×

มองนโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ของพรรคเพื่อไทย ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโต

16.08.2023
  • LOADING...
เงินดิจิทัล

จากนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจถูกนำมาใช้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในวงกว้าง

 

ล่าสุด พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด และผู้จัดรายการ CDC Bitcoin Talk เปิดเผยมุมมองส่วนตัวต่อนโยบายดังกล่าวผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก Piriya Sambandaraksa โดยมีใจความสำคัญว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่าบล็อกเชนกันก่อนว่า เป็นเทคโนโลยีสำหรับการแก้ปัญหาความต้องการความเชื่อใจในตัวกลาง โดยการสร้างระบบ Timestamp Server ที่ปราศจากศูนย์กลางขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน ด้วยการประทับเวลาและเรียงลำดับกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว 

 

เงินที่ถูกใช้ไปแล้วจึงจะไม่สามารถนำมาใช้ได้เป็นครั้งที่สอง การใช้เงินซ้ำซ้อนมีผลเหมือนการผลิตหรือเสกเงิน (Money Counterfeit) ระบบเงินสดดิจิทัลไม่สามารถใช้งานได้หากผู้ใช้เงินสามารถกดเสกเงินได้ตามใจชอบ หรือสามารถทำให้ธุรกรรมชำระเงินเป็นโมฆะเพื่อการฉ้อโกง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


 

การทำงานของบล็อกเชนนั้นผูกพันกันอย่างลึกซึ้งกับกระบวนการ Proof of Work ที่ใช้ในการพิสูจน์ค่าแฮชของแต่ละบล็อกว่าได้มีการใช้พลังงานและเวลาไปมากพอตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ เนื่องจากเวลาและพลังงานเป็นเพียงสิ่งเดียวที่มนุษย์และคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเสกขึ้นมาได้ เป็นการเชื่อมโยงความมั่นคงและแข็งแกร่งของบัญชีธุรกรรมเข้ากับตัวแปรที่มนุษย์ไม่สามารถเสกหรือโกงได้

 

การนำเอาบล็อกเชนมาใช้กับระบบการสร้าง Proof แบบอื่นจึงเป็นการหลงประเด็นโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะ Proof of Stake ที่เป็นการนำเอาความมั่นคงของบัญชีมาผูกกับเม็ดเงินที่คนบางกลุ่มสามารถเสกได้ ในขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ ทำไม่ได้ หรือ Proof of Authority ซึ่งเป็นการตบหน้าการออกแบบระบบโดยสิ้นเชิง

 

สำหรับบล็อกเชนอื่นๆ ที่มี Proof of Work น้อยกว่ามากๆ การแก้ไขข้อมูลย้อนหลังไม่ใช่เรื่องยาก หรือถ้าเป็นบล็อกเชนที่ใช้ระบบอื่นๆ ผู้ที่มีอำนาจคุมทรัพยากรของ Proof ได้ก็สามารถควบคุมธุรกรรมได้ มองในมุมรัฐบาลน่าจะใช้บล็อกเชนแบบ Proof of Authority ซึ่งหมายถึงระบบรวมศูนย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเล่นละครกระจายศูนย์ปาหี่เท่านั้น เมื่อรวมศูนย์แล้วจึงมีความเสี่ยงที่ศูนย์กลางจะถูกเจาะเข้าควบคุมระบบได้ไม่ต่างอะไรกับระบบฐานข้อมูลโดยทั่วไป กล่าวคือมี Single Point of Failure และยังจำเป็นต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ 

 

จากความเห็นบางส่วนที่มองว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถนำไปซื้อของจากร้านค้าและร้านค้านำไปซื้อสินค้าต่อจากพ่อค้าคนกลางจนไปถึงผู้ผลิต จึงจะสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ 

 

พิริยะมองว่าการยกตัวอย่างส่วนนี้ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า เงินมูลค่า 10,000 บาทที่จะแจกให้กับประชาชนนั้นไม่ใช่เงินบาท ไม่ใช่เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จะเป็นโทเคนที่ทางพรรคเพื่อไทยในนามรัฐบาลเสกขึ้นมา แล้วใช้กฎหมายบอกว่ามันมีค่าเท่ากับ 1 บาท

 

ผู้คนที่รับโทเคนนี้ไปแลกกับสินค้าและบริการจะต้องทำโดยอาศัยความเชื่อใจว่า พวกเขาจะสามารถนำเอาโทเคนนี้ไปแลกเงินได้กับผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเป็นธนาคารหรือหน่วยงานของรัฐ 

 

ดังนั้นถ้าจะทำอย่างตรงไปตรงมา รัฐจะต้องมีการตระเตรียมงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาทไว้สำหรับรองรับการแลกโทเคนเป็นเงินบาท โดยมีความหวังว่า ถ้าประชาชนไม่แลกและใช้ต่อไปเรื่อยๆ จะสามารถเก็บภาษีได้จากการใช้งาน และทำให้ไม่จำเป็นต้องแลกคืนได้ทั้งหมด 

 

นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดได้ด้วยว่า กระเป๋าของใครสามารถนำไปขึ้นเงินสดได้และใครไม่สามารถขึ้นได้

 

ถ้าทำออกมาได้อย่างนี้จริงจะแสดงถึงโครงสร้างการออกแบบที่รวมศูนย์มากๆ กล่าวคือ มีผู้ออกเงินเพียงผู้เดียว และผู้ใช้งานทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ใช้งาน ไม่สามารถสร้าง Private Key ของตนเองและใช้งานได้ จากนั้นฐานข้อมูลส่วนกลางจะต้องกำหนดว่าใครจะสามารถนำโทเคนเหล่านี้มาใช้ได้และใครไม่สามารถใช้ได้ และยังจำเป็นต้องรู้ตำแหน่งของแต่ละกระเป๋า เพื่อตรวจสอบรัศมีการใช้งานว่าผู้รับและผู้จ่ายมีภูมิลำเนาห่างกันเกิน 4 กิโลเมตรหรือไม่

 

จึงมั่นใจได้ว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่ใช่ระบบเปิด หรือ Decentralized Blockchain แต่อย่างใด แต่จะต้องเป็น Token Digital ที่ควบคุมโดยส่วนกลาง ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยี Public Key Infrastructure ในการจัดการโดยอัตโนมัติเพียงบางขั้นตอนเท่านั้น

 

เมื่อมองดังนี้ โทเคนดังกล่าวจึงไม่สามารถมองได้ว่าเป็นเงินบาท เนื่องจากมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ มีข้อจำกัดการใช้งานที่ต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้พร้อมรับมันเพื่อแลกกับสินค้าและบริการน้อยกว่า บริษัทที่ไม่สามารถนำโทเคนดังกล่าวไปขึ้นเงินได้จะต้องรับความเสี่ยงจากคู่สัญญา หรือ Counterparty Risk ตลอดเวลาที่ถือโทเคน จนอาจเป็นเหตุให้เกิดการปฏิเสธได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้การรักษาระดับราคาของโทเคนที่ผูก (Peg) กับเงินบาททำได้ยากขึ้น แต่รัฐบาลอาจใช้กฎหมายบังคับให้รับเงินได้ 

 

อีกข้อที่น่าสนใจคือ การกล่าวว่าการใช้จ่ายโทเคนดังกล่าวเป็นทอดๆ จะสร้างรายได้ให้กับรัฐกลับคืนผ่านภาษี แต่นั่นหมายความว่าผู้คนจะต้องสามารถนำเอาโทเคนเหล่านั้นมาจ่ายภาษีได้ด้วย แต่เนื่องจากโทเคนที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่เงินตามกฎหมาย (Legal Tender) จึงไม่สามารถใช้ในการชำระภาษีได้ นอกจากมีการใช้อำนาจบิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากร ให้หันมารับความเสี่ยงของการถือโทเคนเหล่านี้ 

 

นอกจากนั้นการผลิตโทเคนขึ้นมาเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบ โดยกำหนดให้มีค่าเหมือนเงินบาท อาจจะผิด พ.ร.บ.เงินตรา ฉบับปี 2501 อีกด้วย ทางออกเดียวที่จะพอทำได้ตามกฎหมายคือ การหันไปใช้ CBDC ของ ธปท. ที่พัฒนากันมาหลายปีและมีการทดลองใช้แล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ที่ต้องการทั้งหมดได้ไม่ยาก แต่จะต่างกันที่พรรคจะไม่มีสิทธิ์ในการเสกโทเคนขึ้นมากว่า 5 แสนล้านโทเคนแล้วนำมาแลกเป็นเงินบาทได้

 

“ผมไม่เห็นด้วยกับ CBDC แต่นั่นคือวัตถุประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา ทำให้เงินดิจิทัล 10,000 บาทในระบบกระเป๋าดิจิทัลใหม่ที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า ‘คำโฆษณาเพื่อการหาเสียง’ โดยไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดที่สมเหตุสมผลของการมีตัวตนอยู่เลยแม้แต่น้อย”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X