×

Longlegs กายหยาบของปีศาจร้าย

07.08.2024
  • LOADING...
Longlegs

HIGHLIGHTS

  • หนังใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยแบ่งเป็นสามองก์อย่างชัดเจน โดยที่แต่ละองก์นอกจากจะมีเป้าหมายในการพาคนดูไปรู้จักกับตัวละครหรือคลี่คลายปมที่ผูกมัดเอาไว้ อย่างหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดก็คือวิธีการนำเสนอที่หยิบยกมาจากหนังรุ่นพี่ทั้งหลายทั้งปวง
  • บรรยากาศที่ปกคลุมบ้านเมืองช่วงปี 90 ก็ชวนให้อดนึกถึงหนังเรื่อง Cure (1997) ของ Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้ เพราะทั้งสองเรื่องต่างก็ใช้บรรยากาศในการสร้างความอกสั่นขวัญแขวน ที่สำคัญ วัตถุซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างลูกเหล็กและไม้ขีดไฟก็ยังทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน
  • การผูกโยงเรื่องซาตานเข้ากับประเด็นความเชื่อทางศาสนาเลยทำให้มิติของหนังดูกว้างไกลขึ้น และถึงทางออกจะค้างเติ่งจนชวนคิดว่าคนทำตั้งใจทิ้งปริศนาธรรมเอาไว้ แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดก็คงพูดได้ว่านี่เป็นผลงานที่ Osgood ใช้สายตาในการจับจ้องความสยองขวัญได้อย่างแท้จริง

เสียงวิจารณ์หนึ่งที่น่าจะสะกิดใจหลายคนเมื่อครั้งที่ Longlegs ออกฉายในอเมริกาคือ นี่เป็นหนังสยองขวัญที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ The Silence of the Lambs ของผู้กำกับ Jonathan Demme แน่นอนว่าเมื่อได้ยินเช่นนี้มีหรือที่ความคาดหวังของนักดูหนังจะไม่เพิ่มสูงขึ้นจนอยากจะพิสูจน์ให้รู้แล้วรู้รอดว่าหนังมีดีอย่างที่เขาพูดกันจริงหรือเปล่า และค่ายหนัง NEON ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายก็ประโคมข่าวการตลาดอย่างบ้าคลั่งว่า หนังเรื่องนี้มีคุณงามความดีมากจนแรงอวยของมันพุ่งทะลุเพดานก่อนที่จะฉายในบ้านเราเสียด้วยซ้ำ

 

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกรณีศึกษาชั้นดีให้กับคนทำการตลาดหนังที่ต้องการเรียนรู้ ว่าควรเล่นกับกระแสอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จโดยที่คำโฆษณาเหล่านั้นไม่ดูอวดอ้างสรรพคุณจนเกินไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการโหมโรงเช่นนี้มีผลต่อความรู้สึกจริงๆ

 

ยังไม่นับอีกว่านี่เป็นผลงานของ Osgood Perkins ผู้เป็นลูกชายของ Anthony Perkins ที่ก่อนหน้านี้แม้เขาจะทำหนังสยองขวัญมาหลายเรื่อง เช่น The Blackcoat’s Daughter (2015) และ Gretel & Hansel (2020) แต่ก็ไม่มีครั้งไหนเลยที่ผลงานของเขาถูกตีฟูจากคำวิจารณ์มากมายในระดับนี้ ซึ่งฟังๆ ดูแล้วก็สุ่มเสี่ยงที่หนังอาจทำได้ไม่เท่ากับความคาดหวังที่คนดูตั้งเอาไว้

 

และอย่างที่ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ Longlegs ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสยองขวัญหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ The Silence of the Lambs ที่เค้าโครงของมันถูกสะท้อนผ่านภาพเจ้าหน้าที่ FBI หน้าใหม่ผู้มีญาณพิเศษนามว่า Lee Harker (Maika Monroe) ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่มีแพตเทิร์นอันแปลกประหลาด นั่นคือผู้เป็นพ่อจะฆ่าทุกคนในครอบครัวก่อนที่จะยิงตัวตายตาม พร้อมจดหมายที่เต็มไปด้วยตัวอักษรลึกลับ ซึ่งลงชื่อคนเขียนแบบเดียวกับชื่อหนัง ที่สำคัญ ทุกครั้งที่เกิดเหตุ หนึ่งในสมาชิกที่จบชีวิตจะต้องเป็นเด็กสาวที่เกิดวันที่ 14

 

 

จุดที่น่าสังเกตคือ หนังใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยแบ่งเป็นสามองก์อย่างชัดเจน อันได้แก่ เรื่องราวของ FBI ที่ต้องตามล่าหาคนร้ายด้วยการถอดความจากจดหมาย, ฆาตกรผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่ายกครัว และต้นตอสาเหตุของคดีฆาตกรรมทั้งหมด โดยที่แต่ละองก์นอกจากจะมีเป้าหมายในการพาคนดูไปรู้จักกับตัวละครหรือคลี่คลายปมที่ผูกมัดเอาไว้ อย่างหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดก็คือวิธีการนำเสนอที่หยิบยกมาจากหนังรุ่นพี่ทั้งหลายทั้งปวง

 

เช่นองก์แรกที่มีกลิ่นอาย Zodiac (2007) ของ David Fincher ลอยตลบอบอวล เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่กับการตามหาฆาตกร ส่วนองก์สองที่คนดูได้เห็นคนร้ายมากขึ้น หนังก็เริ่มสับสวิตช์ตัวเองไปเล่าด้วยการใช้ภาพเป็นตัวควบคุมความอยากรู้อยากเห็นนั้น โดยเทคนิคที่นำมาใช้ก็เป็นวิธีการเดียวกับที่ปรมาจารย์นักทำหนังผู้ล่วงลับอย่าง Alfred Hitchcock ทำในหนังเรื่อง Psycho (1960) นั่นคือการถ่ายใบหน้าของฆาตกรในมุมหลบ แต่เผยให้เห็นถึงลักษณะท่าทาง การกระทำ รวมไปถึงรูปพรรณสัณฐานของเขาอย่างโจ่งแจ้ง

 

มีอยู่ฉากหนึ่งที่ฆาตกรซึ่งนำแสดงโดย Nicolas Cage ออกไปร้านค้าเพื่อซื้อของ และเราทุกคนก็รับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในนั้น แต่คำถามสำคัญก็คือหน้าตาที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร การวางเฟรมภาพที่ดูเหมือนเผยและไม่เผยในเวลาเดียวกันจึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่สร้างความไม่น่าไว้วางให้กับสถานการณ์ หากแต่เป็นการเล่นกับความรู้สึกที่อยู่ใต้จิตสำนึก ซึ่งวิธีการนี้ยังถูกใช้อีกหลายครั้ง หนึ่งในนั้นได้แก่ฉากเปิดเรื่องอันพรั่นพรึงระหว่างฆาตกรกับเด็กน้อยที่กำลังพูดคุยกันกลางหิมะ

 

 

และเมื่อความวิปลาสทั้งหมดเดินทางมาถึงองก์สาม บรรยากาศที่หนักอึ้งอยู่แล้วเป็นทุนเดิมก็ยิ่งถาโถมความกดดัน ทั้งจากเสียง จังหวะจะโคน และการแสดง โดยเฉพาะ Alicia Witt ในบทบาท Ruth Harker ผู้เป็นแม่ที่ตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่รู้ลึกตื้นหนาบางอะไรเกี่ยวกับเธอเลยจนกระทั่งเรื่องราวได้ย้อนกลับไปสำรวจปูมหลังที่ยึดโยงกับเหตุการณ์ในอดีต การแสดงของเธอก็ได้กลายเป็นที่จดจำอย่างมากในช่วงท้ายของเรื่อง

 

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ Ruth Harker เป็นเหมือนคนบ้าที่พยายามประคับประคองหรือหลอกตัวเองว่ายังปกติอยู่ และมันยิ่งน่ากลัวเมื่อเธอไม่ได้รู้สึกผิดบาปต่อการกระทำของตัวเอง เช่นเดียวกับ Lee Harker ที่ตลอดทั้งเรื่องญาณทิพย์ของเธอดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับความนึกคิดของฆาตกรอยู่ และไม่มากไม่น้อย การได้พบเจอกับเขาตัวเป็นๆ ก็กำลังจะทำให้เธอเป็นบ้า

 

ความน่ากลัวอย่างหนึ่งขององก์สามเลยเป็นการเห็นคนที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไรค่อยๆ เผยกลายเป็นปีศาจ และสำหรับ Alicia การแสดงอันนิ่งเรียบราวกับตุ๊กตาของเธอก็ยิ่งสำแดงให้เห็นถึงความบ้าคลั่งที่แทบจะปะทุออกมาจากกายหยาบนั้น

 

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่ปกคลุมบ้านเมืองช่วงปี 90 ก็ชวนให้อดนึกถึงหนังเรื่อง Cure (1997) ของ Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้ เพราะทั้งสองเรื่องต่างก็ใช้บรรยากาศในการสร้างความอกสั่นขวัญแขวน ที่สำคัญ วัตถุซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างลูกเหล็กและไม้ขีดไฟก็ยังทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน ฉะนั้นการจะมองว่า Longlegs มีแนวทางเหมือน Cure คงเป็นภาพที่จับต้องได้มากกว่า The Silence of the Lambs

 

และการจ้องมองไปยังความอ้างว้างโดยใช้เลนส์กว้างก็ยิ่งทำให้พื้นที่ที่ห้อมล้อมตัวละครดูอันตราย ไร้การป้องกัน ซึ่งสวนทางกับฆาตกรที่หนังพยายามจะปกปิดตัวตนของเขาด้วยจอภาพและมุมกล้อง นอกจากนี้ยังมีบางครั้งที่หนังปรับเปลี่ยนขนาดภาพของตัวเองไปเป็น 4:3 เพื่อให้คนดูรู้สึกอยู่ใกล้กับสถานการณ์มากขึ้น ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ไม่เพียงแค่บอกเล่าสถานะหรือความรู้สึกของตัวละคร แต่เป็นการเอาความวังเวงในยุคที่ไร้เทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนบรรยากาศโดยรอบด้วย

 

 

อีกอย่างที่ถูกนำเสนอควบคู่กันก็คือเสียง ที่พร้อมจะกัดกร่อนโสตประสาทของคนดู และองค์ประกอบนี้ก็เกี่ยวโยงกับธีมเรื่องที่ว่าด้วยการควบคุมจิตใจ ทำให้มันถูกคิดค้นออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดย Eugenio Battaglia ผู้เป็น Sound Designer ได้นำไมโครโฟนที่สามารถอัดเสียงได้แบบ 360 องศามาใช้แทนการอัดตามปกติ จากนั้นก็เอาเสียงที่ถูกบันทึกทั้งหมดมาเล่นย้อนกลับก่อนที่จะใส่เข้าไปในหนัง ด้วยเหตุนี้เสียงที่ได้ยินเลยแฝงไปด้วยความลึกลับและมาจากทุกทิศทุกทาง

 

อีกทั้งเพลงของศิลปินยุค 70 ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือวง T. Rex ที่โด่งดังเรื่องดนตรีแนว Glam Rock และเป็นวงที่เคยถูกบางลัทธิกล่าวหาว่าถ้าเอาเพลงของพวกเขามาเล่นย้อนกลับจะได้ยินเสียงปีศาจแบบเดียวกับที่วงดนตรีชื่อดังอย่าง The Beatles, Led Zeppelin, Pink Floyd, Queen และ Styx ถูกกล่าวหา

 

ซึ่งเพลง Bang a Gong (Get It On) ของวง T. Rex ที่ใช้ในช่วงเปิดเรื่องก็ดูจะเป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับหนัง เพราะมันแทบจะขมวดรวบยอดเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ในเพลงเพลงเดียว และการตัดต่อของ Graham Fortin กับ Greg Ng ก็เป็นตัวอุ้มชูจังหวะได้อย่างดีเวลาที่เสียงและภาพถูกนำมาหลอมรวมกัน

 

 

นอกจากนี้การแต่งหน้าขาวซีดอันเป็นจุดเด่นของฆาตกรก็ยังหยิบยกมาจากการแต่งกายของ Bob Dylan ในช่วงที่เขาทัวร์ Rolling Thunder Revue ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เพลงประกอบหนังเรื่องนี้จะมีเพลงแนว Classic Rock รวมอยู่ในนั้น และ Osgood ก็เคยพูดติดตลกกับ Battaglia ว่า Longlegs เป็นหนังสยองขวัญแต่เวลาเดียวกันก็เป็นหนัง Rock ‘n’ Roll ด้วย

 

ว่าไปแล้ว Cage ในลุคฆาตกรก็ทำหน้าที่ตัวเองได้เป็นอย่างดี ทั้งลูกบ้าและความวิปริตที่พลุ่งพล่านออกมาก็ยิ่งส่งเสริมให้ตัวละครของเขาดูน่าค้นหา โดยเฉพาะเมื่อความผิดมนุษย์มนาที่ปรากฏเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความพิศวงของซาตาน ที่ในทางหนึ่งมันพร้อมล่อลวงผู้คนให้ล่มหัวจมท้ายตามไปด้วย

 

 

โดยปริยาย การผูกโยงเรื่องซาตานเข้ากับประเด็นความเชื่อทางศาสนาเลยทำให้มิติของหนังดูกว้างไกลขึ้น และถึงทางออกจะค้างเติ่งจนชวนคิดว่าคนทำตั้งใจทิ้งปริศนาธรรมเอาไว้ แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดก็คงพูดได้ว่านี่เป็นผลงานที่ Osgood ใช้สายตาในการจับจ้องความสยองขวัญได้อย่างแท้จริง แม้วิธีการดำเนินเรื่องจะเต็มไปด้วยความเนิบนาบก็ตาม

 

และเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับ Longlegs การถูกพูดถึงในฐานะที่เหมือนกับหนังของผู้กำกับคนนั้นๆ ก็อาจเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะนั่นไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องภาพจำ แต่หมายรวมถึงตัวตนที่ถูกกลืนหายไปด้วย

 

Longlegs เข้าฉายแล้วในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่าง Longlegs ได้ที่: 

 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising