กระแส Quiet Luxury หรือการใช้จ่ายอย่างมีรสนิยมแต่ไม่โอ้อวด ที่โด่งดังในปี 2023 อาจต้องหลีกทางให้กับกระแสใหม่ของปี 2024 กับ Loud Budgeting หรือการประกาศความประหยัดอย่างภาคภูมิใจ โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน TikTok ไวรัลของ Lukas Battle ที่อธิบายว่า Loud Budgeting ไม่ใช่การบอกว่า ‘ฉันไม่มีเงิน’ แต่เป็น ‘ฉันไม่อยากใช้เงิน’
และดูเหมือนว่าการรัดเข็มขัดสุดเท่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่เศรษฐกิจอาจไม่เป็นใจ การแสดงความมัธยัสถ์อย่างมีชั้นเชิงกำลังกลายเป็นที่นิยม แม้กระทั่งเหล่าผู้มีอันจะกินก็เลือกที่จะ Loud Budgeting เพราะพวกเขาก็ ‘เกลียดการใช้เงิน’ เหมือนกัน
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องตัดขาดสังคมไปเลย Battle ย้ำว่านี่ไม่ใช่การตัดสินคนอื่น หากคุณอยากใช้เงินก็เต็มที่ แต่ฝั่ง Loud Budgeter (นักประหยัดเงิน) จะภาคภูมิใจที่พวกเขาไม่ใช้เงินไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย
หลายคนมองว่าแนวทาง Loud Budgeting เป็นส่วนหนึ่งของ Recessioncore ที่เกิดขึ้นเมื่อราวปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ด้วยการเลือกสิ่งของที่เรียบง่ายแต่คงทน ไม่เน้นยี่ห้อดัง
ต่างจาก Quiet Luxury ที่บ่งบอกรสนิยมผ่านทางเสื้อผ้าและของใช้ การเป็น Loud Budgeting อาจมาในรูปแบบการปฏิเสธเพื่อนที่ชวนทำกิจกรรมที่ทำให้ต้องจ่ายเงิน การทำอาหารกินเอง หรือการคบหาเพื่อนในแบบที่สบายกระเป๋ามากขึ้น
แม้ Loud Budgeting อาจไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้นมาทันที แต่นักประหยัดเงินเหล่านี้อาจมีสถานะทางการเงินที่ดีกว่าพวกชอบอวดรวยในระยะยาว เพราะไม่มีอะไรจะดูดีไปกว่าความมั่นคงทางการเงิน
จุดเริ่มต้นของ Loud Budgeting เกิดจากตลกและนักเขียนอย่าง Lukas Battle ที่โพสต์แนวคิดนี้ลงบน TikTok เมื่อปลายปี 2023 โดยอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ Quiet Luxury อย่างสิ้นเชิง ไม่นานโพสต์นี้ก็เป็นไวรัล มีคนดูหลักล้าน และมีเหล่า Loud Budgeters แห่มาคอมเมนต์กันอย่างคึกคัก
“มันเริ่มต้นจากการเป็นแค่เรื่องขำๆ” Battle พูดถึงกระแสที่เขาก่อตั้งไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ “แต่เมื่อผมเห็นปฏิกิริยามากมายที่มีต่อเรื่องนี้ ผมก็เริ่มเชื่อมั่นในแนวคิดของตัวเองมากขึ้น การมีอิสรภาพทางการเงิน มีความมั่นใจ และเปิดเผยสถานะการเงินของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา สามารถเป็นอะไรที่เท่ได้พอๆ กับการอวดและพยายามซื้อหาของแพงๆ”
กลุ่ม Gen Z และ Millennials ผู้ใช้โซเชียลมีเดียตัวยงต่างได้เข้าหรือเริ่มทำงานในตลาดแรงงานช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด พวกเขาไม่ได้มีทรัพย์สินมากเท่าคนรุ่นก่อนและต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง เงินเฟ้อ ค่าที่พักอาศัยราคาแพง และการจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
แม้ว่าจะมีความรู้พื้นฐานทางการเงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ทำให้พวกเขาหิวกระหายความรู้ทางการเงินอย่างมาก จากข้อมูลของ TIAA Institute พบว่า Gen Z ประมาณ 52% และ Millennials ประมาณ 48% มีความกระตือรือร้นในการเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินของตัวเอง
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน และการพุ่งสูงของค่าครองชีพ ทำให้คนรุ่นใหม่กระหายความรู้ด้านการเงิน และไม่น่าแปลกใจที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นคลังข้อมูล แต่ที่แน่ๆ คงถึงเวลาที่แบรนด์หรูต้องปรับตัว เพราะเหล่า Loud Budgeters อาจไม่สนสินค้าที่ต้องจ่ายแพง แถมยังภาคภูมิใจที่พวกเขาใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดอีกด้วย
อ้างอิง: