ผลการศึกษาวิจัยจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮ่องกง ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ The Lancet เตือนว่า ยังไม่ควรยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์หรือการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังบังคับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก แม้สถานการณ์ในบางประเทศจะดีขึ้นมาก แต่ควรรอจนกว่าจะค้นพบวัคซีนที่รักษาโรคได้แน่ชัดก่อน
มาตรการล็อกดาวน์ของจีนที่จำกัดชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างเข้มงวด แสดงให้เห็นผลลัพธ์ในการยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 แทบทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลวิจัยที่อิงการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์หลายๆ อย่างนั้นอาจทำให้การระบาดของโรคเกิดขึ้นเป็นระลอกที่สอง
เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ทางการจีนตัดสินใจยุติมาตรการล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 หลังบังคับใช้มานานกว่า 76 วัน เนื่องจากสถานการณ์ภายในเมืองผ่านพ้นการแพร่ระบาดที่รุนแรงมาได้ จนปัจจุบัน แทบไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางวัน ขณะที่จีนยืนยันว่ายังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางส่วนไว้อย่างเข้มงวด แต่การยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางก็ทำให้เกิดความเสี่ยง หลังประชาชนพากันแห่เดินทางออกจากอู่ฮั่นอย่างล้นทะลักตั้งแต่วันแรกที่ยุติล็อกดาวน์ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แน่นขนัดไปด้วยประชาชนจำนวนมาก
“ในขณะที่มาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะลดจำนวนการติดเชื้อลงในระดับที่ต่ำมาก การไม่ใช้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อรับมือโควิด-19 อาจช่วยให้การฟื้นตัวง่ายขึ้น เพราะธุรกิจและโรงงานต่างๆ กลับมาดำเนินการ โรงเรียนหลายแห่งทยอยกลับมาเปิด และกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงของกรณีการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะโควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก” ศาสตราจารย์โจเซฟ ที วู ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าว พร้อมทั้งเตือนว่าการแพร่ระบาดที่รวดเร็วจะเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลจีนและหลายประเทศไม่ควบคุมการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์อย่างช้าๆ และเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้ออย่างใกล้ชิด
และแม้ว่านโยบายในการควบคุมการระบาด เช่น การรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมและรักษาระยะห่างทางสังคมจะยังคงอยู่ แต่การสร้างความสมดุลในเชิงรุกระหว่างที่ค่อยๆ ฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับควบคุมจำนวนการติดเชื้อให้ต่ำกว่า 1 อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดจนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้พบว่าบางประเทศนั้นเพิ่งจะใช้มาตรการล็อกดาวน์มาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าอีกครั้ง โดยปราศจากการประเมินสถานการณ์ที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้การระบาดของโรคลุกลามมากขึ้นและต้องใช้มาตรการใหม่ๆ ที่รุนแรงขึ้นเพื่อยับยั้งการระบาด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ประกาศว่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ด้วยการอนุญาตให้ร้านค้าต่างๆ กลับมาเปิดได้อีกครั้งหลังวันอีสเตอร์ (12 เมษายน) ขณะที่ในเยอรมนี นักเศรษฐศาสตร์ ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ ต่างแนะนำให้ฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมและแรงงานบางกลุ่มกลับมาทำงานได้อีกครั้ง ในขณะที่ยังดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายสิบคนให้ความเห็นในรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo แห่งมหาวิทยาลัยมิวนิก เชื่อว่าวัคซีนที่รักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะยังไม่พร้อมใช้จนกว่าจะถึงปี 2021
ด้านสหราชอาณาจักรที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้รุนแรงและมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 10,000 รายแล้ว พบว่ารัฐบาลกำลังทบทวนแนวทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังจากเริ่มต้นใช้มาได้เกือบ 3 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้งานวิจัยของ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี และ แอนดรูว์ ออสวอลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอร์ริก ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นตัวเลือกหนึ่งในการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของสหราชอาณาจักรเพื่อลดความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ด้วยการปล่อยกลุ่มแรงงานวัย 20-30 ปีให้ออกจากบ้านไปทำงานได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
ณัฐวุฒิเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ก่อนจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยร้ายแรง แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ต้องแลกมากับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 600 คน
ขณะเดียวกันรายงานในวารสาร Lancet ชี้ว่า การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อบางพื้นที่มากกว่าที่อื่นๆ โดยผลวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนพบว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทรัพยากรด้านสาธารณสุข ในมณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาดนั้นมีอัตราการเสียชีวิตของเหยื่อโควิด-19 สูงถึง 5.91% มากกว่าบางมณฑลถึง 6 เท่า
ขณะที่หากระบบสาธารณสุขท้องถิ่นเข้มแข็ง มีบุคลากรและทรัพยากรเพียงพอ ก็จะสามารถรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแบบฉับพลันและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
ทั้งนี้จีนเริ่มต้นมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ซึ่งความเข้มข้นของมาตรการส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการลงในบางมณฑล หลังสถานการณ์ดีขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่า 4 เมืองใน 10 มณฑลของจีน นอกจากมณฑลหูเป่ย ควรยกเลิกการล็อกดาวน์แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กรณีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหากการระบาดของโควิด-19 กลับมารุนแรงอีกระลอก มาตรการล็อกดาวน์เช่นเดิมอาจไม่เพียงพอ และต้องการมาตรการที่แรงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2020/04/09/world/lockdown-lift-vaccine-coronavirus-lancet-intl/index.html?utm_content=2020-04-09T14%3A01%3A07&utm_term=link&utm_medium=social&utm_source=fbCNNi&fbclid=IwAR1MNJhDVksxpkTuCH0m6YeRSe2cRTak18tcywp8KKRVKTKfEenW0R3_dnc
- https://edition.cnn.com/2020/04/06/business/germany-coronavirus-economy/index.html