×

บัตรประชาชนหาย ไม่ใช่เรื่องเล่น…เมื่อมิจฉาชีพฉวยโอกาส ทำเจ้าของบัตรติดคุก

11.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บัตรประชาชน กลายเป็นเอกสารสำคัญที่ถูกนำไปแอบอ้างก่อความผิดจากมิจฉาชีพ โดยอาศัยช่องโหว่กฎหมายและความไม่รอบคอบของธนาคารจนส่งผลให้เกิดปัญหาต้องรับผิดแบบตนเองไม่ได้ก่อ และกรณีนางสาวณิชาไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก็ต้องพิสูจน์ความจริงต่อไป
  • ข้อมูลบัตรหายหลักล้าน แต่ไม่ถูกส่งกลับคืน สะท้อนภาพอนาคตที่อาจเกิดเหตุลักษณะนี้ เพราะไม่รู้ว่าบัตรประชาชนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน อยู่ในมือใคร ที่ดีที่สุดคือระบบตรวจสอบที่ต้องเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐกับธนาคาร เพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลอย่างรอบคอบและรัดกุม

‘บัตรประชาชน’ เอกสารประจำตัวที่ใช้ยืนยันตัวบุคคลว่าเราเป็นใคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และเป็นเอกสารสำคัญที่มักใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐและเอกชนต้องขอให้ถ่ายสำเนาประกอบการพิจารณาด้วยทุกครั้ง

 

แต่ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง ‘บัตรประชาชน’ ของตัวเองแท้ๆ จะกลายเป็นหอกทิ่มแทงให้ต้องตกเป็นจำเลยเผชิญเคราะห์กรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เหมือนกับกรณีของ นางสาวณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี ที่ทำบัตรประจำตัวประชาชนหาย และพบว่าถูกนำไปเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ถึง 9 บัญชี ซึ่งคาดว่าเป็นบัญชีที่หลอกผู้คนโอนเงินมาผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จนถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงและต้องติดคุกอยู่ 1 คืน กระทั่งศาลให้ประกันตัว

 

คำถามจึงมีอยู่ว่า เหตุใดคนที่ถือบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งอาจได้มาจากการขโมย จึงสามารถนำไปเปิดบัญชีธนาคารได้มากมายขนาดนี้

 

บัตรประชาชนแจ้งหายหลักล้าน แต่ไม่รอดพ้นมืออาชญากร

มีข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมๆ กันคือ ตัวเลขของบัตรประชาชนที่มีการแจ้งหายทางทะเบียนปรากฏสถิติหลักล้าน ตามคำให้สัมภาษณ์ยืนยันของ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ที่ระบุว่า “ในแต่ละปีมีข้อมูลการแจ้งบัตรหายนับล้านใบ โดยไม่มีการคืนบัตรแก่ส่วนกลาง”

 

หากพิจารณาจากตัวเลขในเชิงสถิติที่เปิดเผยโดยผู้อำนวยการสำนักบริหารทะเบียน ก็อดคิดไม่ได้ว่าบัตรประชาชนที่ไม่ได้มีการส่งคืนแก่ส่วนกลาง จำนวนหลายล้านใบนั้น หากตกหล่นหายไปตามธรรมชาติ ไม่มีใครเก็บหรือนำไปใช้ทำอย่างอื่นที่ผิดกฎหมายก็คงจะสบายใจได้ แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงของกรณีนางสาวณิชา แม้เธอได้แจ้งความว่าบัตรหายก็ไม่เพียงพอที่อาชญากรทางธุรกิจจะอาศัยช่องโหว่ในการแอบอ้างเรื่องเหล่านี้

 

ผู้อำนวยการสำนักบริหารทะเบียนให้สัมภาษณ์ผ่านไทยพีบีเอส ระบุว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอให้ทั้งภาครัฐและเอกชนยกเลิกการขอสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะแม้จะเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง แต่ข้อมูลก็สามารถลบ แก้ไข แล้วถ่ายเอกสารทำเป็นสำเนาใบใหม่ได้ ซึ่งมีความเสี่ยงถูกนำไปใช้จนเกิดความเสียหายต่อเจ้าของบัตรตัวจริง พร้อมยืนยันว่าบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดถูกออกแบบให้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ กลุ่มมิจฉาชีพจึงทำได้เพียงคัดลอกข้อมูลเพื่อทำบัตรปลอมใหม่ขึ้นมา

 

ด้าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเจ้ากระทรวง ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงประเด็นการนำบัตรประชาชนหรือสำเนาไปแอบอ้างว่า แต่ละธนาคารมีบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับกระทรวงมหาดไทยอยู่ และสามารถตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชนได้ทุกสาขา แต่ต้องมีโปรแกรมเชื่อมต่อกับระบบของกระทรวงมหาดไทย ที่ขณะนี้มีเพียงธนาคารของต่างประเทศเพียงธนาคารเดียวที่ใช้ครบทุกสาขา ธนาคารของไทยมีใช้บ้าง แต่ไม่ครบทุกสาขา

 

“มาตรการป้องกันการทำธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารจะต้องตรวจสอบยืนยันตัวบุคคล และหากบุคคลที่โดนนำบัตรไปแอบอ้างถูกจับดำเนินคดี สามารถสอบถามมาทางกระทรวงมหาดไทยให้ช่วยเหลือยืนยันข้อมูลตัวบุคคลได้”

 

แล้วช่องโหว่เหล่านี้ทำให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูลหรือทำหน้าที่อย่างไรจึงนำไปสู่ความเสียหายของเจ้าของบัตรประชาชน ซึ่งสังคมยังรอคอยคำตอบ

 

สมาคมธนาคารแจงขั้นตอนเปิดบัญชี ย้ำตรวจสอบกรณีที่เป็นข่าวเพื่อความเป็นธรรม

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้สมาคมธนาคารไทยได้ออกเอกสารชี้แจงปัญหาการลักลอบนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร โดยยืนยันว่า

 

ธนาคารสมาชิกของสมาคมฯ ทุกธนาคารได้มีการออกระเบียบในการเปิดบัญชีเงินฝากและในการยืนยันตัวตนของผู้มาเปิดบัญชี ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของทางราชการ นอกจากนี้ในทุกสาขาของธนาคารได้มีป้ายเตือนว่าการรับเปิดบัญชีแทนถือเป็นความผิดทางกฎหมาย

 

ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารว่ามีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

 

1. จัดให้ลูกค้าแสดงตน โดยให้แสดงข้อมูลและหลักฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ ตามประกาศของทางการ

 

2. ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการแสดงตน โดยตรวจสอบบัตรผ่านเครื่องอ่านบัตร (Smart Card Reader) ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการอ่านบัตรประชาชนปรากฏตรงกับข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน

 

3. ตรวจสอบตัวตนของลูกค้ากับบัตรประชาชนที่นำมาเปิดบัญชี (ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน)

 

4. ตรวจสอบข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าบนใบคำขอเปิดบัญชีว่าตรงกับข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน

 

ซึ่งตาม 4 ขั้นตอนข้างต้น สมาคมฯ ชี้แจงว่า เมื่อธนาคารได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นแล้วจึงจะดำเนินการเปิดบัญชีให้กับลูกค้า

 

และได้ระบุถึงปัญหากรณีนางสาวณิชาว่า ธนาคารที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงตามกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของธนาคาร รวมถึงให้ความร่วมมือกับทางราชการในการดำเนินการสอบสวนหาผู้กระทำผิด และจะมีการดำเนินการเพื่อดูแลและหาข้อสรุปที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป

 

ในเอกสารการชี้แจงดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยให้ความมั่นใจว่า ธนาคารสมาชิกทุกธนาคารได้ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมากต่อการบริการและความปลอดภัยที่มีต่อลูกค้าของธนาคาร พร้อมทั้งได้มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่สมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งทีมงานควบคุมและป้องกันการทุจริตติดตามพฤติกรรม และหาวิธีป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้บัญชีธนาคารไปกระทำการทุจริต แต่ยอมรับว่าขบวนการดังกล่าวพยายามเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปเรื่อยๆ

 

ซึ่งสังคมกำลังจับตารอคำตอบกรณีการรับเปิดบัญชีของธนาคาร 7 แห่งว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร เพราะนั่นคือคำตอบของความเชื่อมั่นที่เป็นรูปธรรมที่สุด

 

Photo: AFP

 

แนะบัตรหายรีบแจ้งความ รัฐและธนาคารควรเชื่อมข้อมูลโดยด่วน

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ว่า เรื่องบัตรประชาชนหายควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยหน่วยราชการจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกันในเรื่องการดำเนินคดีในเชิงระบบ คือทำอย่างไรให้ข้อมูลราชการเชื่อมโยงกัน ก่อนที่จะพบการกระทำความผิด หรือปล่อยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและธนาคาร ขณะเดียวกันธนาคารเองก็ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าการทำหน้าที่ของตนเองบกพร่องตรงไหน อย่างไร ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น จากบัตรประชาชนใบเดียวหรือแค่สำเนาเท่านั้น แต่ควรมีระบบตรวจสอบที่รัดกุม รอบคอบ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ไม่ใช่มองแค่ต้องการลูกค้าอย่างเดียว มิติการดูแลประชาชนจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ รวมทั้งกรณีของบัตรเครดิตด้วย ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน

 

“สำหรับประชาชน วิธีการที่จะป้องกันตัวเองหากบัตรประชาชนหายก็ต้องรีบไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน แล้วขอคัดสำเนาบันทึกประจำวันเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน เมื่อภายหลังมีการทำธุรกรรมโดยบุคคลอื่นจะได้ใช้เป็นหลักฐานทางคดีเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช้และเก็บรักษาบัตรให้ดี เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ที่มิจฉาชีพจะฉวยโอกาสนำไปใช้ในสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

 

รศ.ดร.ปกป้อง ยังให้ข้อสังเกตต่อการสู้คดีของกรณีนางสาวณิชาว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็ต้องต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความถูกผิดตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อมั่นใจว่าตนเองมีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ตนเองได้ก็ต้องสู้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ คนในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องเท่าทันต่อพฤติกรรมของมิจฉาชีพเหล่านี้ และทำสำนวนหรือทำคดีอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ การรับจ้างเปิดบัญชีหรือหลอกให้ผู้อื่นโอนเงินให้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

 

แนะวิธีเก็บรักษาบัตรและเซ็นสำเนาให้ปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาโดยตลอดถึงวิธีการเซ็นชื่อรับรองสำเนาในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น สำเนาเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาเอกสารทะเบียนบ้าน

 

เพราะการเซ็นชื่อรับรองสำเนาที่ไม่รัดกุมหรือไม่ถูกวิธีจะเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาในที่สุด ดังนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคเซ็นชื่อรับรองสำเนาในเอกสารสำคัญต่างๆ ทุกครั้งอย่างถูกวิธี จึงอยากขอแนะนำวิธีการให้ปฏิบัติ ดังนี้

 

1. ทุกครั้งหลังจากเซ็นชื่อและเขียนรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว ต้องเขียนรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่าเอกสารฉบับนั้นใช้สำหรับทำอะไร เช่น ใช้เฉพาะสมัครงานเท่านั้น หรือใช้สำหรับสมัครเรียนเท่านั้น

 

2. นอกจากกำกับรายละเอียดการใช้แล้วยังต้องกำกับ วัน เดือน ปี โดยเขียนลงบนสำเนาที่ใช้ด้วย ซึ่งจะช่วยกำหนดอายุการใช้สำเนาได้

 

3. ต้องเขียนข้อความทั้งหมดทับลงบนสำเนาส่วนที่เป็นบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาเอกสารอื่นๆ ที่สำคัญ ซึ่งเป็นวิธีเซ็นที่ถูกต้องในการรับรองสำเนาอย่างรัดกุม ไม่เปิดช่องทางให้กับมิจฉาชีพเอาไปสร้างหนี้ให้กับเรา

 

4. ในกรณีที่เซ็นเอกสาร ต้องใช้ปากกาหมึกสีดำเท่านั้นจึงจะปลอดภัยที่สุด เพราะเครื่องถ่ายเอกสารบางเครื่องสามารถถ่ายเอกสารโดยดึงหมึกสีน้ำเงินออก เหลือใช้เฉพาะข้อความของบัตรประชาชน แล้วทำให้มิจฉาชีพเซ็นเอกสารบัตรประชาชนนั้นแทนได้ เพราะฉะนั้นเราควรเซ็นด้วยปากกาสีดำเท่านั้น เพราะไม่สามารถดึงหมึกสีดำออกได้ หรือถ้าดึงสีดำออกได้ ข้อความก็จะหายไปหมดเลยทั้งหน้าบัตรประชาชน

 

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตนเอง จึงควรมีความรอบคอบในการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารสำคัญต่างๆ ให้ถูกต้องและถูกวิธีที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจนำเอาสำเนาเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เราได้เซ็นชื่อรับรองสำเนาไปเรียบร้อยแล้วไปดัดแปลงแก้ไขจนสร้างปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เราได้ในที่สุดโดยที่ยังไม่รู้ตัว

 

ขณะที่สมาคมธนาคารไทยได้มีข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับบัตรประชาชน ดังนี้

 

1. จัดเก็บรักษาบัตรประชาชนและข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัย

 

2. พกบัตรประจำตัวประชาชนในกระเป๋าสตางค์ที่ใช้บ่อยๆ และสามารถเก็บได้ง่าย

 

3. หมั่นสำรวจดูเสมอๆ ว่าบัตรประจำตัวประชาชนนั้นยังถูกเก็บอย่างปลอดภัย

 

4. หากบัตรประจำตัวประชาชนหาย ควรรีบไปขอทำบัตรทดแทนโดยเร็ว

 

5. ไม่ควรมอบบัตรประชาชนให้บุคคลอื่นไปทำธุรกรรมแทน

 

6. การให้สำเนาบัตรประชาชนเพื่อการทำธุรกรรม ควรขีดคร่อมและเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน

 

7. การยินยอมรับเปิดบัญชีเพื่อให้บุคคลอื่นใช้แทนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

อุทาหรณ์ต่อกรณีนางสาวณิชาจะจบลงอย่างไร ต้องรอคอยการพิสูจน์ แต่บทเรียนจากเรื่องนี้ทำให้เราต้องหันมาสนใจเอกสารสำคัญของตัวเอง และหน่วยงานต่างๆ ต้องทำหน้าที่อย่างรอบคอบและรัดกุม เพราะข้อเท็จจริงเรื่องนี้บอกเราแล้วว่า บัตรประชาชนหายไม่ใช่เรื่องเล็กจริงๆ

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising