×

ส่องสถานะ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ยังเป็นสกุลเงินหลักของโลกอยู่หรือไม่?

10.07.2023
  • LOADING...
ดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลเชิงสถิติแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2023) ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar Index) แข็งค่าขึ้นราว 24.66% สำหรับหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจาก ‘สถานะสกุลเงินหลักของโลก’ ที่ถูกใช้เป็นเงินสำรองของธนาคารกลางต่างๆ มากที่สุด ถูกใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศมากที่สุด และถูกใช้ในตลาดเงินตลาดทุนมากที่สุด รวมไปถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 

 

โดยตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ดอลลาร์สหรัฐครองสัดส่วนมากที่สุดในทุนสำรองทั่วโลก โดยอยู่ที่ 59.02% รองลงไปคือ ยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน โดยตอนนั้นดอลลาร์สหรัฐเคยครองสัดส่วนกว่า 70% ในทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกในปี 1999

 

ตามการคำนวณของ Fed พบว่า ส่วนแบ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก (World Output) ของสหรัฐฯ ลดลงจาก 32% ในปี 1980 เหลือ 24% ในปี 2020 ขณะที่ส่วนแบ่งการค้าโลกของสหรัฐฯ ก็ลดลงจาก 14% เป็น 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

โดยถ้าหากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินไปต่อเนื่อง สถานะของดอลลาร์สหรัฐก็อาจถูกสั่นคลอนเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงโครงสร้างตลาดทุนของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีสภาพคล่องมากพอและความน่าดึงดูด ที่ทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ได้ 

 

ขณะที่ตามข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบแลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลก โดยครองสัดส่วนอยู่ที่ 88% ในปี 2022 ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งแกร่งอย่างมาก

 

ดังนั้นหากโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยกเครื่องครั้งใหญ่ ดอลลาร์สหรัฐก็ยังอาจครองสถานะสกุลเงินของโลกไปได้อีกอย่างน้อย 1 ทศวรรษ

 

ดอลลาร์สหรัฐ

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X