×

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

23.11.2019
  • LOADING...
กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ไม่แปลกที่จังหวัดหัวเมืองเหนืออย่างเชียงใหม่ เชียงราย จะเป็นที่ที่ผู้คนฝันอยากพำนัก อยากปักหลัก อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตปัจจุบัน แล้วเริ่มต้นใหม่ที่นั่น เป็นจังหวัดยอดนิยมที่ทั้งคนต่างถิ่น รวมถึงคนที่เกิดและเติบโต ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐาน ด้วยความตั้งใจว่าจะเปิดกิจการเล็กๆ แล้วเรียกที่แห่งนั้นว่า ‘บ้าน’ 

วันหยุด ลมหนาว ปลายปี 

 

สามองค์ประกอบนี้ รวมกันเมื่อไร มักมีแรงผลักดันให้อยากออกเดินทางมากเป็นพิเศษ และจังหวัดทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ เชียงราย ก็มักเป็นจุดหมายลำดับต้นๆ ในใจของคนส่วนใหญ่

 

คงเป็นเพราะอากาศ อาหาร และธรรมชาติ ที่เพียงเปิดประตูบ้าน ขี่รถเครื่องออกไปไม่ไกล หรือนั่งรถยังไม่ทันเบื่อ ภูเขาก็อยู่ตรงหน้า มองไปซ้ายขวา กาดผักปลอดสารพิษ ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟก็มากมี ไหนจะตลาดขายของงานคราฟต์แบรนด์เล็กๆ อีกล่ะ 

 

ดีขนาดนี้ รื่นรมย์ใจขนาดนี้ ไม่แปลกที่จังหวัดหัวเมืองเหนือทั้งสอง จะเป็นที่ที่ผู้คนฝันอยากพำนัก อยากปักหลัก อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตปัจจุบัน แล้วเริ่มต้นใหม่ที่นั่น เป็นจังหวัดยอดนิยมที่ทั้งคนต่างถิ่น รวมถึงคนที่เกิดและเติบโต ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐาน ด้วยความตั้งใจว่าจะเปิดกิจการเล็กๆ แล้วเรียกที่แห่งนั้นว่า ‘บ้าน’

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ภูเขา สายลมหนาว มีหมอกลอยอ้อยอิ่ง ช่างเป็นภาพและบรรยากาศที่สวยงาม แสนโรแมนติก

 

แต่การหันหลังให้เมืองใหญ่เพื่อลงหลักปักฐาน ซึ่งขอกาดอกจันว่า ‘ต้องอยู่รอดให้ได้’ ไม่ใช่เรื่องโรแมนติก 

 

นอกจากต้องกล้าหาญและอดทน การอยู่ให้ได้ในต่างจังหวัด ถึงแม้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองปราบเซียน การวางแผนที่ตั้งอยู่บนความจริง คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก 

 

คนภายนอกอาจมองชาวเชียงใหม่เชียงรายว่าใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ดีจังเลย ชิลดีเนอะ 

 

ความผ่อนคลายสบายๆ ที่เรามองเห็น เป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมภาพใหญ่เท่านั้น ชีวิตของพวกเขาช้ากว่าชาวเมืองหลวงก็จริง แต่ความช้านี้หมายถึงจังหวะที่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง ไม่อาจเหมารวมกับความเฉื่อยเนือยเรื่อยเปื่อย เพราะขืนมัวแต่เอิงเอย 

 

มันจะไม่มีกินเอา

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ขึ้นเหนือช่วงปลายฝนที่ผ่านมา เราปักหมุดไปที่ร้าน LOCAL Coffee ร้านกาแฟของคู่สามีภรรยาที่ย้ายกลับไปอยู่เชียงรายเมื่อสองปีก่อน ซึ่งความตั้งใจที่จะกลับไปอยู่บ้าน คือพันธสัญญาที่แป๋วและโน้ต หรือลลิล และพงศกร อารีศิริไพศาล ให้ไว้ต่อกันในวันที่ทั้งสองใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยกำหนดเวลาไว้ว่า หากมีลูกจะย้ายกลับไปอยู่เชียงรายซึ่งเป็นบ้านเกิดของแป๋ว เพื่อให้ลูกได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่ากรุงเทพฯ  

 

แป๋วเคยทำงานเอเจนซี ดูแลในส่วนอีเวนต์ โน้ตเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งคู่สนใจเรื่องกาแฟ ความหลงใหลเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับแรงเชียร์ให้เปิดร้านจากเพื่อนพ้องน้องพี่ร้าน Gallery กาแฟดริป ซึ่งแป๋วและโน้ตเริ่มต้นจากการเป็นลูกค้า จนกลายเป็นเพื่อน โดยได้เข้าไปช่วยงานที่ร้าน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องกาแฟ การชง และการจัดการร้าน ระหว่างนั้นแป๋วก็เรียนทำขนม ส่วนโน้ตก็ศึกษาและฝึกฝนการคั่วกาแฟ ทั้งสองเริ่มเตรียมความพร้อมนานกว่าสามปีในช่วงที่เวโล ลูกชายตัวน้อยค่อยๆ เติบโตขึ้น 

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ร้าน LOCAL Coffee ของแป๋วและโน้ตตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพักอาศัย มีโรงคั่วขนาดย่อมอยู่ด้านข้าง เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงเสาร์ ตลอดเวลาราวสองชั่วโมงที่นั่งคุยกัน มีลูกค้าเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนและสังคมเล็กๆ ของทั้งสอง แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ทั้งคู่เบาใจเรื่องรายได้ แน่นอนว่าได้ผ่านด่านช่วงทดสอบกำลังใจมาแล้ว ซึ่งด่านเหล่านี้อยู่ในการเตรียมการตั้งแต่ยังทำงานที่กรุงเทพฯ รวมถึงยังวางแผนสำรองเผื่อไว้ กรณีร้านกาแฟไปไม่รอด 

 

หากนับเรื่องรายได้ ทั้งสองบอกว่าในแง่ตัวเลข อาจไม่มากเท่าเมื่อครั้งทำงานประจำที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ได้กลับมามากกว่าคือเวลาและสุขภาพทั้งกายและใจ

 

ทุกเย็นหลังเลิกร้าน โน้ตจะไปเตะบอล วิ่ง และโยคะ ส่วนแป๋วโยคะสลับกับวิ่ง เช่นเดียวกับเวโลที่เริ่มสนุกกับการเตะบอลกับพ่อ และแน่นอนมีเวลาได้วิ่งเล่นกับเพื่อนอย่างเหลือเฟือ แทนที่จะใช้ชีวิตติดอยู่บนถนนช่วงเช้าและเย็นเหมือนก่อน   

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ทุกวันนี้โน้ตยังคงบินกรุงเทพฯ-เชียงราย เช้าไปเย็นกลับเพื่อสอนหนังสือ เพราะยังมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ส่วนแป๋ว วันที่ต้องโซโลคนเดียว แน่นอนจะยุ่งเป็นพิเศษ แต่ความน่ารักคือ “วันที่พี่โน้ตไปสอนหนังสือ ลูกค้าประจำก็จะไม่มา เขาเกรงใจแป๋ว” 

 

“หรือบางคนก็มานั่งเป็นเพื่อนแป๋วที่ร้าน” โน้ตเสริม   

 

ปลายเดือนธันวาคมนี้ ร้าน LOCAL Coffee จะครบสองปีของการเปิดดำเนินการ ตลอด 24 เดือนที่ผ่านมา ทั้งคู่มั่นใจเพิ่มขึ้นทุกวันว่าตัดสินใจไม่ผิดที่กลับบ้าน และแม้จะผ่านความสุ่มเสี่ยงในช่วงเทกออฟมาแล้ว แต่แป๋วและโน้ตยังคงเตรียมการและวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อจะใช้ชีวิตอย่างช้าๆ แต่สนุก และมีความสุขในแบบของเขาและเธอ

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

เช่นเดียวกับแป๋วและโน้ต เมย์และวินย้ายจากกรุงเทพฯ กลับไปอยู่เชียงใหม่เพราะสุขภาพเป็นหลัก เมย์ หรือสุกานดา และวิน หรือสุวิน ท้วมประเสริฐ เปิดเกสต์เฮาส์เล็กๆ ในซอยวัดอุโมงค์ได้หกปีแล้ว แต่ทั้งคู่ย้ายกลับมาก่อนหน้านั้นสองปี โดยสร้างบ้านซึ่งเป็นอาคารสองหลัง ห้าห้องนอน และอีกหนึ่งคาเฟ่ ได้อย่างน่าอัศจรรย์บนที่ดินเพียง 80 ตารางวา

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ทันทีที่ก้าวเข้าไปใน ‘รื่นอารมย์’ ก็นึกสงสัยว่าเมย์กับวินน่าจะเคยทำงานในสายสถาปัตยกรรมหรือออกแบบตกแต่งภายใน เพราะโถงในส่วนของคาเฟ่นั้นออกแบบได้สูงโปร่ง โดดเด่น และให้ความรู้สึกอบอุ่นและรื่นรมย์ใจในย่างก้าวแรก สมกับชื่อบ้านที่ตั้งไว้ 

 

“ตอนสร้างบ้าน เราบอกสถาปนิกว่าอยากได้บ้านอยู่สบาย รื่นอารมณ์ ประหยัดพลังงาน ใช้เครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด และขอหน้าต่างทรงยาว” เมย์เริ่มต้นเล่าถึงการสร้างบ้านเมื่อแปดปีก่อน

 

สายงานที่ทั้งคู่เคยทำไม่ใกล้เคียงกับการคาดเดาของเราเลย เมย์เคยทำงานเป็นเทคนิคอลเซล ส่วนวินอยู่ในงานค้าปลีกของซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ ทั้งคู่หนีน้ำท่วมใหญ่จากเมืองกรุงขึ้นมาเมืองเหนือเมื่อปี 2554 และเป็นจังหวะเดียวกับสุขภาพของเมย์ไม่ดี ทำให้การตัดสินใจย้ายกลับมาปักหลักที่เชียงใหม่เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึง 8 ปี

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

นอกจากอยากทำบ้านให้อยู่สบายอย่างรื่นรมย์ใจแล้ว ทั้งสองตั้งใจให้บ้านสร้างรายได้ให้ด้วย จึงออกแบบอาคารสองหลังหันหน้าเข้าหากัน เว้นพื้นที่ตรงกลางเป็นทางเดิน ด้านหนึ่งคือห้องนอน ห้องครัว และคาเฟ่ที่มีเพดานสูงกว่าหกเมตร “อยากได้สูงๆ แต่นี่มันสูงไปครับ” วินเล่าด้วยรอยยิ้ม อีกอาคารคือห้องพักสี่ห้องที่เปิดให้บริการในคอนเซปต์ ‘มานอนบ้านเพื่อน’ ห้องทั้งสี่จึงตั้งชื่อห้องเป็นชื่อเพื่อนสนิทของทั้งคู่ และตกแต่งตามคาแรกเตอร์ของเพื่อนคนนั้น

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

งานบริการให้ประสบการณ์แปลกแตกต่างจากงานเดิมที่ทั้งคู่เคยทำ ตลอดหกปีที่ทำที่พัก เมย์และวินเจอแขกหลากหลายรูปแบบ และได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมากมาย แม้รายได้จะไม่แน่นอนเหมือนงานประจำ แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นคือเวลา 

 

“หลายคนบอกว่าดูรุ่มรวย ชิลจังเลย ตอนเช้าไปวิ่งออกกำลังกาย สโลว์ไลฟ์ก็ดีกับสุขภาพนะ แต่เราต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมาก ต้องประหยัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้เงินน้อยลง แต่ก็แลกกับเวลาที่มากขึ้น”

 

นอกจากสุขภาพและเวลาแล้ว โปสการ์ดจากแขกที่เคยมาพักที่ติดไว้ตรงกำแพงด้านหนึ่ง ส่งมาทักทายเมย์และวินจากทั่วโลก 

 

หากมิตรภาพคือหนึ่งในความ ‘รื่นอารมย์’ ของทั้งคู่ นั่นหมายความว่าการแลกนี้คุ้มค่า

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

นอกจากคาเฟ่น่านั่งที่เปิดเรียงรายอยู่บนถนนทุกเส้น จนหายห่วงได้ว่าชีวิตนี้ไม่ขาดคาเฟอีนแน่นอนเมื่อไปเยือนเชียงใหม่ แต่การไปคาเฟ่ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น อาจทำให้ตาค้างได้ เพราะมีคาเฟอีนอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป หนาวนี้ถ้าใครได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ นอกจากกิจกรรมคาเฟ่ฮอปปิ้งแล้ว อยากชวนให้แวะไปสนุกที่ร้าน Stand Behind the Yellow Line หรือ SBTYL ของออยกับเอ็กซ์ แถวถนนช้างม่อยกัน

 

ที่ว่าสนุก เพราะร้านของ ออย-วรวรรณ เล็กวงษ์เดิม และ เอ็กซ์-ศิรัส อัศวชัยพงษ์ มีข้าวของทุกโทนสี ทุกขนาด ทุกประโยชน์ใช้สอย คนอายุ 35 ปีขึ้นไปจะสนุกเป็นพิเศษ เพราะของในร้านส่วนใหญ่เป็นของวินเทจที่เคยใช้ เคยเห็น เคยเล่นเมื่อครั้งยังเป็นละอ่อนน้อย 

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

การจัดวางสินค้าจุกจิกสารพัดสารพันให้น่าสนใจเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และการจัดการสเปซก็มีส่วนส่งเสริมสินค้าอย่างมาก สิ่งแรกที่สะดุดตาเมื่อมองจากถนนฝั่งตรงข้าม คือหน้าร้านที่มีทั้งช่องหน้าต่างเล็กๆ ออกแบบให้สั่งเครื่องดื่มได้จากนอกร้าน ข้างๆ กันเป็นประตูเปิดเข้าร้าน และด้านข้างถัดไปเป็นซอกขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีหุ่นโชว์เสื้อผ้าตั้งวางไว้ จะเดินเข้าร้านจากซอกนี้ก็ได้ หรือจะเปิดประตูเดินเข้าไปก็ได้ เป็นสเปซที่มีซอกมีโซนน่าสนใจชวนค้นหา ซึ่งเหมาะมากกับข้าวของที่ออยและเอ็กซ์เสาะแสวงหามาขาย

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ออยและเอ็กซ์เป็นนักเดินตลาด นักซื้อ นักสะสม ทั้งคู่ซื้อของจุกจิกสารพัดจากความชอบส่วนตัว ซื้อมาขายไป “ของพวกนี้จริงๆ ไม่ใช่ของจำเป็นกับชีวิต เราซื้อเพราะเราชอบ ขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็อยู่กับเราไปตลอดชีวิต” เอ็กซ์บอกว่าบางชิ้นอยู่กับเขามาตั้งแต่อายุ 15 ปี เท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุเอ็กซ์บวกอีก 6 ปี

 

ร้าน SBTYL กั้นสัดส่วนเป็น 4 โซน บริเวณห้องกระจกจะเปิดเป็นร้านอาหารเช้าเพื่อต่อยอดจากถ้วยจานชามวินเทจที่มีขายในร้าน โซนครึ่งหลังของห้องกระจกเป็นบาร์แผ่นเสียง เอ็กซ์วางแผนว่าจะเปิดทุกเย็นวันศุกร์ โดยทั้งหมดนี้มีที่นั่งเพียง 8 ที่เท่านั้น โซนที่ 3 อยู่ถัดจากห้องกระจก อัดแน่นด้วยของเล่นและของวินเทจสารพัดรูปแบบ สุดท้ายคือซอกด้านข้างร้าน จัดวางสินค้าทั้งเสื้อผ้า แก้วน้ำ กระติกน้ำ และของสนุกชวนให้มีรอยยิ้มน้อยๆ เต็มไปหมด

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

เอ็กซ์บอกว่าคนไทยมักจะยืนงงๆ ที่หน้าร้าน ไม่ค่อยกล้าเข้ามา แต่คนจีน คนเกาหลีคือลูกค้าหลัก “ผมแต่งร้านไปเรื่อยๆ มีเงินทีก็ทำที คนเกาหลีซื้อเซรามิก ซื้อแก้ว ส่วนคนจีนซื้อของจุกจิก บางอย่างเราไม่ได้ขาย อย่างเข็มหมุดสไมลีย์ติดบอร์ดอยู่ เขาเห็นก็ขอซื้อ แต่ละวันจะเจอลูกค้าขอซื้ออะไรแปลกๆ มันสนุกตรงนี้ เราอยู่ได้เพราะอารมณ์แบบนี้”

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ย้อนกลับมาในซอยวัดอุโมงค์อีกครั้ง หลายคนคงรู้จัก ‘เวิ้งมาลัย’ บ้านพักอาศัยที่มีร้านกาแฟ Paper Spoon ร้านขายเสื้อผ้าและของแต่งบ้าน Communista ร้านเสื้อผ้าเด็ก Hand Room ร้านเสื้อผ้าและของใช้ที่เน้นงานถัก Jyn Tana แกลเลอรีงานศิลป์ขนาดกะทัดรัด จิตรกรพานิช และสุดท้ายคือสิตางค์ เกสต์เฮาส์ขนาดหนึ่งห้อง เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้หญิง

 

ทั้งหมดนี้อยู่ในพื้นที่ 136 ตารางวา 

 

เราเรียกบ้านของ กุ้ง-มาลัย สัญกาย ว่า ‘บ้านงอก’ คือสามารถงอกสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

ปีที่แล้ว ที่ดินตรงข้ามเวิ้งมาลัย มีสิ่งปลูกสร้างใหม่เกิดขึ้นชื่อ ‘ไปยาลน้อย’ เป็นการระดมทุนของมิตรสหายชาวเวิ้งมาลัย เก็ทและจ๋า ร้านเล่า และเพื่อนอีก 3-4 คน ร่วมกันสร้างที่พักจำนวน 4 ห้องบนพื้นที่ 80 ตารางวา เปิดเป็น ‘เกสต์โฮม’ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

แม้หลายคนจะไม่ใช่ชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด แต่ชาวคณะไปยาลน้อยตกลงปลงใจปักหลัก และเรียกที่แห่งนี้ว่าบ้านมากว่าสิบปีแล้ว พวกเขาสร้างครอบครัวที่นี่ 

 

ครอบครัวที่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่ลูกหรือคู่สามีภรรยา แต่ครอบครัวของพวกเขากินความหมายรวมถึงเพื่อน ซึ่งเปรียบเสมือนญาติสนิทที่แบ่งปันสุขทุกข์ และแน่นแฟ้นในสายสัมพันธ์มากขึ้นตามขวบปีที่รู้จัก จนมั่นใจว่าในวันที่ทุกข์ที่สุด จะมีมืออีกหลายคู่ช่วยประคับประคอง โอบกอด และเกื้อกูล ไม่ต่างจากคนในครอบครัว

 

และไปยาลน้อยคือผลพวงของมิตรภาพในแบบรูปธรรม ซึ่งพวกเขาตั้งใจให้ที่พักแห่งนี้เป็นเสมือนสหกรณ์ขนาดจิ๋วที่มีปันผลให้สมาชิกได้ดูแลกันยามแก่เฒ่า 

 

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

กลับบ้านไปเปิดร้านเล็กๆ

 

นอกจากระดมทุนกันภายในกลุ่มแล้ว บ้าน 3 หลัง จำนวน 4 ห้องพักเกิดขึ้นจากการระดมแรงงาน ทั้งกำลังกายและกำลังสมองของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ใครรู้เรื่องงานออกแบบ รับไปทำ ใครถนัดงานบัญชีก็ดูแลไป บางคนคล่องตัวเรื่องติดต่อประสานงานก็รับไปจัดการ ส่วนใครถนัดงานบริการ คอยต้อนรับแขกและรับผิดชอบอาหารเช้า   

 

แน่นอนว่าเงินมากย่อมมีกำลังซื้อมาก แต่เงินน้อย ถ้าทุ่มเทด้วยหัวใจ ของที่ได้ให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า อ่อนโยนกว่า ละเมียดละไมกว่า 

 

ด้วยเงินลงทุนไม่ถึงสองล้าน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในห้องพักจึงปันมาจากบ้านของทุกคน ผ้าม่านเย็บกันเอง ของตกแต่งชิ้นเล็กช่วยกันประดิษฐ์ สวนที่ตั้งใจเนรมิตให้เขียวสะพรั่ง ชุ่มชื่นร่มรื่น เมื่อเห็นงบหลักแสนก็จำต้องล่าถอยเหลือเพียงหมื่นต้นๆ จากนั้นต่างคนก็กลับบ้านไปขุดต้นไม้มาปลูกบนผืนดินที่พวกเขาแบ่งปันความคิด ความฝัน และวันเวลาของวันนี้ ให้ค่อยๆ เติบโตเป็นร่มเงาแก่กันและกันในวันหน้า

 

ด้วยหวังให้บ้านเป็นร้านเล็กๆ ที่อบอุ่นในวงล้อมของรักและมิตรภาพ  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising