“ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา” แนวคิดนี้สะท้อนแนวทางการพัฒนาเกษตรกรของจีนได้เป็นอย่างดี ภายใต้นโยบายพัฒนาชนบทของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญในภารกิจขจัดความยากจนและพัฒนาเขตชนบทให้เจริญรุ่งเรือง
โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีภาคการเกษตร ที่ส่งเสริมให้มีการจัดอบรมเทคนิคการใช้เทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือแก่เกษตรกร ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างปลอดภัย การไลฟ์ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าด้วยคลิปวิดีโอสั้น ทำให้ตอนนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือการเกษตรและตัวช่วยในชีวิตประจำวันของเหล่าเกษตรกรไปเรียบร้อยแล้ว
จุดที่น่าสนใจของการประยุกษ์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับการเกษตรคือ เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการไลฟ์ขายสินค้า หรือถ่ายคลิปวิดีโอสั้นเกี่ยวกับไร่นาหรือผลผลิตของตัวเอง ให้ผู้บริโภคคนเมืองได้รับรู้ถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ตลอดจนสามารถกดสั่งซื้อสินค้าได้กับเกษตรกรโดยตรงเลย
วิวัฒนาการการขายสินค้าเกษตรแบบใหม่นี้ทำให้ปีนี้ Douyin หรือเราจะรู้จักกันในชื่อ TikTok แอปฯ วิดีโอสั้นในเครือบริษัท ByteDance ‘กระเป๋าตุง’ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
จุดนี้เองทำให้เกษตรกรหลายรายสามารถทำเงิน ‘หลักล้าน’ จากการไลฟ์ผ่าน Douyin หรือเราจะรู้จักกันในชื่อ TikTok ดังกรณีตัวอย่างของ จิ้นกั๋วเหว่ย ซึ่งเคยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และประกอบอาชีพขายผลไม้ให้กับนักท่องเที่ยวตามท้องถนนในเมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน แต่ตอนนี้เขาเป็นคนดังที่มีติดตามกว่า 7.3 ล้านคน และมียอดขาย 300 ล้านหยวน หรือ 1.5 พันล้านบาทในปี 2020 แถมเขาเคยขายทับทิมมูลค่า 6 ล้านหยวน หรือ 30 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 20 นาทีอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี กัวเฉิงเฉิง เกษตรกรสวนผลไม้ที่มีรายได้ถึง 9 ล้านหยวนต่อเดือน หรือราว 45 ล้านบาท ผ่านการไลฟ์เก็บเกี่ยวผลผลิตทุกชนิดในไร่ของตัวเอง ขณะที่ผู้ชมก็สามารถกดซื้อสินค้าผ่านไลฟ์ที่ดูอยู่ได้เลย ซึ่งทุกคลิปก็ได้กระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยม ทำยอดขายได้ 50,000 ออร์เดอร์ต่อหนึ่งไลฟ์ จากผู้ติดตามกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งหากเทียบกับการลงในแพลตฟอร์ม WeChat ก่อนหน้านี้ ได้ยอดขายเพียง 100 ออร์เดอร์ต่อวัน
วิวัฒนาการขายสินค้าเกษตรแบบใหม่นี้ทำให้ปีนี้ Douyin แอปฯ วิดีโอสั้นในเครือบริษัท ByteDance มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว นับเป็นตัวกระตุ้นหลักให้กลุ่มเกษตรกรหันมาพึ่งพาการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลวิดีโอเหล่านี้มากขึ้น ผลจากทางการประกาศล็อกดาวน์เมือง ห่วงโซ่อุปทานจึงต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้พืชผลการเกษตรต้องถูกทิ้งให้เหี่ยวเฉา
อย่างไรก็ดี การที่ผู้บริโภคหันมาทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ช่วยดันยอดการสั่งซื้อของสดและของใช้ภายในบ้านทางออนไลน์พุ่งสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรายเล็กๆ พากันคว้าโอกาสนี้ หวังเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น เลือกขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถือเป็นช่องทางทำเงินที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุดเเล้ว
โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนเกษตรกรที่ใช้งานไลฟ์แพลตฟอร์มนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Taobao Live ไลฟ์แพลตฟอร์มของ Alibaba Group ที่มีเกษตรกรใช้งานกว่า 100,000 คน และไลฟ์สตรีมไปแล้วกว่า 2.52 ล้านวิดีโอเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ 2 ปีให้หลังมานี้ Douyin มีจำนวนเกษตรกรที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน เพิ่มขึ้น 6 เท่าในปี 2019-2020
ถึงแม้จะทอนต้นทุนของช่องทางการขายไปได้บ้างเเล้ว ทว่า ด้านการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค เกษตรกรยังต้องพึ่งระบบโลจิสติกส์ของอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อย่าง JD Logistics, Cainiao ของ Alibaba หรือ SF Express อยู่
การไลฟ์ขายผลผลิตให้เห็นกันสดๆ นั้นเปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ เพราะข้อดีคือผู้บริโภคจะมั่นใจในสินค้าและสั่งซื้อทันที ขณะเดียวกันอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแบบไม่ทันระวังได้ หากสินค้าที่ถูกส่งไปได้รับความเสียหายขณะขนส่ง เช่น ช้ำหรือเน่าเสีย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี อาจต้องยอมควักทุนเพิ่มขึ้น ใช้การจัดส่งแบบตู้แช่เย็น หากไม่อยากเจอเรื่องร้องเรียนทีหลัง
ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซและไลฟ์สตรีมออกมาบอกถึง 3 ปัจจัย ‘ความปัง’ ที่ซ่อนอยู่ในการไลฟ์คอนเทนต์ของเกษตรกร คือ
- ตอบโจทย์คนเมืองที่หวนคิดถึงธรรมชาติและบรรยากาศสีเขียว
- การโชว์ผลผลิตสดๆ จากไร่ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น จากฝันร้ายด้านความปลอดภัยของระบบตลาดแบบเดิม
- การเผยแพร่วิถีชีวิตสไตล์ชนบท สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมอย่างมาก
“แม้แต่กิจวัตรการให้อาหารสัตว์ของคนในหมู่บ้านก็กลายเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจไปได้” ผู้จำหน่ายผลไม้รายหนึ่งกล่าว “เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คนในเมืองใหญ่ไม่มี และพวกเขาต้องการเห็นมัน”
ขณะที่แวดวงแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง Douyin และ Kuaishou คู่แข่งเบอร์ต้น เร่งขยายแสนยานุภาพในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ยักษ์ใหญ่เจ้าเก่าอย่าง Taobao, JD.com และ Pinduoduo กำลังฟัดเหวี่ยงชิงตลาดกันอย่างสุดฤทธิ์ งัดกลยุทธ์ดึงดูดเกษตรกรหลายรูปแบบ ทั้งจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้ อำนวยความสะดวกในแพลตฟอร์ม ตลอดจนสนับสนุนด้านการเงิน เป็นต้น
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ของจีนนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากแผนนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายพัฒนาชนบทที่ภาครัฐเดินหน้าอย่างจริงจังมาตลอด 8 ปี ซึ่งวันที่ 1 เดือนนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี พร้อมประกาศชัยชนะของนโยบายพัฒนาชนบท (San Nong) ที่มุ่งสร้างความก้าวหน้า 3 ด้าน คือ เกษตรกรรม, พื้นที่ชนบทห่างไกล และเกษตรกร
รวมถึงในแผนปฏิบัติการของรัฐบาลที่ออกมาในวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประกาศให้ขยายขีดความสามารถของอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรฐานราก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม ทั้งนี้ ภาคการเกษตรมีความสําคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจีน ไม่เพียงแต่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ แต่ด้วยแรงงานกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ ทำงานอยู่ในตลาดนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า ความขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ชนบทนั้นจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ล้านคน หรือกว่า 61.3% ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งดูท่าว่า Douyin และคู่แข่งอีกหลายราย อาศัยช่องว่างตรงนี้เร่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้เข้ามาเติมเต็มด้านนี้มากยิ่งขึ้น
“เราจะส่งเสริมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ประเภท San Nong ต่อไป” โฆษกของ Douyin กล่าว “เกษตรกรจะสามารถได้กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อได้ขายโดยตรงให้กับลูกค้า”
ภาพ: Bloomberg Quicktake: Now / www.youtube.com/watch?v=E_Qv9IhseJI&t=34s
อ้างอิง :