หนึ่งในความท้าทายใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมไทยคือ การถูกมองว่าประเทศกำลังตกอยู่ในกับดัก ‘First Industry’ หรืออุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 4-5 ทศวรรษ และกำลังตามหลังเทรนด์โลก ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ตามด้านการใช้งานเทคโนโลยี
ความท้าทายดังกล่าวผนวกกับเทรนด์ดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ถูกดิสรัปต์ อย่างเช่น เทรนด์ Digital Transformation และกฎระเบียบใหม่ของโลกที่ถูกบังคับใช้กับธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
เพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังเข้ามาคุกคามธุรกิจไทย บริษัท LIV-24 จำกัด (ลีฟ ทเวนตี้โฟร์) บริษัทใหม่ที่เพิ่งสปินออฟเมื่อต้นปีนี้มาจากบริษัทในเครือ บมจ.แสนสิริ ประกาศความร่วมมือภาครัฐ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาอุตสาหกรรม จัดงาน LIV-24 Industrial Tech Revolution: ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย AI และ Industrial Tech
LIV-24 นำ Industrial Technology โซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ผสานเข้ากับทักษะของมนุษย์ เพื่อรับมือกับปัญหาที่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย กล้องตรวจจับความผิดปกติ การดูแลขนส่ง การจัดการน้ำเสีย และการจัดการพลังงาน โดยเชื่อมต่อเข้าสู่ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Command Centre) ที่สามารถดูแลแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย
“การวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ปัญหาได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีร่วมกับการช่วยตัดสินใจโดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างทันท่วงที และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ซึ่งจะยกระดับประเทศสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมในภูมิภาคต่อไปได้” นิรมล ดิเรกมหามงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท LIV-24 จำกัด กล่าว
ความสำคัญของเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อรายได้ของ LIV-24 เติบโตตั้งแต่ 1.7 ล้านบาทในปี 2562 ขึ้นมาเป็น 65.3 ล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าปีนี้จะโตเกิน 2 เท่าด้วยเป้าหมายรายได้ 165 ล้านบาท
นอกจากนี้ นิรมล ดิเรกมหามงคล และ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่างมองเห็นปัญหาตรงกันว่าไทยกำลังเจอภาวะแรงงานขาดแคลน โดยในส่วนนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาอุดช่องว่างงานรูปแบบเดิมๆ เพื่อรีดเอาศักยภาพของแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งข้อมูลจากการร่วมมือระหว่าง LIV-24 กับลูกค้า พบว่าเทคโนโลยีลดต้นทุนแรงงานได้ถึง 20%
“ประชากรเกิดใหม่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการใช้ AI จึงจำเป็น และการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้มีความรู้ทางเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการ ‘ซื้อเวลา’ ให้อุตสาหกรรมไทยไปต่อและแข่งขันบนเวทีโลกได้” เกรียงไกรกล่าว
โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมคือ การเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้กลายเป็นผู้ออกแบบและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าตนเองได้มากกว่า (ODM กับ OBM) ซึ่งเกรียงไกรเสนอแนวทาง ‘4 Go’ สำหรับธุรกิจไทยเพื่อทรานส์ฟอร์มตัวเอง โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังที่จะเร่งเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายใน 2 ปี ดังนี้
- Go Digital: ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ที่ครองสัดส่วนธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลได้จัดงบสนับสนุนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภายใต้โครงการ ‘Digital One’ ให้ SMEs เข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็น พร้อมทั้งบรรเทาภาวะต้นทุนสูงเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ
- Go Innovation: ผลักดัน SMEs ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ โดยใช้โมเดลเดียวกับอิสราเอล ซึ่ง ส.อ.ท. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันตั้งกองทุน ‘Innovation One’ มูลค่า 2 พันล้านบาท สนับสนุนธุรกิจไทย
- Go Global: ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับคุณภาพสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับมาตรฐานสากลในตลาดต่างประเทศ
- Go Green: กฎระเบียบโลกเปลี่ยน ความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นวาระที่หลายประเทศแสดงถึงความเอาจริงเอาจังมากขึ้น ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบการจัดการพลังงาน ก็จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้
โดยรวมแล้วเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหลักที่เข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทย และผ่านการร่วมมือกันของเอกชนอย่างบริษัท LIV-24 และภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม