วานนี้ (20 พฤศจิกายน) THE STANDARD ร่วมกับ Glow Story จัดเสวนาในหัวข้อ Live from People’s Voice to Policy กรุงเทพฯ สร้างสรรค์ ชวนจับตาใช้งบฯ กทม. อย่างตรงจุด โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (โฆษก กทม.), รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. พรรคก้าวไกล และ นภาพล จีระกุล อดีตรองประธานสภา กทม. พรรคประชาธิปัตย์
สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาที่พบมากที่สุดในพื้นที่ กทม. พงศกรกล่าวว่า ประเด็นแรกคือเรื่องการจราจรติดขัด เป็นปัญหา 10-20 ปี และเรื่องเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงประเด็นทางเท้า ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้คือส่วนที่เป็นปัญหาในสถานการณ์ปกติ ส่วนในสถานการณ์โควิดคือเรื่องปัญหาระบบสาธารณสุขและปัญหาปากท้อง
ขณะที่นภาพลมองว่า ในพื้นที่ กทม. นั้นมีปัญหาหลายอย่างด้วยกัน ในสมัยที่ตนเองเป็นสมาชิกสภา กทม. ก็พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการจราจร เคยมีแนวคิดจะขอเรื่องการจราจรมาให้ กทม. ดูแล ซึ่งจริงๆ แล้วปัจจุบันเทคโนโลยีก็มีความทันสมัย ดังนั้นเราควรนำเทคโนโลยีมาใช้แทนการกดไฟจราจรด้วยตำรวจที่อยู่ตามแยกต่างๆ รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่ง กทม. จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย
“และปัญหาที่ กทม. หลีกเลี่ยงยังไม่ได้และต้องแก้ไขคือปัญหาขยะมูลฝอย และแนวทางมีเพียงอย่างเดียวคือการฝังกลบ ค่อนข้างจะเยอะมากๆ และการจัดการขยะต้องทำให้เป็นระบบ เพราะขยะค่อนข้างจะเยอะ” นภาพลกล่าว
ด้านณัฐพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพร้อมแล้ว ประชาชนพร้อมแล้ว แต่ต้องถามทางภาครัฐว่าพร้อมหรือไม่ที่จะนำไปใช้ โดยส่วนตัวมองว่าปัญหาเกือบทั้งหมดของ กทม. นั้นมาจากปัญหาโครงสร้างอำนาจ
ณัฐพงษ์กล่าวถึงระบบโครงสร้างอำนาจว่า ทุกวันนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ได้รับเลือกตั้งมาไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกเรื่อง เช่น เรื่องการขยายถนนก็ไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้ ซึ่งถ้าเราดูกฎหมายในต่างประเทศ ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งก็จะสามารถเวนคืนได้ และการกระจายอำนาจชั้นเดียวที่มีเพียงจังหวัด แล้วพอมาถึงระดับเขตก็กลายเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ถ้าเรามีผู้อำนวยการเขตที่มาจากการเลือกตั้งและใกล้ชิดประชาชน ก็คิดว่าน่าจะเหมาะสม
ณัฐพงษ์กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเคยลงพื้นที่และนำบิลบอร์ดไปแปะและให้ประชาชนนำเสนอปัญหา ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากได้เรื่องปัญหาความโปร่งใสในการจัดการงบประมาณ และเชื่อว่าการใช้แรงสังคมกดดันย่อมจะส่งผลสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำงบประมาณในทุกระดับ
ขณะที่รสนาระบุว่า เราต้องมองถึงคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาของตนเอง และคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจน้อยมาก สิ่งที่สำคัญคือเวลาที่เราจะแก้ปัญหา เราไม่ได้บูรณาการในการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5
รสนายังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของประชนว่า ถ้าจะทำแบบที่ต่างประเทศเข้าทำคือทำในพื้นที่เล็กๆ ก่อน 4-5 เขต เลือกให้ประชากรเข้ามา ให้เขาคิดว่าจะมีโครงการอะไรบ้างในแต่ละเรื่อง ปัญหา กทม. มีหลายอย่าง แต่ไม่ได้จัดระบบว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรก่อน เป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการเขตคิดเอาเองว่าจะทำอะไรให้ประชาชนก็รับไป
เมื่อถึงการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Budgeting (PB) ณัฐพงษ์กล่าวว่า งบประมาณการมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้เกิดจริง ตนมองว่าเราต้องทำอะไรที่ประชาชนมีส่วนร่วมและทำได้เลย เช่น การเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์น้อย ซึ่งเราต้องรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มากๆ และเราต้องมองโครงการในทุกระดับทั้งเล็กและใหญ่
“ขอฝากให้คิดอย่างนี้ว่า เราไม่สามารถเดินทางไปดาวอังคารด้วยการโหวต เพราะฉะนั้นงบประมาณการมีส่วนร่วมบางครั้งก็อาจเป็นโครงการเล็กๆ และใกล้ประชาชน และไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้งบประมาณแบบมีส่วนร่วมประสบความสำเร็จ” ณัฐพงษ์กล่าว
ด้านรสนากล่าวเพิ่มเติมว่า งบประมาณการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ถ้าหากอยากให้เกิดขึ้นก็ต้องขึ้นอยู่กับ กทม. ตนเองเห็นด้วยว่างบประมาณแบบมีส่วนร่วมควรทำกับปัญหาที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน และอาจมีการทดลอง 4-5 เขตในแบบที่ชาวบ้านสามารถมาโหวตแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้ รวมทั้งสามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการและสามารถเข้าร่วมมาตรวจสอบและรับมอบตลอดโครงการ
เมื่อถามว่าหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมหรือไม่ รสนากล่าวว่า “แน่นอนเลยค่ะ ดิฉันจะทำ เพราะนี่คือสิ่งที่ดิฉันต้องการจะทำอยู่แล้ว”
ด้านนภาพลกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สภา กทม. ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประชาชนสามารถร่วมพัฒนาพื้นที่ได้ โดยเฉพาะจุดเล็กๆ ในชุมชน ขอฝากอย่างนี้ว่า ตอนนี้การตั้งชุมชนใน กทม. ค่อนข้างยากมาก การตั้งผู้นำชุมชนหรือตัวแทนที่จะสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนได้ยากมาก ถ้ามีการตั้งชุมชน ทุกบ้านต้องมีโฉนดที่ดินมาให้กับเขต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก
นอกจากนี้ที่ผ่านมามีการตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในการกลั่นกรองงบประมาณ และเราจะได้เห็นว่าที่ผ่านมา ส.ก. คนไหนบ้างที่มาดูแลประชาชนในพื้นที่ และฝากถึงรัฐบาลว่า มีการยกเลิกเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งถือเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
และปิดท้ายที่พงศกรซึ่งกล่าวว่า ตนเองสนับสนุนกระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม แต่เราต้องออกระบบการมีส่วนร่วมที่ดี กำหนดผู้มีส่วนร่วม และมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ รวมถึงกำหนดประเด็นที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ และการกำหนดผู้มีส่วนร่วมว่าจะจัดสรรอย่างไร ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจน
“การแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็สามารถแก้ได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องหัวคะแนนเกณฑ์คนมาโหวตเพื่อเอางบฯ ไปทำโครงการในแบบของตนเอง และแน่นอนว่ากระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ดีและจะสามารถตอบโจทย์ทุกคนได้” พงศกรกล่าวในที่สุด