้
หากค่อยๆ ย้อนมองพัฒนาการเส้นทางความรักของ LGBTQ+ ตั้งแต่มื่อยี่สิบปีก่อนจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่ามีการปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากตัวละครที่สร้างสีสันสู่การมีพื้นที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตนได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งความรักที่เคยถูกมองว่าไม่มีอยู่จริงในกลุ่ม LGBTQ+ วันนี้พวกเขาเองก็มีเรื่องราวความรักที่สวยงามโลดแล่นอยู่ในโลกภาพยนตร์และละครเช่นเดียวกัน
แต่นอกจากการนำเสนอเรื่องราวความรักที่สวยงาม เราก็อยากจะเห็นความรักของพวกเขาได้มีสิทธิ์เท่าเทียมกับทุกๆ เพศ เพราะหาก LGBTQ+ สามารถมีตอนจบที่สวยงามได้แค่ในสื่อบันเทิง แต่ในชีวิตจริงต้องทนทุกข์กับความไม่เท่าเทียม ไม่สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสได้อย่างคู่รักเพศอื่นๆ ก็คงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งและน่าเศร้าไม่น้อย
เมื่อไม่นานมานี้จึงเริ่มมีซีรีส์ที่พูดถึงความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมมากขึ้น เช่น Not Me เขา…ไม่ใช่ผม ซีรีส์วายที่ตีแผ่ปัญหาสังคมและแสดงจุดยืนในการเรียกร้องสมรสเท่าเทียมอย่างชัดเจน และ นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ ซีรีส์วายที่บอกเล่าถึงการเเต่งงานของผู้ชายสองคน ซึ่ง อ๊อฟชั่น กิตติพัฒน์ จำปา ผู้กำกับของเรื่อง มีความตั้งใจในการผลักดันและนำเสนอประเด็นนี้ผ่านซีรีส์เช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นของวงการสื่อที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็เป็นความหวังให้กับเราว่า สักวันหนึ่งการร่วมมือของสื่อและประชาชนจะสามารถเปล่งเสียงที่ดังมากพอ จนสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐมองเห็นปัญหาของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมได้
วันนั้นอาจจะเป็นวันที่ความรักของ LGBTQ+ จะได้รับความเท่าเทียมและลงเอยอย่างสวยงามเหมือนในโลกภาพยนตร์และละครในสักวัน