×

ประยุทธ์แจงสภาเหตุกู้เงิน 1 ล้านล้าน ชี้โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจรุนแรง รายได้ประเทศหาย 9.28 แสนล้าน

27.05.2020
  • LOADING...

(27 พฤษภาคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทต่อสภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งว่า

 

ปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงทั่วโลก และเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและป้องกัน ทำให้เกิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายคน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยเกิดความชะงักงัน เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว 

 

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.8% ถือเป็นการชะลอตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 

 

ขณะที่ภาคบริการและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัวตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 6.69 ล้านคน ลดลง 38.01% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 332,013 ล้านบาท ลดลงถึง 40.39% 

 

ทั้งนี้จากสถานการณ์การระบาดของโรคที่มีการระบาดหนักในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการปิดพื้นที่ โดยปิดสถานบริการ สถานประกอบการ และสนามบิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งการดำเนินการนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระทบการจ้างงานในทุกสาขาอาชีพ

 

สำหรับประเทศไทย มีการประมาณการว่าโควิด-19 กระทบต่อรายได้ประเทศไทยในปี 2563 ลดลง 9.28 แสนล้านบาท และคนว่างงานอาจสูงขึ้นนับล้านคน ขณะที่สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ติดลบ 5-6% โดยภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือภาคการค้าระหว่างประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะปรับลดรุนแรงมากขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก 

 

จากมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้น แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามจัดการแหล่งเงินที่มีอยู่ ทั้งงบกลาง การปรับแผนรายจ่ายงบประมาณ และการจัดทำ พ.ร.บ. โอนงบประมาณฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการระบาดของโรคและการช่วยเหลือเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วนได้ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศโดยเร็ว รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ โดยเฉพาะการสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุข การเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลประเมินว่าต้องใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท จึงไม่อาจดำเนินการด้วยวิธีการงบประมาณตามปกติ จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลที่ให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก. กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยระยะเวลาที่ต้องลงนามในสัญญาเงินกู้หรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2564 ขณะที่โครงการต้องมีแผนงานชัดเจนตามบัญชีแนบท้ายของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท แผนงานการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท และแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีความจำเป็น รัฐบาลสามารถปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 

 

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม Support By Nikon Sales (Thailand)

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising