วันนี้ (25 ตุลาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเรียก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าหารือถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลว่าเบื้องต้นการหารือยังไม่ได้ข้อสรุป เพียงแต่ต้องการพูดเพื่อให้แรงงานที่ยังอยู่ที่อิสราเอลได้คิด เพราะจากการประเมินสถานการณ์ทั่วไปยังเลวร้ายอยู่ และการปฏิบัติการภาคพื้นดินก็เกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้ ขณะที่นายจ้างก็ใช้กุศโลบายเพิ่มเงินและจะจ่ายเงินค่าแรงในวันที่ 10 พฤศจิกายน และตอนนี้ยังรอคำตอบจากเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรียังบอกด้วยว่า เมื่อได้มีการพูดคุยก็ตระหนักดีว่าแรงงานที่ไปทำงานบางคนกู้หนี้ยืมสินเพื่อจ่ายค่านายหน้าประมาณ 1-1.5 แสนบาท หากเขากลับมาแล้วไม่ได้เงินจะเป็นปัญหา ซึ่งกฤษฎาเสนอว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะให้เงินกู้ยืมได้ 1.5 แสนบาท เพื่อไปใช้ให้กับบริษัทนายหน้าหรือคนที่แรงงานติดหนี้อยู่ โดยเป็นการให้เงินกู้แบบผ่อนระยะยาว 10 ปี ดอกเบี้ย 0.1% หากเป็นระยะเวลา 20 ปี หารออกมาแล้วตกเดือนละ 600 กว่าบาท
“ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ผมยังไม่อยากพูด เพราะต้องไปศึกษาเรื่องดอกเบี้ย ระยะเวลา เช่น หากเป็นระยะเวลา 30 ปี จำนวนเงินก็จะยิ่งต่ำลงไป นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ก็ยังมีคำถามอีกว่าหากเขาไม่ได้ไปทำงานด้านการเกษตรจะทำอย่างไร ธ.ก.ส. จะปล่อยกู้ได้หรือไม่ เพราะไม่เข้าข่าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจึงเสนอว่าจะให้ธนาคารออมสินช่วยดูแล ซึ่งเราพยายามทำงานกันมาโดยตลอด ถ้ายังไม่มีคำตอบที่ 100% ตนยังไม่อยากพูด แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากแรงงานที่อิสราเอลฟังอยู่ขอให้สบายใจว่าเราจะไม่ทอดทิ้งท่าน และอยากให้ญาติพี่น้องช่วยพูดว่าให้กลับมาเถอะ เพราะสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก อันนี้เป็นนโยบายคร่าวๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ตอนนี้ทีมงานพยายามหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว