สภาวะตลาดการเงินโลกยังคงผันผวนและสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนทุกวัน ถึงเวลาที่นักลงทุนต้องรู้จัก LMTs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม เพื่อเตรียมรับมือวิกฤตทางการเงินและการลงทุน
ข้อมูลล่าสุดจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ประเทศไทย เผยทิศทางของกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure Fund) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากทั้งกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท
แม้กองทุนรวมจะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการกองทุน แต่ในสภาวะที่เงินทุนไหลออกอย่างที่กล่าวไปข้างต้น อาจเกิดแรงกดดันทำผู้ลงทุนเทขายสินทรัพย์จำนวนมากหรือก่อนเวลาที่กำหนด ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกับกองทุน และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้ทำรายการซื้อ-ขาย ซึ่งอาจกระทบต่อการไถ่ถอนหน่วยลงทุนตามมาในวงกว้าง
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จัก Liquidity Management Tools (LMTs) เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับแต่ละกองทุนรวมในการรองรับสภาพตลาดผันผวน สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที แล้ว LMTs ที่ว่านี้จะช่วยบริหารความเสี่ยงและปกป้องผลประโยชน์ของกองทุนรวมได้อย่างไร อธิบายให้ฟังแบบกระชับและเข้าใจง่ายในหน้าถัดไป
LMTs คืออะไร
Liquidity Management Tools (LMTs) เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมริเริ่มโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อช่วยคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุน ลดโอกาสเกิดความเสียหายแก่ตัวกองทุนรวมหากกองทุนรวมขาดสภาพคล่อง และช่วยบริหารจัดการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
เครื่องมือบริหารความเสี่ยงมีทั้งหมดกี่ประเภท
ปัจจุบันเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมที่ บลจ. นำมาใช้มีทั้งหมด 7 เครื่องมือ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
เครื่องมือที่ส่งผ่านต้นทุนให้ผู้ทำธุรกรรมเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย (Pass on Transaction Costs) เครื่องมือในกลุ่มนี้ ได้แก่ Liquidity Fee, Swing Pricing และ Anti-Dilution Levies (ADLs)
เครื่องมือลดหรือชะลอแรงซื้อขาย (Restrict Access to Investor Capital) เครื่องมือที่ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Notice Period, Redemption Gate, Side Pocket และ Suspension of Dealings
เครื่องมือทั้ง 7 บลจ. จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ของตลาดแต่ละขณะ ได้แก่
‘Liquidity Fee’ เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืน หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณที่กำหนดหรือเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเก็บเข้ากองทุนรวม
โดยปกติแล้วกองทุนรวมจะประกาศอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน อัตราจึงมีความแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภาวะตลาดในแต่ละช่วง จึงสร้างความเป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ผิดปกติ
‘Swing Pricing’ เป็นการปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวม ในกรณีที่วันนั้นมีปริมาณซื้อหรือขายมากผิดปกติ
ทั้งนี้ กองทุนจะกำหนดปัจจัยเพื่อชี้วัดมูลค่าการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่เกิดกว่าปกติไว้ล่วงหน้า โดยจะทำเมื่อเกิดสถานการณ์ความผันผวนผิดปกติในตลาด และกองทุนรวมจำเป็นต้องทำรายการตามคำสั่งซื้อหรือขายคืนในปริมาณมากของผู้ลงทุน ส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
‘Anti-Dilution Levies’ หรือ ADLs เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ซื้อ / สับเปลี่ยนเข้า หรือฝั่งผู้ขาย / สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยจะเรียกเก็บในวันที่มีการทำธุรกรรมมูลค่าเกินกว่าที่กองทุนรวมกำหนด เพื่อสะท้อนต้นทุนในการซื้อ-ขายสินทรัพย์ของกองทุนรวม
ทั้งนี้ บลจ. จะกำหนดอัตรา ADLs Factor สูงสุดที่ บลจ. อาจเรียกเก็บไว้ในหนังสือชี้ชวน และสามารถปรับอัตราเรียกเก็บได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดที่กำหนด และต้องคำนึงถึงต้นุทนส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้น เช่น Spread Costs, ค่าธรรมเนียมธุรกรรม, ค่าใช้จ่ายในการยืมทรัพย์สินของกองทุนรวม, ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสัดส่วนการลงทุน, ต้นทุนและค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม REPO เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับธุรกิจขนาดใหญ่ (ถ้ามี) หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
‘Notice Period’ เครื่องมือที่จะช่วยให้กองทุนรวมมีเวลาจัดเตรียมขายสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยกำหนดให้ผู้ลงทุนแจ้งการขายคืนหน่วยลงทุนล่วงหน้า ก่อนที่จะขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกตามเงื่อนไขของกองทุน เพื่อลดโอกาสเกิดการเร่งขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกอย่างรวดเร็วและปริมาณมาก ส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนผันผวน ซึ่งแต่ละกองทุนรวมอาจมีรายละเอียดต่างกัน
‘Redemption Gate’ กำหนดเพดานการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกรวมทั้งหมดในแต่ละวันทำการ เพื่อลดความร้อนแรงและความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม โดยคำสั่งของรายการที่เหลือจะดำเนินการในวันทำการถัดๆ ไป โดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม และทยอยขายพร้อมชำระเงินคืนตามสัดส่วน
‘Side Pocket’ เป็นเครื่องมือที่ช่วยแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม เท่ากับว่าในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสั่งขายคืน จะได้รับเงินคืนเฉพาะส่วนที่ไม่ติดปัญหาสภาพคล่อง และเงินอีกส่วนจะได้รับคืนหลังจาก บลจ. สามารถขายทรัพย์สินนั้นหรือได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ติดปัญหาสภาพคล่องดังกล่าว
‘Suspension of Dealings’ ระงับการซื้อ-ขายหน่วยลงทุนชั่วคราว และไม่รับคำสั่งซื้อ-ขายใหม่ที่เกิดขึ้นในวันที่ประกาศใช้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม บลจ. จะนำมาใช้เมื่อเกิดความจำเป็นเท่านั้น เช่น ตลาดการเงินเกิดความผันผวนรุนแรงจากภาวะสงครามและสถานการณ์โรคระบาด หรือกรณีที่เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนจำนวนมาก เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: https://lmts.aimc.or.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดสาเหตุที่ทำให้ ‘หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์’ สร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดตราสารหนี้ในขณะนี้
- เปิดชื่อ ‘10 หุ้นฮอต’ ต่างชาติแห่ซื้อสุทธิมากสุดในรอบ 6 วันทำการ มูลค่ารวมกว่า 1.25 หมื่นล้านบาท
- 10 อันดับ หุ้นกลุ่มพลังงาน ขวัญใจนักลงทุน ราคาวิ่งแรงที่สุดรอบครึ่งปี 2565
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3RnBQhp
และ 300 ท่านแรกที่เข้ามาทำแบบสอบถามเพื่อวัดความรู้ที่ลิงก์ http://bit.ly/3ERK3Wb จะได้รับโค้ดส่วนลดบัตรสตาร์บัค 200 บาท ไปเลยทันที!