ในที่สุดความลับที่เก็บงำไว้ได้แย่ที่สุดในโลกก็ได้รับการเปิดเผยแล้ว
เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ แบ็กขวาสายเลือดแท้ของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ออกมาประกาศการตัดสินใจที่จะไปจากสโมสรหลังจบฤดูกาลนี้ และเตรียมจะปิดฉากช่วงเวลา 20 ปีที่อยู่ในชุดสีแดงลงแค่เพียงเท่านี้
การประกาศการตัดสินใจครั้งนี้ – แม้จะไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์เพราะมีกระแสข่าวมาตลอดทั้งฤดูกาล – แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แฟนบอลลิเวอร์พูลจะทำใจยอมรับได้ทุกคน
เจมี คาร์ราเกอร์ ตำนานนักเตะ “One-Club Man” คนล่าสุดของลิเวอร์พูล ผู้อยู่รับใช้สโมสรเพียงแห่งเดียวตลอดชีวิตถึงขั้นบอกว่า “เทรนต์กำลังเปลี่ยนตัวเองจากฮีโร่สู่การเป็นศัตรูของเดอะ ค็อป”
น่าคิดไหมว่าทำไมสำหรับคนที่เป็นนักฟุตบอลท้องถิ่นสักคน การจะไปหาความท้าทายใหม่ที่อื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย?
ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก
ก่อนจะลงลึกหาคำตอบ สิ่งที่ทุกคนควรรู้คือ “ภูมิหลัง” ของเรื่องราวที่มีการเปิดเผยในสื่อกีฬารายใหญ่แทบทุกแห่ง
เหตุผลหลักที่ทำให้เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ตัดสินใจจะไปจากลิเวอร์พูลคือความต้องการในการหาค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต หลังจากที่อยู่ในถิ่นแอนฟิลด์มาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ หรือ 20 ปี
โดยที่ได้แชมป์ทุกอย่างที่ต้องการกับทีมมาครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีกที่ได้ครองถึง 2 สมัย, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, เอฟเอคัพ, ลีกคัพ, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ, แชมป์สโมสรโลก หรือแม้แต่คอมมูนิตี้ชิลด์ก็ด้วย
แบบนี้เรียกว่า “อิ่มตัว” ก็ว่าได้
แต่ในเบื้องหลังแล้วสิ่งที่นำเรื่องราวมาสู่จุดนี้คือปัญหาภายในสโมสรลิเวอร์พูลที่ไม่มีผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการเจรจาต่อสัญญากับผู้เล่น ภายหลังการประกาศลาออกของจูเลียน วอร์ด หลังจบฤดูกาล 2022/23
เชื่อกันว่าถ้าหากลิเวอร์พูลเจรจาต่อสัญญาใหม่กับเทรนต์ในเวลานั้น เขาจะเซ็นสัญญาอย่างง่ายดายแน่นอนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
แต่การ “พักเรื่อง” เอาไว้ก่อนของสโมสร เพราะมุ่งความสำคัญกับเรื่องอื่น (การสร้างทีมชุดใหม่ของเจอร์เกน คล็อปป์) เพราะเชื่อว่าการเจรจากับเทรนต์สามารถทำในภายหลังได้ ทำให้เขามีเวลาที่จะฉุกคิดถึงเรื่องของอนาคตข้างหน้า
กับคำถามว่าถ้าเขาจะไม่อยู่กับลิเวอร์พูลจะเป็นอย่างไร?
คำถามนั้นนำไปสู่การตัดสินใจในเวลาต่อมา ที่ไม่ว่าลิเวอร์พูลจะพยายามในการเจรจาด้วยข้อเสนอที่ดีระดับที่จะทำให้เขาไม่เพียงแต่จะเป็นฟูลแบ็กที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงที่สุดของโลก เป็นหนึ่งในนักเตะที่ได้รับเงินมากที่สุดในสโมสร แต่นั่นไม่อาจเปลี่ยนความคิดของคนที่หัวใจเปลี่ยนไปแล้วได้
เพียงแต่เรื่องการเจรจาต่อสัญญากรณีนั้น “ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก” สโมสรมีสิ่งที่ต้องจัดการหลายสิ่ง และโชคร้ายที่เมื่อจัดการปรับโครงสร้างจนลงตัวหมดแล้ว หัวใจของเทรนต์ก็ไม่ได้อยู่ที่นี่อีกแล้ว
และสำหรับเทรนต์ เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเหมือนกัน ในเมื่อได้เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยฝันเอาไว้แล้ว การออกผจญภัยครั้งใหม่ในดินแดนที่ไม่รู้จักก็ไม่น่าผิดอะไร
แต่นายคือฮีโร่ของชาวเมือง!
แต่ในความรู้สึกของแฟนฟุตบอลจำนวนไม่น้อย การตัดสินใจและการกระทำของเทรนต์เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้
นั่นเพราะเขาคือสายเลือดแท้ไม่ใช่แค่ของสโมสรที่อยู่กับอะคาเดมีมาตั้งแต่ 6 ขวบ แต่ยังเป็นชาวสเกาเซอร์ (ชาวเมืองลิเวอร์พูล) แท้ๆ ที่เกิดและเติบโตในเมืองลิเวอร์พูล
แฟนๆ ถึงขั้นแต่งเพลงเชียร์ “The Scouser in Our Team” (ซึ่งเขาก็ใช้เป็นชื่อหนังสือชีวประวัติส่วนตัวที่เพิ่งออกเมื่อ 2 ปีก่อนด้วย) ให้เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าพวกเขารักและภูมิใจในตัวของเจ้าหนูคนนี้ที่วางตัวดี เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในฐานะนักฟุตบอลและในฐานะคนธรรมดา (เทรนต์จะใช้เวลาว่างในการช่วยงานการกุศลท้องถิ่นอย่างเงียบๆ เสมอ)
ประเด็นเรื่องของความรักและภักดี (Loyalty) จึงเป็นหนึ่งในบ่วงทางใจที่ตัดได้ยากลำบากที่สุดสำหรับทั้งนักฟุตบอลและแฟนบอล เพราะน้ำหนักของความคาดหวังนั้นมากและแตกต่างจากนักฟุตบอลในระดับสตาร์คนอื่นๆ
โดยเฉพาะกับสโมสรอย่างลิเวอร์พูลที่มีความละเอียดอ่อนสูง ชาวเมืองเคยผ่านชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เป็นคนหาเช้ากินค่ำ นักเตะท้องถิ่นที่อยู่ในทีมชุดใหญ่ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่นักฟุตบอลคนหนึ่ง แต่คือ “ตัวแทน” ของพวกเขา คือสายเลือดของคนเมือง เป็นฮีโร่ของชาว “Working class”
เทรนต์ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนฝันอยากจะเป็น ได้ทุกอย่างที่ทุกคนฝันอยากจะได้ ที่แม้แต่ฮีโร่รุ่นที่แล้วอย่างสตีเวน เจอร์ราร์ด ยังไม่เคยทำได้ขนาดนี้
แต่เขาเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างไป ในความรู้สึกของแฟนๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับหรือเข้าใจได้โดยง่าย
โดยเฉพาะเมื่อทีมที่อยากจะไปคือเรอัล มาดริด
ความร้าวฉานระหว่างแอนฟิลด์กับเบอร์นาบิว
ลึกๆ แล้วสิ่งที่เทรนต์ต้องการและเคยบอกออกมาคือการไปให้ถึง “บัลลงดอร์” ซึ่งอีกนัยก็คือเป็นสุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดของโลก
บังเอิญที่นักเตะผู้เก่งกาจในระดับนั้นมักจะไปรวมตัวกันอยู่ที่เรอัล มาดริดพอดี เหมือนในปัจจุบันที่มีทั้ง คีเลียน เอ็มบัปเป, วินิซิอุส จูเนียร์ และจู๊ด เบลลิงแฮม เพื่อนซี้ในทีมชาติอังกฤษของเขา
โอกาสในการได้เล่นร่วมกับสุดยอดนักเตะในรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะช่วยพัฒนาการเล่น หรือพิสูจน์ระดับฝีเท้าให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า แท้จริงแล้วเขาอยู่ในระดับเดียวกับนักเตะเหล่านี้หรือไม่ สิ่งนี้คือปมในใจที่เข้าใจได้สำหรับนักเตะที่มีพรสวรรค์ในระดับ Generational talent
เขาไม่ใช่นักเตะคนแรกที่ย้ายจากแอนฟิลด์ไปซานติอาโกเบร์นาเบว เพราะในอดีตเคยมีผู้เล่นของลิเวอร์พูลย้ายข้ามลีกแบบนี้มาก่อน ซึ่งรวมถึงนักเตะ “ลูกหม้อ” ที่อยู่กับสโมสรมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกอย่าง สตีฟ แม็คมานามาน และไมเคิล โอเวน ด้วย
ในกรณีของแม็คมานามาน ปีกร่างชะลูดที่เป็นขวัญใจระดับเบอร์ต้นของลิเวอร์พูลในยุค 90 นั้นเป็นการย้ายไปแบบไม่มีค่าตัวตามกฎบอสแมนในปี 1999 ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์ไม่น้อยเช่นกันในยุคนั้น เพียงแต่เหตุผลลึกๆ นั้นเป็นเพราะแม็คมานามาน เจ็บปวดจากการที่ลิเวอร์พูลเคยคิดจะขายเขาออกจากทีม หลังได้รับข้อเสนอจากบาร์เซโลนา จนโดนสั่งให้เดินทางไปถึงสนามบินในสเปนเพื่อเตรียมเจรจาสัญญาและปิดดีลการย้ายทีม
แต่สุดท้ายดีลนั้นล่มเพราะเป้าหมายที่แท้จริงของบาร์ซาไม่ใช่แม็คมานามาน แต่เป็นริวัลโด โดยที่แค่ยืมเขาและลิเวอร์พูลเป็นเครื่องมือ ปีกที่จงรักภักดีกับสโมสรจึงต้องระเห็จกลับมาอีกครั้งโดยความรู้สึกที่มีให้กับสโมสรไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สุดท้ายก็รอจนหมดสัญญาและย้ายออกจากทีมโดยที่สโมสรไม่ได้รับค่าตัวแม้แต่แดงเดียวทั้งๆ ที่นี่คือหนึ่งในสุดยอดผู้เล่นของยุคสมัยคนหนึ่ง
รายของไมเคิล โอเวน ซึ่งไม่ใช่ชาวสเกาเซอร์แต่ก็อยู่กับสโมสรมาแต่อ้อนแต่ออกเรื่องราวมีความซับซ้อนน้อยกว่านั้น อดีตกองหน้าเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์แค่ต้องการที่จะไปหาความท้าทายใหม่ๆ และหวังจะประสบความสำเร็จกับเรอัล มาดริดสักช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหวังจะกลับมาที่แอนฟิลด์อีกครั้ง เหมือนที่เอียน รัช ตำนานศูนย์หน้าตลอดกาลเคยย้ายไปยูเวนตุสในช่วงยุค 80 แต่สุดท้ายก็กลับมาในเวลาแค่ฤดูกาลเดียว
โอเวน ยืนกรานที่จะย้ายทีมทำให้สโมสรตัดสินใจขายออกไปในราคาต่ำสุดๆ แค่ 8 ล้านปอนด์ พร้อมได้ปีกที่ใช้การไม่ได้อย่าง อันโตนิโอ นูนเยซมาทดแทน
การโดนทีมอย่างเรอัล มาดริด กระทำแบบนี้มาโดยตลอด – ไม่นับความเป็นอริ (Rivalry) ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจากการเจอกันในนัดชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก 2 ครั้ง (2018, 2022) ทำให้เดอะ ค็อปชิงชังกับสโมสรแห่งนี้
จะเป็นทีมไหนก็ได้ ไม่ใช่ทีมนี้ได้ไหม?
นิยามของคำว่า Loyalty
เอาเข้าจริงแล้วไม่ว่าเทรนต์จะเลือกไปทีมไหนก็ตาม หากมองย้อนกลับมาถึงเรื่องราว การตัดสินใจที่จะไปโดยที่ไม่ช่วยให้สโมสรได้สิ่งตอบแทนใดๆ กลับมาเลยแม้แต่น้อย ก็ยังเป็นเรื่องที่เดอะ ค็อปตั้งคำถามอย่างแน่นอน
เพราะมันมีกรณีตัวอย่างของ อเล็กซิส แม็คคัลลิสเตอร์ ที่ต่อสัญญากับไบรท์ตัน ในช่วงต้นฤดูกาล 2022/23 พร้อมระบุค่าปล่อยตัวตามสัญญา (Release clause) เอาไว้ ทำให้สโมสรต้นสังกัดได้รับเงินก้อนโตอยู่ดี
ในช่วงปิดฤดูกาลที่แล้ว มาร์ติน ซูบิเมนดี ตกลงทุกอย่างกับลิเวอร์พูลได้แล้วและเตรียมเก็บข้าวของย้ายออกจากเรอัล โซเซียดัด แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจเพราะถือ “บุญคุณ” เป็นใหญ่มากกว่าความปรารถนาส่วนตัว
และตัวอย่างที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนที่สุดคือเรื่องในอดีตที่สตีเวน เจอร์ราร์ด เคยปฏิเสธโอกาสในการย้ายร่วมทีมใหญ่ทุกทีมของโลก ซึ่งรวมถึงเรอัล มาดริดด้วย เพราะต้องการจะอยู่เพื่อพาลิเวอร์พูลกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ให้ได้อีกครั้ง
เจอร์ราร์ดเคยกล่าวเอาไว้ว่า “แชมป์มันจะมีความหมายมากขึ้นหากคว้ามันเพื่อปวงชน” และแชมป์เดียวสำหรับลิเวอร์พูลมีความหมายมากกว่า 10 แชมป์กับสโมสรใหญ่ในลีกอื่น
สิ่งนี้คือคำว่า “Loyalty” ที่แท้จริง ซึ่งไม่ได้จำกัดหรือสงวนให้เฉพาะนักฟุตบอลที่อยู่กับสโมสรแห่งเดียวตั้งแต่เกิดจนจบชีวิตการค้าแข้ง หรือค้าแข้งอยู่กับสโมสรมาอย่างยาวนาน
แต่มันพิสูจน์ผ่าน “การกระทำ”
อย่างไรก็ดีในมุมของเทรนต์นั้น หากการตัดสินใจอำลาทีมครั้งนี้จะถูกตั้งคำถามในแง่ของ Loyalty ก็ตั้งไป แต่สิ่งที่เขาพิสูจน์ให้เห็นคือเรื่องของความมุ่งมั่นทุ่มเท (Commitment) ในการลงสนามทุกนัด และพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อจะช่วยทีม
การพยายามสลัดอาการบาดเจ็บกลับมาและช่วยทีมทำประตูในเกมสำคัญกับเลสเตอร์ ที่แทบเป็นการการันตีแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ จึงได้เห็นเขาปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาด้วยความโล่งใจ เพราะถือว่าได้พิสูจน์และได้ทำเพื่อสโมสรแล้ว
แม้ว่าอีกหลายคนจะเสียดายที่หากเทรนต์เลือกกระทำอีกแบบ เช่น ต่อสัญญากับสโมสรก่อน อยู่ต่ออีกสักปีและรอเวลาที่จะย้ายไป มันจะสวยงามและงามสง่ามากกว่านี้ เขาจะได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมา Legacy จะยังคงอยู่ เป็นครอบครัวสีแดงตลอดไป
เพราะการเติบโตของคนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สำหรับนักฟุตบอลบางคนที่มีความรับผิดชอบมากกว่าแค่การเล่นฟุตบอล บางครั้งมันควรต้องทำให้ถูกต้องตาม “ครรลอง” ด้วย
แต่เมื่อมันไม่เป็นเช่นนั้น เขาเลือกจะทำเช่นนี้ จากนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ไม่ว่าเดอะ ค็อปจะรักหรือชัง หรือแค่รักน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่เทรนต์จะต้องเผชิญและแบกรับไปในฐานะสเกาเซอร์ที่ครอบครัวก็ยังพักอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้
ด้วยความหวังว่าสักวันทุกคนจะเข้าใจและยอมรับได้
จากไปวันนี้ ใช่ว่าไม่รัก