×

27-28 ก.ค. เตรียมชมจันทรุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดาวอังคารตรงข้ามดวงอาทิตย์

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2018
  • LOADING...

ตลอดคืนวันที่ 27 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นพร้อมกันถึง 3 ปรากฏการณ์ เริ่มจากดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ก่อนจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้สว่างมากและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ คืนเดียวกันยังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบปี คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกด้วย

 

 

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า คืนวันที่ 27 ก.ค.นี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวอังคาร ที่จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะโคจรเข้าใกล้โลกขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร จากระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ทำให้ดาวอังคารสว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าในวันถัดไป

 

 

นอกจากนี้ หลังเที่ยงคืนวันที่ 27 ก.ค. 61 ยังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งที่ 2 ในรอบปี 2561 คราสเต็มดวงพาดผ่านทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เวลา 00.14-06.10 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

 

“สำหรับประเทศไทยสามารถเห็นคราสเต็มดวงได้ตั้งแต่เวลา 02.30-04.13 น. นานถึง 1 ชั่วโมง 43 นาที นับเป็นจันทรุปราคาที่เต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นจันทรุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีที่ระยะทาง 406,086 กิโลเมตร นับเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่ดวงจันทร์สีแดงอิฐมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย” ดร.ศรัณย์ ย้ำความพิเศษของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้

 

 

สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกและจันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 27-28 ก.ค. 61 เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 18.00-04.30 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่

  • เชียงใหม่: อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 08 1885 4353
  • นครราชสีมา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 08 6429 1489
  • ฉะเชิงเทรา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 08 4088 2264
  • สงขลา: ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา โทร. 09 5145 0411

 

และเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.NARIT.or.th นอกจากนี้ คืนดังกล่าวยังมีวัตถุท้องฟ้ามากมายให้สังเกตการณ์ อาทิ ดาวศุกร์ในช่วงเวลาหัวค่ำปรากฏทางทิศตะวันตก ตามด้วยดาวพฤหัสบดีปรากฏทางทิศใต้ในมุมสูงบริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง และดาวเสาร์ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ตลอดจนจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่ 00.00-04.30 น. อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising