×

ความรักคือยาวิเศษ เผยผลวิจัยนักกีฬาทำผลงานดีขึ้นหรือไม่เมื่อกำลังตกหลุมรัก

14.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โอลิมปิกฤดูหนาวที่พย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยระหว่างการแข่งขัน #LoveHappens เป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักกีฬาที่ค้นหาความรักผ่านแอปฯ ที่มีชื่อว่า Tinder
  • ที่ผ่านมาในมหกรรมกีฬาต่างๆ มีนักกีฬาพบรักจนสุดท้ายแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกันจนถึงปัจจุบัน แต่ก็เกิดคำถามว่าความสำเร็จในสนามของนักกีฬาดีขึ้นหรือไม่จากความรักนอกสนาม
  • งานศึกษาที่ตีพิมพ์โดย Canadian Center of Science and Education  สัมภาษณ์นักกีฬาโอลิมปิก 20 คน และค้นพบว่านักกีฬาส่วนใหญ่ (15 จาก 20 คน) เห็นด้วยว่าความรักที่ดีช่วยส่งเสริมผลงานในสนาม
  • นิยามความรักที่ดีสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมงานศึกษา คือ Compassionate Love หรือความรักที่พร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจ และวางแผนไปสู่อนาคตร่วมกัน

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2018 ที่พย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ นับว่าเป็นหนึ่งในโอลิมปิกฤดูหนาวที่อากาศหนาวเย็นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน แต่ในการแข่งขันปีนี้มีความพิเศษตรงที่การแข่งขันเกิดขึ้นในช่วงวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งหนึ่งในแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้คือ #LoveHappens ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่นักกีฬาใช้หาคู่ผ่านแอปพลิเคชัน Tinder ในระหว่างการแข่งขัน

 

คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรสำหรับนักกีฬาที่อยู่ในช่วงเวลาที่แข็งแรงที่สุดในชีวิต และกำลังลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเรื่องราวการเดินทางของความรักมาพบกันในการแข่งขันเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่คำถามที่เกิดขึ้นสำหรับนักกีฬาหลายๆ คน คือความสำเร็จในสนามของนักกีฬาดีขึ้นหรือไม่จากความรักนอกสนาม

 

Alexa Scimeca Knierim and Chris Knierim นักกีฬาสเกตลีลาทีมชาติสหรัฐฯ ที่พบรักกันผ่านโค้ชเมื่อปี 2012 ก่อนจะลงแข่งขันด้วยกันจนได้แชมป์สหรัฐฯ ปี 2015 และแต่งงานกันในปี 2016

 

จากคำถามนี้ THE STANDARD ได้ค้นพบงานศึกษาที่มีชื่อว่า Does Love Influence Athletic Performance? The Perspectives of Olympic Athletes  หรือความรักมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานในสนามของนักกีฬาหรือไม่? จากมุมมองของนักกีฬาโอลิมปิก ที่จัดพิมพ์ลง Canadian Center of Science and Education เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016

 

โดยงานศึกษานี้ได้ทำการสำรวจนักกีฬาโอลิมปิกจำนวน 20 คน แบ่งเป็น ชาย 19 หญิง 1 จากประเทศเบลารุส แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ ยูเครน และ สหรัฐอเมริกา ในช่วงอายุระหว่าง 18-33 โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28.14 ปี

 

นักกีฬา 20 คนที่กำลังมีความรักต้องตอบคำถามว่า ผลงานในสนามของคุณดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงเวลาที่มีความรัก?

 

ผลปรากฏว่านักกีฬา 15 คนยอมรับว่าพวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่มีความรัก โดยนักกีฬาเชื่อว่าการมีคู่ครองที่ช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจ รวมถึงช่วยบริหารจัดการชีวิตครอบครัว ช่วยให้พวกเขามีเวลาในการฝึกซ้อมมากขึ้น และนั่นเป็นการส่งผลโดยตรงต่อผลงานในสนาม

 

Jamie Greubel Poser จากสหรัฐฯ และ Christian Poser จากเยอรมนี สองนักกีฬาจากสองประเทศที่พบรักกันเมื่อปี 2012 แต่ทั้งคู่ต่างไม่สามารถพูดภาษาของอีกฝ่ายได้ จนสุดท้ายต้องใช้ Google Translate เป็นแม่สื่อ ที่นำไปสู่การแต่งงานกันในปี 2014 หลังโอลิมปิกฤดูหนาวโซชิ ประเทศรัสเซีย

 

นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญคือการมีภรรยาและลูกช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นให้ประสบความสำเร็จในสนามมากขึ้น เหมือนที่นักกีฬาคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

 

“เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผมมาก ที่ได้รู้ว่าภรรยาและลูกของผมกำลังดูอยู่ในสนาม ผมทำผลงานได้ดีกว่าเพราะว่าผมต้องการให้ลูกของผมภูมิใจในตัวของพ่อเขา”

 

ขณะที่นักกีฬาอีก 5 คนรู้สึกไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วความรักช่วยเหลือพวกเขาในสนามหรือไม่ โดยหนึ่งในนั้นบอกว่า “ผมมีคนที่คบหาอยู่แต่ผมฝึกซ้อมมากกว่าเดิม และผมคิดว่าผลงานในสนามของผมดีขึ้นจากการฝึกซ้อม ผมเลยไม่แน่ใจว่าความรักเกี่ยวข้องหรือไม่”

 

ส่วนนักกีฬาอีกคนบอกว่า “ขึ้นอยู่กับว่าแฟนของผมขี้หึงหรือเปล่า” ซึ่งเขาเชื่อว่าในระหว่างที่เขามีความรักกับแฟนที่มั่นคง ผลงานในสนามของเขาจะดีขึ้น ขณะที่ถ้าแฟนไม่มีความมั่นคง จะนำมาซึ่งความเครียด และสร้างผลเสียต่อผลงานในสนาม

 

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ความรักจะส่งผลดีต่อนักกีฬาอาชีพมากกว่านักกีฬาสมัครเล่น เนื่องจากนักกีฬาสมัครเล่นจะมีความเครียดจากการบริหารจัดการเงิน และแผนการฝึกซ้อมที่ไม่เป็นเวลา ซึ่งการมีความรักอาจส่งผลเสียต่อการฝึกซ้อมและเพิ่มความเครียดมากขึ้น

 

ผลสรุปของงานศึกษาชิ้นนี้ แม้ว่าผู้ศึกษาจะยอมรับว่าข้อมูลที่ได้มาน้อยมากเกินกว่าที่จะสามารถตอบคำถามได้ เนื่องจากเป็นเพียงนักกีฬาแค่ 20 คน และเป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด แต่บทสรุปที่ได้จากการสอบถามพบว่านักกีฬาจะได้ประโยชน์จากความรักแบบ Compassionate Love มากที่สุด

 

โดยภายในงานศึกษาชิ้นนี้ได้นำทฤษฎี Triangle of Love ของนักจิตวิทยาชื่อ ศ.ดร.โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) แห่งภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล มาใช้ โดยทฤษฎีความรักนี้มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ Intimacy ความใกล้ชิด ผูกพัน Passion ความรู้สึกหลงใหล ถูกใจในรูปแบบภายนอก Commitment คือ ความรักในระยะยาว มีการวางแผนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน ซึ่ง Triangle of Love ของสเติร์นเบิร์ก จะแบ่งสถานภาพความรักออกเป็น 7 ข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ Compassionate Love

 

ซึ่งความรักแบบ Compassionate Love คือความรักที่ผสมระหว่าง Intimacy และ Commitment ความรักแบบนี้มักพบเจอได้ในคู่รักที่แต่งงานกันไปแล้ว หรือเป็นความรักที่ยังคงอยู่หลังจาก Passion ได้หมดลง และตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน รวมถึงวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความรักแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่เป็นความรักที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปที่ไม่มีความปรารถนาด้านตัณหา จึงเป็นความรักที่ยั่งยืนที่สุด เช่น ความรักของคนในครอบครัว ความรักของโค้ชที่มีต่อนักกีฬา ความรักของเพื่อนร่วมทีมที่พร้อมจะให้กำลังใจและสนับสนุนกันและกัน  

 

อีกหนึ่งตัวอย่างของเบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากผู้ฝึกสอนเช่นกัน โดยนักกีฬาที่รู้สึกว่าการให้กำลังใจและคำชื่นชมของโค้ชมีความจริงใจ นักกีฬาคนนั้นจะมีความมั่นใจมากขึ้น และมีความสุขในการลงเล่น ขณะที่นักกีฬาที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากโค้ชจะทำผลงานได้ไม่ดีนัก

 

เช่นเดียวกับคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมทีม ที่จะส่งผลให้นักกีฬารู้สึกมีส่วนร่วมและเล่นกีฬาได้อย่างต่อเนื่อง หากนักกีฬาคนนั้นแวดล้อมด้วยคนรอบข้างที่มองโลกในแง่ดี และมิตรภาพที่ดีต่อกัน

 

ทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะไม่ได้เกิดจากความรักที่ร้อนแรง แต่เป็นความรักที่เกิดจากความเข้าใจ ความเอาใจใส่ ความมุ่งมั่น และความหวังดีที่มีให้กัน ซึ่งทุกอย่างที่ได้กล่าวมานี้อาจเป็นสมการที่เพียงพอแล้วสำหรับคู่ที่กำลังคบหาดูใจ หรือกำลังฟันฝ่าอุปสรรคอะไรบางอย่างร่วมกัน

 

บางทีความเข้าใจรูปแบบของ Compassionate Love อาจช่วยให้คุณผ่านมันไปด้วยกันได้ เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X