×

ลอยกระทงกับมลภาวะทางน้ำ ลอยเคราะห์ หรือ ซ้ำเติม สิ่งแวดล้อม?

03.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ในอดีตวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์กระทง คือ ใบตอง เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น วัสดุจากธรรมชาติก็เริ่มถูกแทนที่ด้วย โฟม พลาสติก และอื่นๆ ที่มาพร้อมกับปัญหาการย่อยสลาย และการจัดการขยะที่ยุ่งยากมากขึ้น
  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับปริมาณขยะจากกระทง เปรียบเทียบระหว่างปี 2559 กับปี 2560 แม้ว่าจะมีปริมาณขยะของปีล่าสุดลดลง แต่ปัญหาการจัดการขยะก็ยังมีอยู่ ต้องมาลุ้นสถิติในปีนี้ว่าจะมีตัวเลขออกมาเท่าใด

     ‘วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง’ เชื่อว่าเนื้อร้องของเพลงนี้น่าจะคุ้นหูชาวไทยมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พูดได้เต็มปากว่าใครๆ ก็น่าจะต้องร้องได้อย่างแน่นอน สำหรับในปีนี้ วันลอยกระทงตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560

     เนื้อหาของเพลงดังกล่าวเป็นการบอกเล่าถึงประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมานาน ซึ่งก็คือ ‘การลอยกระทง’ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกซึ่งการเคารพต่อแม่น้ำลำคลอง ตามความเชื่อที่ว่ามี ‘พระแม่คงคา’ ในฐานะเทพศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่

     รวมทั้งหากย้อนกลับไปศึกษาวิถีชีวิตของคนไทยล้วนผูกพันกับสายน้ำมาโดยตลอด ก่อนที่สังคมจะมีวิวัฒนาการมาตามยุคสมัย พร้อมๆ กับวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์กระทงจากที่เป็นวัสดุธรรมชาติล้วนๆ ก็เดินทางมาสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร

     THE STANDARD จะพาย้อนกลับไปดูว่า ที่ผ่านมาเราคนไทยรู้จักประเพณีนี้ในแง่มุมไหน และการลอยกระทงในปัจจุบันแสดงออกถึงความเคารพ รักษ์ ใส่ใจต่อแม่น้ำมากเพียงใด และเราจะรักษามลภาวะทางน้ำไปพร้อมๆ กับการลอยกระทง ไม่สร้างภาระให้แหล่งน้ำได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก

 

 

ตำนานและความเชื่อ ‘วันลอยกระทง’

     สำหรับ ประเพณีลอยกระทง มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การลอยกระทงเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทั้งสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ ‘ผี’ ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย  

     มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น เหยียบย่ำ ขับถ่าย ทิ้งของเสีย สิ่งปฏิกูล และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม) โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเรารู้จักจากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นฤดูกาลเก่า เดือน 12 ขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย ตามจันทรคติ ที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง

 

 

     และหลังจากรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณในสุวรรณภูมิก็ได้ปรับพิธีกรรม ‘ผี’ เพื่อขอขมานํ้าและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไปกลายเป็นการลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา ซึ่งในส่วนนี้มีพยานหลักฐานเก่าสุด คือ รูปสลักพิธีกรรมทางนํ้าคล้ายลอยกระทงที่ปราสาทหินบายนในนครธม ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700

     แต่สำหรับชุมชนชาวบ้านทั่วไปก็ยังเข้าใจเหมือนเดิม คือ ขอขมาพระแม่คงคา และพระแม่ธรณี ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกพิธีกรรมชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอาไว้หลายตอน

 

 

การลอยกระทงของไทยนับแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

     กว่าจะมาถึงการลอยกระทงยุคไทยแลนด์ 4.0 การเดินทางของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพิธีกรรม และอะไรต่อมิอะไรก็ได้เปลี่ยนแปลงมาตามกาลเวลา

     สำหรับในประเทศไทยการลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ ‘ลอยกระทง’ แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ ‘เผาเทียนเล่นไฟ’ ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าการทำบุญไหว้พระ

     เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ขึ้นมาโดยสมมติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิด กระทงทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ แล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้น

 

 

     ประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่แต่ในราชสำนัก กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดพรรณนาอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 ว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาในพระองค์โปรด ได้แต่งกระทงเล่นทุกปี เมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพฯ แล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา

     กว่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศก็ประมาณปี พ.ศ. 2500 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ส่งผลให้เกิดเพลง ลอยกระทง ในจังหวะของสุนทราภรณ์ ที่เผยแพร่ ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง จนในที่สุดลอยกระทงก็ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยทั่วประเทศ

     พร้อมๆ กับวิวัฒนาการของกระทง ที่ไม่ใช่แค่ทำจากใบตองเท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีทั้งโฟม พลาสติก กระดาษ ขนมปัง และการแปรเปลี่ยนวัสดุต่างๆ ให้มีรูปร่างเหมือนกระทง หากแต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นบางอย่างที่ผลมหาศาลต่อแม่น้ำที่หลายคนเคารพบูชา

 

 

มลภาวะ ขยะมหาศาล และมลพิษ ที่มากับการลอยกระทง

     เทศกาลลอยกระทงที่จัดขึ้นทุกปี ทั้งในกรุงเทพมหานครและตามต่างจังหวัด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระแม่คงคา หรือ แม่น้ำ สายน้ำ ที่คนไทยใช้อุปโภคบริโภค แต่สิ่งที่เหลือจากงานลอยกระทงมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีก็คือ ‘ขยะ’

     และในทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาคือซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2559 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รายงานว่า สามารถเก็บกระทงรวมทั้งหมด 661,935 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 617,901 ใบ หรือร้อยละ 93.35 และกระทงจากโฟม จำนวน 44,034 ใบ หรือร้อยละ 6.65   

     ขณะที่ในปี 2558 พบว่า ภายหลังการจัดงาน กทม. จัดเก็บขยะกระทงได้จำนวน 825,614 ใบ แบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจำนวน 754,587 ใบ คิดเป็นร้อยละ 91.4 และกระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 71,027 ใบ คิดเป็นร้อยละ 8.6

     โดยปริมาณกระทงลดลงจากปี 2558 จำนวน 163,679 ใบ หรือลดลงร้อยละ 19.83 สาเหตุที่จำนวนกระทงโฟมลดลงเนื่องจากมีการรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

     ส่วนในปี 2560 ต้องมาลุ้นกันว่าปริมาณจำนวนกระทงทั้งในส่วนของกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและที่ทำจากโฟมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงขนาดไหน

     แม้ว่าสถิติดังกล่าวจะเผยให้เห็นตัวเลขของกระทงที่ทำจากวัสดุโฟมลดลง เมื่อเทียบระหว่างปี 2558 และปี 2559 แต่สิ่งสำคัญที่มากกว่าการเก็บสถิติเรื่องปริมาณกระทงก็คือ การกำจัดขยะที่เป็นซากของกระทงเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ขณะที่การรณรงค์ให้มีการใช้วัสดุธรรมชาติหรือทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้สามารถทำลายขยะเหล่านี้ได้ง่าย และย่อยสลายเร็วตามธรรมชาติ ก็มีขึ้นจากหลายหน่วยงานเป็นประจำทุกปี

     ขยะจากซากกระทงเหล่านี้ยังไม่นับรวมขยะอื่นๆ จากกิจกรรม ‘ไปลอยกระทง’ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์ตกแต่ง และขยะอันตรายประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เมื่อรวมกันยิ่งกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาลขึ้นไปอีก

     นพ. ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า กระทงทั้งหมดเมื่อลอยแล้วก็จะกลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ซึ่งการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อจัดการและกำจัดเป็นปัจจัยสำคัญของการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

     กระทงที่ทำจากขนมปัง ประชาชนให้ความสนใจนำมาลอยกันมากขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไป ปลากินไม่ทัน ก็จะทำให้น้ำเน่าเสียได้

     ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก หลายคนเชื่อว่าสะดวกดี ลอยน้ำได้ง่าย แต่อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิตโฟมต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

     แต่การลอยกระทงในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่การนำกระทงไปลอยในแม่น้ำเท่านั้น อีกปัญหาใหญ่สำคัญที่ภาครัฐต้องออกมาขอความร่วมมือทุกปีก็คือมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมชี้ว่านี่คือกิจกรรมที่เบี่ยงเบนออกไปจากเดิม

     สำหรับการจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่จุดเล่นกัน อย่างคึกคะนองไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ระมัดระวัง ไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดแก่ผู้คน และยวดยานพาหนะที่สัญจรไปมา และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนได้ ซึ่งเคยปรากฏข่าวลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง

 

 

แล้วเราคนไทยจะช่วยให้วันลอยกระทงรอดพ้นจากขยะมหาศาลอย่างไร

     นพ. ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ขอความร่วมมือมายังประชาชนในการสืบสานประเพณีลอยกระทงที่ดีงาม โดยเสนอหลัก 4 เลือก 2 ลด ดังนี้

      1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย เช่น กระทงขนมปัง ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากินขนมปัง กระทงหยวกกล้วยเหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย

      2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ เก็บขนได้ทัน ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย เช่น ทำจากต้นกล้วย, หยวกกล้วย, ใบตอง

      3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำได้

      4. เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ และช่วยลดปริมาณขยะได้

      5. ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า ขยะน้อยกว่า

      6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัว ครอบครัวละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟนลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี

 

 

     ด้าน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ขอความร่วมมือประชาชน ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ งดใช้โฟม และรณรงค์ให้ลอยกระทงร่วมกัน 1 กระทง 1 ครอบครัว และตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ทาง กทม. จะเริ่มเก็บกระทงจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป รวมทั้งการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ รวมทั้งปล่อยโคมลอย ห้ามโดยเด็ดขาด และหากฝ่าฝืนอาจจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

     การเสนอทางเลือกให้กับประชาชนและการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หากใครติดตามข่าวก็คงจะได้ยินมาโดยตลอดเป็นประจำทุกปี ซึ่งบทความลักษณะนี้ก็คงเขียนกันมาโดยตลอด แต่หากไม่มีผู้กระทุ้งหรือจุดประเด็นให้คนเห็นความสำคัญแล้ว ก็ไม่แน่ว่าอาจเกิดเป็นความเคยชิน และนั่นอาจกลายเป็นมหันตภัยร้าย ที่อาจแปรเปลี่ยนเจตนาดีสำหรับประเพณีนี้ ที่ต้องการลอยทุกข์ ลอยโศก แต่สุดท้ายธรรมชาติอาจจะเป็นฝ่ายเจ็บปวด และมีผลสะท้อนกลับมาที่เราทุกคนในไม่ช้า

     ‘ความร่วมมือ ร่วมใจ’ ที่จะตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม อาจดูเป็นคำที่พูดง่ายๆ แต่จะยากมากหากทุกคนไม่หันมาช่วยกัน หวังว่าปีนี้หรือปีหน้ามลภาวะของแม่น้ำลำคลอง และปริมาณขยะจะไม่มากจนเกินไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising