หากเราต้องพูดถึงความรู้สึกหลังชมแฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของ Virgil Abloh (เวอร์จิล แอบโลห์) ที่ Louis Vuitton เราก็ต้องบอกว่า “ชีวิตคนเรากำหนดจุดจบไม่ได้ แต่ในช่วงเวลาที่เราอยู่บนโลกใบนี้ จงใช้มันให้คุ้มค่า และใช้พลังและแรงศรัทธาของตัวเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เราทำได้”
ย้อนกลับไปเกือบ 4 ปีที่แล้ว ช่วงเดือนมีนาคมปี 2018 หลายคนที่ติดตามข่าวสารวงการแฟชั่นคงจำกันได้อย่างดีว่านาทีที่ Louis Vuitton ประกาศว่า Virgil Abloh ได้รับเลือกให้มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ของกลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายต่อจาก Kim Jones พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นดีไซเนอร์ผิวดำคนแรกที่ได้ตำแหน่งระดับสูงสุดในแบรนด์ กระแสที่ถูกตีกลับมาก็ไม่ใช่แค่คำชื่นชมอย่างเดียว แต่ก็เต็มไปดูการวิพากษ์วิจารณ์ การดูถูก และการตัดสินความสามารถของคนก่อนที่เขาจะมีโอกาสได้โชว์ความสามารถของเขาด้วยซ้ำ แค่เพราะว่าเขาอาจจะไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่มาพร้อมคุณสมบัติและประสบการณ์ตามแม่แบบที่เราคุ้นเคยกันดี โดยสำหรับหลายคนแล้ว การที่ผู้ชายผิวดำคนหนึ่งที่เป็นลูกชายผู้อพยพชาวกานาและเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธาอาจไม่ดีพอสำหรับเขา
แต่สำหรับแฟชั่นโชว์ Louis Vuitton Fall/Winter 2022 ที่จัด ณ อาคาร Carreau du Temple ใจกลางกรุงปารีสเมื่อคืนที่ผ่านมา (20 มกราคม) เชื่อได้ว่าหลายคนที่ดูอยู่ขอบรันเวย์หรือที่ดูไลฟ์จากบ้านก็จะรู้สึกได้ว่าแบรนด์ลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลกไม่ได้คิดผิดมาตั้งแต่ต้นที่ได้ Virgil Abloh มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เพราะไม่เพียงแต่ผลงานการดีไซน์ของเขาได้ช่วยให้ Louis Vuitton ทำรายได้เป็นหมื่นๆ ล้านต่อปี แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ เขาสามารถทลายกำแพงมากมายที่ถูกปิดกั้นต่อคนที่สีผิวเหมือนเขา และได้ดิสรัปต์วงการถึงขั้นที่ว่าทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร เชื้อชาติอะไร หรือมีรูปร่างแบบไหน ความฝันที่วันหนึ่งอยากทำงานที่แบรนด์แฟชั่นบนยอดพีระมิดของวงการก็เกิดขึ้นได้ เพราะ Virgil Abloh ทำมาให้เห็นแล้ว
โชว์ในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า ‘Louis Dreamhouse’ มีนายแบบ 67 ชีวิต และแดนเซอร์อีก 20 คนมาสวมใส่เสื้อผ้าจากคอลเล็กชันสุดท้ายของ Virgil Abloh ที่ทำเสร็จมาแล้ว 95% ก่อนที่ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันคนนี้จะเสียชีวิตในวัย 41 ปีเมื่อปลายปีที่แล้วจากโรคมะเร็ง โดยภาพรวมของคอลเล็กชันนี้ก็เป็นการเฉลิมฉลองผลงานไฮไลต์ที่ Virgil Abloh ได้ทำมาที่ Louis Vuitton ซึ่งโดดเด่นเรื่องการนำกลิ่นอายสตรีทแวร์มาผสมผสานกับการตัดเย็บ Tailoring ในบรรดาลุคสูทต่างๆ การทำแอ็กเซสซอรี เช่น หมวกทรงบาสเกตบอล รองเท้าสนีกเกอร์ และการนำกระเป๋าทรงฮิตของแบรนด์อย่าง LV Keepall มานำเสนอในเวอร์ชันที่จัดจ้านมากยิ่งขึ้น โดยในทุกคอลเล็กชันของ Virgil Abloh เขาก็อยากสะท้อนบริบทคอนเซปต์ที่เขาเรียกว่า Boyhood ที่เปรียบเสมือนการมองโลกผ่านสายตาของเด็กที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการว่าทุกอย่างที่ตนเองใฝ่ฝันสามารถเกิดขึ้นจริงได้บนโลกใบนี้
นอกเหนือจากนี้แล้ว ทาง Virgil Abloh ก็ไม่พลาดที่จะศึกษาผลงานศิลปะ ซึ่งในครั้งนี้เราก็ได้เห็นผลงานของ Gustave Courbet ศิลปินชาวฝรั่งเศลจากยุค Realism และผลงานของ Giorgio de Chirico เจ้าพ่อยุค Scuola Metafisica มาอยู่บนมูดบอร์ด และถูกตีความผ่านลุคไฮไลต์ที่เน้นไปที่ไอเท็ม Outerwear เช่น โค้ตยาวและแจ็กเก็ตเป็นหลัก แถมลุคท้ายๆ ของคอลเล็กชันก็มาในโทนสีขาวประดับปีกนก หรือบางคนอาจตีความว่าปีกนางฟ้ากลิ่นอาย Leonardo da Vinci ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นไอเดียของ Virgil Abloh เองตั้งแต่ต้น หรือเป็นของทีมงานเขาที่ตัดสินใจเพิ่มมาตอนหลังเพื่อสะท้อนว่าหัวหน้าของพวกเขาได้โบยบินไปอยู่เหนือเมฆแล้ว
ที่ต้องพูดถึงด้วยกับโชว์นี้ก็คือการที่ได้แรปเปอร์ Tyler, The Creator มาช่วยทำดนตรีประกอบโชว์ให้ได้อย่างงดงาม โดยเขาก็ชวนให้กลุ่มวงดุริยางค์จากประเทศอังกฤษอย่าง Chineke! Orchestra มาเล่นให้ ซึ่งวงดุริยางค์ชื่อดังนี้ก็ประกอบไปด้วยนักดนตรีจากคนชนกลุ่มน้อยของสังคม ไม่ว่าจะคนผิวดำและคนเอเชีย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่ Virgil Abloh ช่วยผลักดันและสร้างความอินคลูซีฟมาเสมอกับคนที่เขาทำงานด้วยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
คำถามยอดฮิตต่อไปที่เชื่อว่าอยู่ในใจหลายๆ คนตอนนี้ก็คือ ใครจะมารับหน้าที่แทน Virgil Abloh ที่ Louis Vuitton ซึ่งล่าสุดทาง Michael Burke ประธานและซีอีโอของแบรนด์ ก็ได้บอกกับเว็บไซต์ WWD ว่าเขายังไม่ได้รีบที่จะต้องหาครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ตอนนี้ เพราะยังอยากให้เกียรติดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับ ซึ่งเขาก็บอกว่าเป็นไปได้ว่าช่วงซีซันต่อๆ ไปก็อาจจะเน้นผลงานที่ดีไซน์โดยทีมภายในแบรนด์ไปก่อนและมีการทำคอลลาบอเรชันกับนักสร้างสรรค์คนอื่น แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ทาง Louis Vuitton ต้องเลือกครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่แล้ว ทาง Michael Burke ก็บอกว่าเขาไม่ได้ปิดกั้นใครทั้งสิ้น และเปิดกว้างที่จะให้ผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งด้วยซ้ำหากเข้ากับแบรนด์ได้ แต่ที่ Michael Burke ตอกย้ำก็คือ มันหมดยุคของวงการแฟชั่นแล้วที่คนใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นดีไซเนอร์โปรไฟล์ดังๆ ที่จะมาสร้างกระแสได้ เพราะเอาเข้าจริงคอลเล็กชันเสื้อผ้าก็เป็นเสี้ยวเดียวของอาณาจักรธุรกิจ Louis Vuitton ทั้งหมด
ปิดท้าย หากแฟชั่นเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือให้คนเราได้สามารถใช้จินตนาการของตัวเองและสร้างความฝันเหมือนที่ Virgil Abloh พูดมาเสมอ สิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวเล่นๆ ก็คือ Virgil Abloh และ Andre Leon Talley บรรณาธิการแฟชั่นชื่อดังที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็น่าจะกำลังมีบทสนทนาร่วมกันเบื้องบน พร้อมมองลงมาที่โชว์ในครั้งนี้ และได้เห็นว่าสิ่งที่ทั้งสองได้ช่วยกันทำให้เกิดขึ้นในแวดวงแฟชั่นในฐานะคนผิวดำสองคนก็มหาศาลเหลือเกิน ซึ่งใครจะไปนึกว่าในวันนี้บนรันเวย์ Louis Vuitton จะเต็มไปด้วยนายแบบผิวดำ และเป็นผลงานของคนผิวดำอย่าง Virgil Abloh ส่วนที่นั่งอยู่แถวหน้าของรันเวย์ก็มีดาราและนักข่าวคนดำมากมาย ที่เมื่อก่อนมีแค่ Andre Leon Talley คนเดียวด้วยซ้ำที่จะมีที่นั่ง โดยทั้งหมดทั้งมวลของการใช้จินตนาการในหัวเราก็เป็นการหวังว่า ต่อไปพอเราไม่มีคนอย่าง Virgil Abloh และ Andre Leon Talley แล้วเพื่อมาเป็นแรงขับเคลื่อนและกระบอกเสียงสำคัญให้ทุกคนได้มีโอกาส มีที่ยืนในวงการแฟชั่น เราก็ได้แค่หวังว่าต่อไปสิ่งที่พวกเขายืดมั่นจะถูกสานต่อไปเรื่อยๆ และวงการแฟชั่นก็จะไม่เลือกเดินถ้อยหลัง แต่เดินหน้าต่อไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: