×

มองอนาคตปี 2564 ‘ธุรกิจสายการบิน’ ประคองตัวยื้อลมหายใจ รอยาวิเศษชุบชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
02.01.2021
  • LOADING...
ธุรกิจสายการบิน

HIGHLIGHTS

  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือหนึ่งในบรรดาผู้ที่เจ็บหนัก โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจสายการบิน’ ที่เจ็บเจียนตาย และบางส่วนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้วจริงๆ พร้อมกับปี 2563
  • สำหรับสายการบินที่ผ่านปีหนูมาได้ ก็ใช่ว่าจะอยู่รอดอย่างง่ายดายในปี 2564 เพราะหนทางสู่ฟ้าอันสดใสยังอยู่อีกไกลลิบๆ ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงวัดใจว่าสายการบินไหนจะประคองตัวและอยู่รอดได้ จนถึงวันที่ ‘ยาวิเศษ’ ออกฤทธิ์เต็มที่
  • สิ่งที่สายการบินในประเทศไทยยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลมาโดยตลอดคือเรื่อง ‘เงิน’ เพราะในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมตกต่ำเช่นนี้ การหาแหล่งหยิบยืมเงินมาต่อลมหายใจธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยล่าสุดยอมลดเพดานวงเงินขอสินเชื่อลงจาก 2.4 หมื่นล้าน เหลือ 1.4 หมื่นล้าน เพื่อนำเงินมาจ้างพนักงานต่อไป 
  • ขณะเดียวกันนอกจากการหวังพึ่ง ‘ยาพาราฯ’ จากรัฐบาลแล้ว สายการบินก็พยายามปรับภายในองค์กรอย่างหนักหน่วงเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะความพยายามในการลดต้นทุน เพื่อให้สอดคล้องกับฝั่งรายรับที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

มนุษยชาติโบกมืออำลาปีหนู 2563 ไปแบบเจ็บๆ… เจ็บกันถ้วนหน้า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเจ็บมากเจ็บน้อยแค่ไหนจากไวรัสร้าย ‘โควิด-19’

 

แต่ที่แน่ๆ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือหนึ่งในบรรดาผู้ที่เจ็บหนัก โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจสายการบิน’ ที่เจ็บเจียนตายและบางส่วนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้วจริงๆ พร้อมกับปี 2563

 

สำหรับสายการบินที่ผ่านปีหนูมาได้ ก็ใช่ว่าจะอยู่รอดอย่างง่ายดายในปี 2564 เพราะหนทางสู่ฟ้าอันสดใสยังอยู่อีกไกลลิบๆ 

 

ในปีวัวดุ 2564 จึงเป็นปีที่บรรดาแอร์ไลน์จะต้องประคองร่างโชกเลือด ยื้อลมหายใจ เพื่อรอความหวังจากยาวิเศษ ‘วัคซีนโควิด-19’ มาชุบชีวิต

 

ผ่านปี 2563 แบบโชกเลือด

ย้อนไปในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นจุดต่ำสุดของสายการบินทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ประกาศล็อกดาวน์ ปิดน่านฟ้า และสายการบินสัญชาติไทยเกือบทุกรายประกาศหยุดบิน ก่อนจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นในไตรมาส 3 พร้อมกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ค่อยๆ คลี่คลาย สายการบินได้ต้อนรับผู้โดยสารในประเทศอีกครั้ง

 

แต่ด้วยผลประกอบการที่ย่ำแย่และสภาพอุตสาหกรรมการบินที่ถดถอยมาก่อนหน้านี้ ผนวกกับวิกฤตไวรัสแพร่ระบาด จึงทำให้สายการบินสัญชาติไทยหลายแห่งเกิดอาการตกหลุมอากาศครั้งใหญ่ 

 

หนักสุดคือ ‘สายการบินนกสกู๊ต’ ที่ตัดสินใจปิดฉากอำลาน่านฟ้าเมืองไทยไปแบบไม่เคยมีกำไร ด้วยเหตุผลว่า “บอร์ดของบริษัทไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป”

 

 

ด้าน ‘การบินไทย’ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และ ‘นกแอร์’ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด (Low-Cost Airline) ของคนไทย ก็ต่างหนี้ท่วมตัว กอดคอกันเข้าสู่ขั้นตอนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ. ล้มละลาย

 

‘ไทยแอร์เอเชีย’ โลว์คอสต์แอร์ไลน์เบอร์ 1 และ ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ บูทีคแอร์ไลน์ แม้จะไม่ชอกช้ำเท่า แต่ผลประกอบการก็ออกมาแดงฉานเลือดไหลไม่หยุด 

 

โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สายการบิน 4 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ สายการบินไทย (THAI), นกแอร์ (NOK), ไทยแอร์เอเชีย (AAV) และบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ขาดทุนยับรวมกันถึง 6.2 หมื่นล้านบาท

 

ด้านสายการบินนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องทุนหนาอย่าง ‘ไทยไลอ้อนแอร์’ ก็ได้ปลดพนักงานออกไปสองล็อต พร้อมตัดลดสวัสดิการและเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่ ‘ไทยเวียตเจ็ท’ แม้จะเจ็บ แต่ไม่ได้แสดงอาการออกมามากนัก

 

เมื่อเข้าสู่ปลายปี 2563 สถานการณ์ต่างๆ ก็ฟื้นตัวดีขึ้นพอสมควร เพราะการติดเชื้อภายในประเทศที่มีน้อยมาก แทบจะเป็นศูนย์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ทั้ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง 

 

ที่สำคัญคือ ข่าวดีเรื่อง ‘วัคซีนโควิด-19’ ที่สร้างความหวังให้ผู้คน ธุรกิจ และตลาดหุ้นทั่วโลก

 

 

เข้าปีวัวดุ 2564 ยื้อลมหายใจรอ ‘ยาวิเศษ’

ถึงจะรอดพ้นจากปี 2563 มาได้ แต่การ ‘อยู่รอด’ ในปี 2564 ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจสายการบิน เพราะแม้หลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้พลเมืองแล้ว แต่การแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงและพอเพียงก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลก 

 

ดังนั้นกว่าจะกำจัดไวรัสโควิด-19 จนการเดินทางและท่องเที่ยวกลับเข้าสู่โหมดปกติได้ จึงต้องใช้ระยะเวลาอีกไม่ใช่น้อย โดยแวดวงการบินประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2-3 ปี หรือเร็วที่สุดปี 2566 กว่าสายการบินจะกลับมาสู่จุดเดิมได้อีกครั้ง

 

ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงวัดใจว่าสายการบินไหนจะประคองตัวและอยู่รอดได้จนถึงวันที่ ‘ยาวิเศษ’ ออกฤทธิ์เต็มที่

 

ยาวิเศษยังไม่มา หวังพึ่ง ‘ยาพาราฯ’ จากรัฐบาล

แต่ในช่วงที่ยาวิเศษยังไม่มา สายการบินก็หวังให้รัฐบาลจ่าย ‘ยาพาราฯ’ รักษาตามอาการไปก่อน โดยเฉพาะอาการ ‘ขาดสภาพคล่อง’ 

 

โดยแม้ช่วงปลายปี 2563 สายการบินต่างๆ จะยังเหลือเงินสดติดกระเป๋าอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าเงินก้อนสุดท้ายนี้จะเหลือไปถึงเมื่อไร เพราะสายการบินต่างพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเปิดบินไฟลต์ในประเทศเป็นหลักจึงยากจะทำให้ธุรกิจกลับมามี ‘กำไร’  

 

เท่ากับว่าสายการบินที่เหลืออยู่ยังสามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ แต่ก็ต้องขาดทุน เผาเงินสดไปกับการนำเครื่องทะยานขึ้นฟ้า และค่าบริหารจัดการต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูงตามธรรมชาติของอุตสาหกรรม

 

สิ่งที่สายการบินยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลมาโดยตลอดจึงเป็นเรื่อง ‘เงิน’ เพราะในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมตกต่ำเช่นนี้ การหาแหล่งหยิบยืมเงินมาต่อลมหายใจธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

โดย ‘สายการบินแอร์เอเชีย’ เป็นหัวหอกนำทีม 7 สายการบินกระทุ้งข้อเรียกร้องเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากกระทรวงการคลัง และล่าสุดยอมลดเพดานวงเงินขอสินเชื่อลงจาก 2.4 หมื่นล้าน เหลือ 1.4 หมื่นล้าน เพื่อนำเงินมาจ้างพนักงานต่อไป 

 

 

นอกจากนี้สายการบินและการท่องเที่ยวยังฝากความหวังไว้กับการเปิดน่านฟ้า แง้มประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลในปี 2564 แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเด็นนี้มี ‘ความอ่อนไหว’ ทางการเมืองในระดับสูง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือสายการบินไปแล้วพอสมควร ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (น้ำมันเจ็ต) จาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 

 

และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อุดหนุนเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ผู้โดยสาร 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

 

ปรับองค์กรขนานใหญ่

นอกจากการหวังพึ่ง ‘ยาพาราฯ’ จากรัฐบาลแล้ว สายการบินก็พยายามปรับภายในองค์กรอย่างหนักหน่วงเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะความพยายามในการลดต้นทุน เพื่อให้สอดคล้องกับฝั่งรายรับที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ 

 

ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา จึงปรากฏข่าวสารพัดวิธีในการปรับลดต้นทุนและปรับธุรกิจให้มีขนาดเล็กลง ทั้งการปลดพนักงาน เปิดโครงการสมัครใจจาก (Early Retirement) โครงการลาแบบไม่รับค่าจ้าง (Leave Without Pay) การลดขนาดฝูงบิน และตัดวงเงินลงทุนที่ไม่จำเป็น

 

ขณะเดียวกันก็พยายามหารายได้จากช่องทางอื่นเพื่อความอยู่รอด และเปลี่ยนกลยุทธ์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อปรับพอร์ตรายได้ในอนาคต ลดการพึ่งพาค่าโดยสารแต่เพียงอย่างเดียว 

 

เช่น ‘สายการบินไทย’ ที่ประกาศขายเครื่องบินมือสอง ข้าวของเครื่องใช้บนเครื่องบินที่อยู่ในคลัง ทอดปาท่องโก๋ขายจนโด่งดัง จนถึงการนำเสื้อชูชีพมาผลิตกระเป๋าเพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆ เข้าองค์กร 

 

 

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการเมืองการบินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงธุรกิจบริการภาคพื้น ครัวการบิน และคลังสินค้า เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแรงมากขึ้นในอนาคต

 

‘ไทยแอร์เอเชีย’ ปรับเว็บไซต์ Airasia.com ให้สามารถจองตั๋วเครื่องบินพร้อมโรงแรม จองตั๋วเครื่องบินสายการบินอื่นที่ไม่มีซ้อนทับกับแอร์เอเชีย สั่งสินค้าปลอดอากร (Duty Free) สั่งอาหาร ฟินเทค รวมถึงขยายไปสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ

 

ความท้าทายในปี 2564

ถึงเตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่ปี 2564 ก็ยังมีความท้าทายที่หนักหน่วงรออยู่ข้างหน้า

 

โจทย์แรกคือ โควิด-19 ซึ่งยังเป็นประเด็นใหญ่สำหรับธุรกิจสายการบิน เห็นได้ชัดจากเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งประชาชนเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวรับลมหนาว แต่บรรยากาศก็เปลี่ยนไปทันทีเมื่อมีข่าวการติดเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงราย ตามมาด้วยสมุทรสาคร ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปทันที หลายคนตัดสินใจไม่เดินทาง มีการล็อกดาวน์ย่อยๆ ในบางพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาด

 

ธุรกิจสายการบินจึงยังอยู่ในช่วง ‘อ่อนไหว’ เป็นอย่างมาก ถ้าเกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้างเมื่อไร ก็จะทำให้ตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วเกิดแรงกระเพื่อมทันที 

 

ขณะเดียวกัน ‘เงิน’ ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีนักวิเคราะห์แทงสวนว่าสายการบินบางแห่งอาจกลับมามีกำไรในปี 2564 แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มองโลกสดใสเบอร์นั้น โดยบางส่วนคาดว่า ‘ไทยแอร์เอเชีย’ และ ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ มีโอกาสเข้าสู่โหมดเพิ่มทุนในปีหน้า ด้าน ‘นกแอร์’ และ ‘การบินไทย’ ยังต้องดิ้นรนกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการกันต่อไป

 

ในภาพใหญ่ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ก็ได้กัดกินกำลังซื้อของลูกค้าสายการบินทั่วโลก สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกในสัดส่วนสูง เมื่อเกิดวิกฤตไวรัสก็ทำให้หลายภาคส่วนยังเกิดอาการช็อก และถึงแม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเงินในกระเป๋าคนไทยจะกลับมาได้เมื่อไร ยังไม่นับสงครามราคาห่ำหั่นกันเองระหว่าง ‘สายการบินในประเทศ’ ซึ่งไม่มีวันจบสิ้น 

 

ปี 2564 นี้จึงเป็นปีที่สายการบินต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อความอยู่รอด ส่วนใครแกร่งพอจะอยู่รอดจนถึงเส้นชัย ต้องรอดูอีก 2-3 ปีข้างหน้าถึงรู้ผล

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X