วันนี้ (27 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แถลงกรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันสำคัญอีกหนึ่ง วันที่เป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่ประชาชนในท้องถิ่นจะร่วมกันกำหนดทิศทางความเป็นไปของท้องถิ่นตนเองด้วยการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) แต่เราพบปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ 3 ประการ คือ
- การกำหนดวันเลือกตั้งที่ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งมีความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นคือ บริษัทเอกชนหลายแห่งเปิดทำงานในวันเสาร์ ทำให้ผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่นไม่สามารถเดินทางกลับมาเลือกตั้งในวันเสาร์ได้ทัน แม้จะมีผู้ทักท้วงมากมาย แต่ กกต. ก็ยังยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งในวันเดิม
ทั้งนี้ จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนไทยในวัยทำงานมีอยู่ถึงร้อยละ 28-30 ที่ต้องทำงานในวันเสาร์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ฉะนั้นการจัดเลือกตั้งในวันเสาร์เช่นนี้ย่อมคาดหวังว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแน่นอน และการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ ยังมีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 62.86% แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะเหลือผู้มาใช้สิทธิกี่เปอร์เซ็นต์
- ไม่จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกภูมิลำเนา ถือเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่เดินทางไปทำงานนอกถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เลือกตั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับยังภูมิลำเนาเอง จึงอาจส่งผลให้ผู้ที่ทำงานอยู่นอกเขตเลือกตั้งกลับมาใช้สิทธิกันน้อย ขณะเดียวกันก็อาจมีการทุจริตสวมสิทธิแทนผู้เลือกตั้งได้
- กกต. ไม่รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากเท่าที่ควร แม้ขณะนี้จะเหลือเวลาอีกเพียง 5 วัน แต่เรายังไม่เห็นการรณรงค์ของ กกต. อย่างจริงจัง นับเป็นการเลือกตั้งที่เงียบมาก ทั้งที่ กกต. มีงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งในปีนี้ถึง 4,805 ล้านบาท แล้ว กกต. มัวทำอะไรอยู่
นันทนากล่าวอีกว่า จากการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์และรณรงค์ให้คนรับรู้การเลือกตั้ง อบจ. อย่างไร้ประสิทธิภาพของ กกต. เราจึงขอเรียกร้องไปยังผู้ประกอบการทั้งหลายที่มีลูกจ้างเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อนุญาตให้พนักงานไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
“เชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ เพื่อเลือกคนที่มีคุณภาพมาบริหารท้องถิ่น เพื่อยืนยันอำนาจในการปกครองตนเองของท้องถิ่น และรักษาสิทธิทางการเมืองของเราทุกคน ไม่ให้ใครมาเบียดบังหรือแอบอ้างสิทธิของเรา อย่าลืมว่าท้องถิ่นจะพัฒนาด้วยมือที่กาบัตรเลือกตั้งของเรา” นันทนากล่าว