×

ส.อ.ท. หนุนรัฐบาลเดินหน้า พ.ร.บ.กู้เงิน ชี้ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ เหตุงบปี 67 ล่าช้า กำลังซื้อหดตัวลงมาก แนะแจงเงื่อนไขให้ชัด

15.11.2023
  • LOADING...
พ.ร.บ.กู้เงิน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และกองทุนพัฒนาขีดความสามารถนั้น ในมุมภาคเอกชนมองว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำเป็น เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในปี 2567 ล่าช้าออกไปถึง 6-8 เดือน ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เอกชนกังวลเป็นอย่างมาก 

 

โดยปัจจุบันที่มีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นเพียงงบประจำ ไม่ใช่งบลงทุน เพราะฉะนั้น มาตรการนี้จะเข้ามาช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในได้อย่างมากด้วย ส่วนเรื่องรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง หนี้นอกระบบลุกลาม

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 90.6% ของ GDP ไปแล้ว รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ มากไปกว่านั้นคือห่วงหนี้นอกระบบที่มีสูงถึง 19.6% ที่พบว่ามีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก และล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากโรงงานหลายแห่งว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์มาเก็บอัตราดอกเบี้ยโหด ซึ่งเหล่านี้สะท้อนไปยังกำลังซื้อของประชาชนที่ตกต่ำ ดังนั้น จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะเร่งหามาตรการมาแก้หนี้นอกระบบด้วย

 

“ดังนั้น ระหว่างนี้ภาคเอกชนขอให้รัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 เช่น นำโครงการ e-Refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย และเร่งพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 

 

“ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่”

 

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 16 ปี

 

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลงจาก 90.0 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 

 

โดยเป็นการปรับลดลงทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการ และดัชนีคำสั่งซื้อรวม ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ปรับดีขึ้นเนื่องจากรัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน

 

“ปัจจัยหลักๆ มาจากเศรษฐกิจประเทศที่ยังคงฟื้นตัวช้า เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัว ขณะที่การปรับราคาสินค้ายังทำได้จำกัดและมีการแข่งขันสูงด้านราคา นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในทิศทางขาขึ้นทำให้ภาระหนี้สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น”

 

แม้ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวสะท้อนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์มาตรการวีซ่าฟรีที่สนับสนุนการท่องเที่ยวฟื้นตัวเพิ่มขึ้น

 

หนุนนายกฯ ชูโปรเจกต์แลนด์บริดจ์เวที APEC ดึงเงินลงทุนสู่ไทย

 

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเฝ้าติดตามภารกิจของรัฐบาลที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปประชุม APEC ที่สหรัฐฯ จากการติดตามพบการหารือกับนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ไม่ว่าจะเป็นการพบผู้บริหาร Tesla และ Google

 

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะเป็นแม็กเน็ตตัวใหม่ดึงการลงทุนในไทย  

 

“โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และอนาคตไทยจะมีพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนเหล่านี้ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” 

 

โดยจะสามารถต่อยอดมาถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเป็นจุดขายของไทย เบื้องต้นทราบว่านักลงทุนต่างชาติไม่ใช่เพียงสหรัฐฯ แต่ทุกประเทศที่นายกฯ ได้เดินทางไปเยือน เช่น จีน และซาอุดีอาระเบีย ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นอีกจุดแข็งของไทยที่ทำให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยมากขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising