หลายคนคงได้ยินการแถลงข่าวเรื่องมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน หนึ่งมาตรการในนั้นคือการฟื้นกองทุนวายุภักษ์ รัฐบาลอาจจะยังพูดไม่ชัดว่าจะระดมเงินไปทำอะไร จะเอาไปหนุนตลาดหุ้น หรือเอาเงินไปใช้ต่อ
แต่กองทุนวายุภักษ์เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่น่าสนใจของตลาดทุนไทย ผมก็เกิดไม่ทันครับ แต่เคยได้ยินมาบ้าง เลยจะมาเล่าให้ฟังครับ
‘กองทุนวายุภักษ์ 1’ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่หุ้นไทยทิ้งดิ่งจาก 1,700 ลงไปเหลือ 200 กว่าๆ ช่วงนั้นรัฐต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ เช่น การใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนธนาคารที่รัฐถือหุ้น รวมไปถึงการลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ จึงมีการออกกองทุนระดมทุน และนัยว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนให้นักลงทุนรายย่อย
โดยรัฐลงทุนเป็นหุ้น 3 หมื่นล้านบาท และระดมจากประชาชนทั่วไปอีก 7 หมื่นล้านบาทในรูปแบบของหน่วยลงทุน ‘ประเภท ก’ ที่มีนโยบายคุ้มครองเงินลงทุน โดยจะคืนเงินลงทุน ณ วันสิ้นสุดโครงการ เท่ากับมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่สิ้นสุดอายุโครงการ หรือไม่ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ และระหว่างทางยังมีผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สัญญาว่าจะไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำ (เท่ากับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น สมัยนั้นรับประกันไว้ที่ 3%) และไม่เกินเพดานขั้นสูง
ดูคร่าวๆ ก็เหมือนว่ากองทุนกู้เงินจากประชาชนมาลงทุนก่อน และใช้โครงสร้าง Waterfall ของกองทุนเป็นตัวจัดการผลตอบแทนระหว่างทาง และใช้มูลค่าเงินลงทุนเป็นตัวหนุนหลังการคุ้มครองเงินลงทุน
ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นโครงสร้างการลงทุนที่ตอบโจทย์สมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนออกกองทุน ดัชนีหุ้นไทยอยู่แถวๆ 500-600 จุด แต่พอครบ 10 ปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยไปอยู่แถวๆ 1,500-1,600 จุด และระหว่างทางนักลงทุนได้ผลตอบแทนไปปีละ 3-7% ของเงินลงทุนเริ่มต้น เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้นต่อเนื่อง จนมีเงินมาจ่ายเงินปันผลได้ และกองทุนคืนเงินหน่วยลงทุน ประเภท ก หมดตั้งแต่ปี 2013 แล้ว
ปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์ถูกปรับเป็นกองทุนเปิด ที่มีรัฐถือหุ้น 100% ลงทุนในหุ้นและพันธบัตรที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่รัฐวิสาหกิจ และเงินของรัฐจาก 3 หมื่นล้านบาท โตมาถึง 3 แสนกว่าล้านบาท (และไม่นานมานี้ก็มีบทบาทตอนไปซื้อหุ้นการบินไทย ที่ทำให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ)
ด้วยโครงสร้างและมูลค่าสินทรัพย์ กองทุนวายุภักษ์เป็นโครงสร้างที่น่าสนใจในการนำมาใช้ในการระดมทุน ที่พอจะจัดโครงสร้างที่ตอบโจทย์นักลงทุนในระยะยาวได้ และรัฐก็มีเงินไปลงทุนต่อได้
แต่ข้อควรระวังคือ สถานการณ์เราวันนี้อาจจะไม่เหมือนกับอดีต ปัจจุบันอัตราจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยเหลือแค่ประมาณ 3.4% (ไม่ใช่ 5-6% เหมือนสมัยนั้น) และโอกาสโตน้อยกว่ายุคนั้นมาก
ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่โตขึ้น ผลตอบแทนที่จะเอามาแบ่งกันก็มีน้อยลง และถ้าหุ้นไทยไม่ไปไหนเลยอีก 10 ปี (แม้จะมีโอกาสน้อย แต่ก็ต้องนับเป็นความเสี่ยง) การรับประกันเงินต้นและผลตอบแทนก็เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเงินลงทุนของรัฐได้
นอกจากนี้ การระดมทุนในรูปแบบความเสี่ยงคล้ายหุ้นกู้อาจจะเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดพันธบัตร เพราะมี Risk Appetite ที่ใกล้เคียงกัน
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อย่างไรนี่ก็เหมือนเงินกู้ที่หนุนหลังโดยสินทรัพย์ของรัฐ จะเอาไปใช้ทำอะไรคงต้องคิดถึงความคุ้มค่าของการใช้เงินกันอย่างถ้วนถี่ครับ