×

ส่องสินทรัพย์ลงทุน Year to Date ทองคำ-หุ้นสหรัฐฯ-หุ้นจีน ให้ผลตอบแทนเด่น ด้านหุ้นไทยซึม รีเทิร์นติดลบ 1.5%

28.05.2024
  • LOADING...

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดครึ่งหลังปี 2024 Fed และ ECB เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลง ส่งผลบวกต่อภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แนะจับความเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุนครึ่งหลังปีนี้ ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วโลก

 

พยนต์ พงศาวรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานฝ่าย Wealth Products and Strategy บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่าภาพรวมการลงทุนของสินทรัพย์ต่างๆ ในโลกช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ได้ปรับฐานลงบ้าง เนื่องจากกังวลทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้ หากแยกประเภทสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ทองคำถือว่าสร้างผลตอบแทนค่อนข้างเซอร์ไพรส์และมีความโดดเด่น โดยช่วงต้นปี 2024 ถึงปัจจุบัน สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ที่ระดับ 13% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าทองคำน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หาก Fed มีสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลกระทบให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าลงเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ

 

สำหรับสาเหตุที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เนื่องจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มมีการกระจายความเสี่ยงหันมาถือครองทองคำ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยลดการถือครองดอลลาร์ลง รวมถึงประชาชนของจีนกับเวียดนามที่มีการทยอยซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงมีดีมานด์ทองคำเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดี

 

หุ้นสหรัฐฯ ครึ่งแรกปีนี้รีเทิร์น 10% ทำนิวไฮต่อเนื่อง

 

ขณะที่ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะมีการเคลื่อนไหวตามการคาดหวังของทิศทางดอกเบี้ย Fed แต่ภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to Date) สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับประมาณ 10% และสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นทำนิวไฮได้หลายครั้ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากผลตอบแทนหรือกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) จากกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ หรือ New Economy ทั้งกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI รวมทั้ง Semiconductor สามารถสร้างกำไรสนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ด้านตลาดหุ้นจีนจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10% แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2024 ยังทรงตัวและไม่มีความชัดเจนในการออกนโยบายแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์มา แต่ว่าในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ จีนเริ่มทยอยออกมาตรการแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาอย่างต่อเนื่องและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหา

 

ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน เพราะมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 30% ของ GDP จีน จึงช่วยเริ่มสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยหลังจากที่รัฐบาลจีนกลับทิศนโยบายหันมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนได้รับการตอบรับในเชิงบวก

 

หุ้นไทยผลตอบแทนติดลบสวนหุ้นโลก

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ติดลบ 1.5% เมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมของตลาดหุ้นโลก ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีผลตอบแทนเป็นบวกเนื่องจากมีปัจจัยกดดันภายในเฉพาะตัวจากประเด็นงบประมาณรายจ่ายที่ออกมาล่าช้า จึงส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าตามไปด้วย

 

ขณะที่กลุ่มสินทรัพย์ที่ Sensitive ต่อ Bond Yield ช่วงต้นปีนี้ถึงปัจจุบันทำผลตอบแทนได้ Underperform ซึ่งเดิมมีมุมมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องชะลอออกไปจากคาดการณ์เดิม

 

พยนต์ประเมินทิศทางดอกเบี้ยของโลกในช่วงที่เหลือของปี 2024 ว่ามีโอกาสจะเห็นธนาคารกลางต่างๆ เริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง หลังจากเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะยุโรปที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากเงินเฟ้อเริ่มมีตัวเลขลงมาใกล้เป้าหมาย จึงคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ามีโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยลงได้จำนวน 1 ครั้ง

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปัจจุบันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หากตัวเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายลง มีโอกาสที่ Fed จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้จำนวน 1-2 ครั้งในปีนี้

 

สำหรับญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หากติดตามตัวเลข GDP หรือเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ประกาศออกมาล่าสุด เริ่มมีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงกว่าที่คาด ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นอาจไม่ได้ Aggressive ตามที่เคยคาดไว้

 

ดังนั้นภาพรวมช่วงครึ่งหลังของปีนี้ประเมินว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

 

ส่วนอีกปัจจัยที่ต้องติดตามคือนโยบายในเชิงเศรษฐกิจระยะยาวของจีน โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมที่สำคัญมากของจีน คือการประชุม Plenum เพื่อกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนที่มีโอกาสจะมีปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีนและเศรษฐกิจของโลก

 

นโยบายสามเรื่องที่คาดหวังจากการประชุม Plenum คือ

 

  • นโยบายการแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน
  • นโยบายสนับสนุนการลงทุนด้าน Advance Technology หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้จีนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
  • นโยบายการ Reform ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนว่าจะสร้างความชัดเจนในการสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

 

นอกจากนี้ประเมินว่ากำไรในตลาดหุ้นโลกโดยรวมเฉลี่ยอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตราว 10%  จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปต่อได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังของปี 2024 ที่ต้องจับตามีดังนี้

 

  • ปัจจัยเงินเฟ้อปรับตัวลดลงช้ากว่าที่คาด อาจส่งผลให้ Fed ชะลอการลดดอกเบี้ย
  • การหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะในนโยบายการควบคุมจีนหรือชนกับจีนไม่ให้มีการเติบโตไปมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
  • สถานการณ์ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วโลก

 

ดังนั้นคำแนะนำการลงทุนในการสร้างพอร์ตเพื่อรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าวจะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบใด

 

กลยุทธ์ Core-Satellite Portfolio

 

โดยแนะนำว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือเงินลงทุนส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 70-80% ของพอร์ตรวมควรอยู่ในพอร์ตลงทุนส่วนหลัก (Core Portfolio) เพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว มีการจัดน้ำหนักสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่รับได้ เน้นการลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงดัชนี เช่น S&P 500, ดัชนีหุ้นโลก เป็นต้น

 

อีกทั้งแบ่งเงินลงทุนอีกสัดส่วน 20-30% ของพอร์ตรวมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัว เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น เช่น สินค้าโภคภัณฑ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising