×

Living the Game การต่อสู้นอกสังเวียนของนักเล่นเกม Street Fighter

27.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • Living the Game คือหนังสารคดีบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ 5 นักเล่นเกมมืออาชีพ ที่ฝากชีวิตเอาไว้กับการแข่งขันเกม Street Fighter
  • ไดโกะ อุเมฮาระ คือเกมเมอร์ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในวงการ โดยมีคุณพ่อคอยให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เด็ก
  • จัสติน หว่อง มีคุณยายที่แอบให้เงินเพื่อไปเล่นเกมทุกอาทิตย์ และเขาตอบแทนสิ่งนั้นด้วยการนำเงินจากการแข่งขันเกมมาหาเลี้ยงครอบครัว
  • ลุฟฟีเลือกทำงานประจำที่มั่นคง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะการเล่นเกมจนทัดเทียมกับเกมเมอร์ระดับโลก
  • เกมเมอร์บี ใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อพัฒนาวงการ Street Fighter ของไต้หวันไปพร้อมๆ กัน
  • โมโมจิ คือตัวแทนของคู่รักนักเล่นเกมที่ฝากอนาคตไว้กับเงินรางวัลจำนวนมากจากการแข่งขัน

เมื่อเราก้าวเท้าเข้าสู่โลกของความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ มีหลายครั้งที่ภาระและความรับผิดชอบต่างๆ มักจะทำให้เราหลงลืมช่วงเวลาความสนุกสนานในวัยเด็ก กระทั่งจอภาพยนตร์ที่ฉาย Living the Game หนังสารคดีตามติดชีวิตนักเล่นเกมดับลง ความทรงจำหน้าตู้เกมสี่เหลี่ยมก็สว่างขึ้น พร้อมกับตัวละครในเกม Street Fighter ที่เคยคลั่งไคล้ในวัยเด็กก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ Living the Game

 

ย้อนไปประมาณ 20 ปีก่อน สมัยที่ Street Fighter II โด่งดังในฐานะเกมอาร์เคด เราคือหนึ่งในคนที่ยอมทุบกระปุกเอาเงินไปยืนรอต่อแถวหยอดเหรียญในร้านเกมที่ทั้งมืดและเหม็นอับ เพื่อเริ่มการต่อสู้กับเพื่อนๆ ในละแวกบ้านอยู่แทบทุกวันจนเป็นเหมือนส่วนสำคัญของชีวิตที่ขาดไม่ได้

 

ในวันนั้นเรายังเรียกท่า ‘ฮาโดเคน’ ว่า ‘อะบู๊เก็ต’ เรียกท่าลูกเตะพายุหมุนว่า ‘สเป็ดเจ็ดบู๊เก็ต’ และเป้าหมายของเราไม่ได้มีมากเกินไปกว่าเอาชนะคู่ต่อสู้ที่นั่งอยู่ข้างๆ หรือการเอาชนะคอมพิวเตอร์ไล่ไปทีละด่านเพื่อล้มบอสใหญ่ไบซันลงให้ได้

 

ริวและเคน 2 ตัวละครหลักจากเกม Street Fighter II

Photo: fightland.vice.com

เมื่อเหรียญที่เตรียมเอาไว้หมด เราแยกย้ายกลับบ้าน พอโตขึ้นมาเรื่อยๆ เราเริ่มทำงานและมีรายได้มากขึ้น แต่เวลาที่ได้พาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นกลับน้อยลง จนความผูกพันในตู้สี่เหลี่ยมกับเพื่อนซี้อย่าง ริว เคน กิล ชุนหลี บลังก้า สกัด ฯลฯ ค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา

 

หลังจากนั้นเราเห็นพัฒนาการของเกม Street Fighter ทั้งในด้านเนื้อเรื่อง ตัวละครเทคนิค ภาพประกอบ รวมทั้งอุปกรณ์ในการเล่นที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น นานๆ ครั้งเราจะได้แวะไปหยอดเหรียญย้อนอดีตในเกมเซ็นเตอร์บ้างเป็นบางครั้ง แต่ชีวิตของเราไม่ได้กลับไปอยู่ในนั้นอีกต่อไป

 

แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เพียงแค่ ‘เล่น’ Street Fighter ต่อไป แต่พวกเขายังเอาความหวังและความฝันทุ่มลงไปกับการต่อสู้ในเกมนี้ โดยเอา ‘ชีวิต’ ของตัวเองเป็นเดิมพัน

 

ไดโกะ อุเมฮาระ ตำนานที่ยังมีชีวิตของวงการ Street Fighter

Photo: www.redbull.com

 

อย่างที่เราได้เห็นวิถีชีวิตของนักเล่นเกมมืออาชีพ 5 คน ทั้ง ไดโกะ อุเมฮาระ, ยูสุเกะ โมโมจิ, จัสติน หว่อง, ลุฟฟี และเกมเมอร์บี จาก Living the Game (กำกับโดย ทาคาโอะ โกอัตสึ) หนังสารคดีจาก Documentary Club ที่ยกระดับการต่อสู้ในเกม Street Fighter ขึ้นไปอีกระดับในแบบที่นักเล่นเกมมือสมัครเล่นอย่างเราไม่มีทางจินตนาการได้

 

เพราะในวันที่เราถูกแม่ถือไม้แขวนเสื้อมาที่ร้านเกมเพื่อตามให้เรากลับไปทำการบ้าน แต่พ่อของไดโกะพูดกับลูกชายสุดที่รักว่า “ลูกเก่งอะไรสักอย่างก็พอ อะไรก็ได้ ขอแค่อย่าแพ้ใคร” รวมทั้งคุณยายที่อาจจะไม่เคยสัมผัสตู้เกมมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ยังแอบเอาเงินให้ จัสติน หว่อง ได้ไปเล่นเกมอย่างที่เขาต้องการอยู่ทุกอาทิตย์

 

เราเลือกตอบแทนไม้แขวนเสื้อวันนั้น ด้วยการกลับไปนั่งทำการบ้านอยู่ที่มุมห้อง นอนหลับ แล้วก็ตื่นไปเรียน แต่ จัสติน หว่อง ตอบแทนด้วยการนำเงินที่ได้จากการแข่งขันมาเลี้ยงดูครอบครัว และไดโกะตอบแทนคุณพ่อด้วยการขึ้นมาสู่จุดสูงสุดที่ทุกคนยอมรับว่าเขาคือตำนานที่ยังมีชีวิตของวงการ Street Fighter ที่ยังคงหาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นเกม แม้ว่าปัจจุบันอายุเขาจะมากถึง 37 ปีแล้วก็ตาม

 

ในวันที่เราตัดสินใจให้เกมเป็นเพียงงานอดิเรก และเลือกอาชีพเพื่อเข้าสู่โลกการทำงานอย่างเต็มตัว ลุฟฟี เลือกที่จะทำงานประจำที่มั่นคง เพื่อที่อย่างน้อยพ่อแม่ของเขาจะได้ไม่ต้องบอกใครต่อใครว่าลูกกำลังเล่นเกมเป็นอาชีพ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เอาเวลาส่วนที่เหลือไปพัฒนาทักษะด้านการเล่นเกมจนก้าวขึ้นมาเล่นผู้เล่นอันดับต้นๆ ของโลก

 

เกมเมอร์บี โปรเพลย์เยอร์จากประเทศไต้หวัน

 

ในวันที่เรามองเกมเป็นแค่เรื่องสนุกเอาไว้ผ่อนคลาย ฆ่าเวลากับเพื่อนๆ แต่เกมเมอร์บีเลือกที่จะใช้ความสามารถของเขาเพื่อพัฒนาและจัดการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อพัฒนาวงการ Street Fighter ของไต้หวันด้วยมือของเขาเอง รวมทั้งไดโกะที่นำเงินรางวัลบางรายการไปสนับสนุนการแข่งขันและองค์กรที่เกี่ยวกับการเล่นเกม

 

โมโมจิและแฟนสาวที่เป็นนักเล่นเกมมืออาชีพเหมือนกัน

 

ในวันที่โดนแฟนโกรธเพราะมัวแต่เล่นเกมจนมีเวลาให้เธอน้อยเกินไป เราเลือกแสดงความรักด้วยการหยุดเล่นเกมเพื่อใส่ใจเธอให้มากขึ้น แต่โมโมจิเลือกที่จะแสดงความรักด้วยการตั้งใจเล่นเกมให้มากที่สุด เขายอมวางมือบนเครื่องคอนโทรลเลอร์จนด้านและมีเม็ดแข็งบวมขึ้นมา ยอมฝึกกดท่าเดิมๆ ซ้ำๆ ให้ความไวของเขาเพิ่มมากขึ้นแม้เสี้ยววินาทีเพื่อเพิ่มทำให้โอกาสชนะคู่ของสู้ของเขามีมากขึ้นแม้เพียง 0.1% ก็ยังดี

 

เพราะสำหรับเขา การคว้าเงินรางวัลจำนวนมากจากการแข่งขัน Street Fighter คือสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตคู่ของเขาและโชโกะบลังก้าที่เป็นนักเล่นเกมเหมือนกัน สามารถดำเนินต่อบนโลกแห่งความเป็นจริงได้นานที่สุด ถึงแม้ความเข้มงวดในบางครั้งจะทำให้รูปแบบความรักดูบิดเบี้ยวไปบ้างสำหรับคนทั่วไป แต่สุดท้ายก็เป็นเพราะ ‘เกม’ อีกนั่นล่ะ ที่ทำให้เขารู้ว่าจุดตรงกลางของ ‘คนที่รัก’ และ ‘สิ่งที่รัก’ ควรจะอยู่ตรงไหนกันแน่

 

ถึงแม้ใน Living the Game จะใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งเพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของ ‘คนเล่นเกม’ ที่อาจฟังเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับบางคน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นว่าพวกเขาไม่มีอะไรแตกต่างจากคนทำอาชีพอื่นๆ ที่ฝากชีวิตไว้กับสิ่งที่ตัวเองรัก

 

พวกเขาก็เหมือนกับคนที่เกิดมาเพื่อเป็นนักดนตรี เป็นคนทำหนัง เป็นหมอ วิศวกร สถาปนิก นักเขียน นักวาดภาพ ทนายความ คุณครู ทำธุรกิจ ฯลฯ และอีกสารพัดอาชีพที่ได้รับการยอมรับจากสังคม

 

และในเมื่อพวกเขาทุ่มเท สามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว สร้างตำนาน สร้างประวัติศาสตร์ได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ จะมีเหตุผลอื่นใดอีกที่ทำให้เรามองพวกเขาด้วยสายตาห่างเหินเพียงเพราะคำว่า ‘เกม’ มีภาพจำผูกกับกิจกรรมของเด็กที่ไม่มีประโยชน์อันใดกับชีวิต

 

เพราะถ้ามองในด้านนี้แล้ว จริงๆ ชีวิตบางช่วงของพวกเราบางคน ที่ก้มหน้าใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันโดยไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรกันแน่ อาจกลายเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ มากๆ ในสายตา ‘นักเล่นเกม’ ที่รวบรวมพลังทั้งหมดปล่อยคลื่น ‘ฮาโดเคน’ เพื่อออกมาพิสูจน์ ‘วิถีชีวิต’ ของตัวเองอยู่ก็เป็นได้  

FYI
  • เกม Street Fighter ภาคแรกถูกผลิตออกมาตั้งแต่ปี 1987 โดยค่าย Capcom ตลอดเวลา 31 ปี มีเกม Street Fighter ออกมาทั้งหมด 8 ซีรีส์ ทำยอดขายซอฟต์แวร์ทั่วโลกไปได้ 40 ล้านยูนิต (รวมแผ่นซีดีและขายในระบบออนไลน์) และรูปแบบ ‘ตู้เกม’ อีก 500,000 เครื่อง และทำสติถิเป็นเกมที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของ Capcom เป็นรองเพียงแค่ Monster Hunter และ Resident Evil เท่านั้น
  • ผู้ชนะจากการแข่งขัน Street Fighter Capcom Cup ในปี 2017 ได้รับเงินรางวัลมากถึง 250,000 เหรียญสหรัฐ
  • เนื่องจากรอบหนังมีค่อนข้างจำกัด สามารถเช็กรอบหนังล่วงหน้าก่อนได้ที่ www.sfcinemacity.com/showtime/movie/HO00000203
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X