×

Little Miss Period โปรดรับรู้และเข้าใจว่าผู้หญิงเจ็บปวดแค่ไหนใน ‘วันนั้นของเดือน’

28.02.2020
  • LOADING...

‘เธอมาเยือนเดือนละครั้ง’

 

ประโยคสั้นๆ ที่ผู้หญิงทุกคนรู้กันดีว่า ‘เธอ’ นั้นหมายถึง ‘เพื่อน’ ที่จะวนเวียนกลับมาหาทุกครั้ง พร้อมกับอาการปวดท้องประจำเดือนและความแปรปรวนของอารมณ์ที่อธิบายให้ตายอย่างไรผู้ชายก็ไม่มีวันเข้าใจ

 

หนังเรื่อง Little Miss Period เซย์ริจัง น้องเมนส์เพื่อนรัก คือโอกาสอันดีที่เราอยากแนะนำให้ผู้ชายลองเปิดใจเข้าไปรับชม เพื่อจะได้ทำความเข้าใจถึงช่วงเวลาอันแสนเจ็บปวดและยากลำบากที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญให้มากขึ้น และรับรู้ไว้ว่า เมื่อ ‘วันนั้นของเดือน’ มาถึง โปรดเห็นใจและประคองความรู้สึกของสาวๆ เอาไว้ อย่าได้โกรธหรือโมโหกับ ‘ภาวะ’ ที่พวกเธอเลือกไม่ได้อีกเลย

 

ส่วนสิ่งที่สาวๆ จะได้รับเมื่อเข้าไปรับชม Little Miss Period เรื่องนี้คือ การได้เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ มาแบ่งปันประสบการณ์ บรรเทาความรู้สึกแย่ เมื่อได้รับรู้ว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่ยังมีคนอีกมากมายที่ล้วนเจ็บปวดไม่ต่างหรือมากกว่าอยู่ทั่วทุกมุมโลกใบนี้ 

 

Little Miss Period ว่าด้วยเรื่องราวของสามสาวต่างวัยที่ต้องรับมือกับปัญหาชีวิตที่เข้ามารุมล้อมอย่าง อาโอโกะ (ฟูมิ นิไคโด) บรรณาธิการสาวที่ดันไปตกหลุมรักกับคุณพ่อลูกหนึ่ง, ฮิคารุ (ริซากิ มัตสึคาเสะ) นักเรียนสาวที่กำลังทุ่มทุกอย่างเพื่อการสอบ และ ริโฮะ (ซาอิริ อิโตะ) ภารโรงสาวที่ผันตัวเองมาเป็นบล็อกเกอร์ แต่แล้วก็มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาทำให้หัวใจของเธอเต้นไม่เป็นจังหวะ

 

นอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์และปัญหาทั่วไปในชีวิตที่ยากจะรับมือ ทั้งสามสาวยังต้องเผชิญกับภาวะที่มี เซย์ริจัง มาสคอตรูปหัวสีชมพู ตัวแทน ‘ประจำเดือน’ ที่ติดตามพวกเธอไปทุกหนแห่งในช่วงเวลาที่พวกเธอแสนเศร้า หดหู่ อารมณ์แปรปรวน ควบคุมไม่ได้ และเป็นเพื่อนคอยปลอบใจ รับฟังปัญหาเพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน 

 

สิ่งที่นำเสนอใน Little Miss Period ถูกดัดแปลงมาจากการ์ตูนออนไลน์ในชื่อเดียวกัน ที่โด่งดังจนถูกนำมาตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายเดือน Comic Beam และยังคว้ารางวัล Tezuka Osamu Cultural Prize 2019 ในสาขา Short Work ที่นับว่าเป็นหนึ่งในเวทีมอบรางวัลอันทรงเกียรติของวงการมังงะญี่ปุ่นอีกด้วย

 

สิ่งที่น่าประหลาดใจมากๆ คือผลงานที่พูดแทนใจผู้หญิง มาจากปลายปากกาของนักเขียนเพศชายอย่าง เคน โคยามะ ที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองความคิดดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น ที่เชื่อว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นสิ่งสกปรกห้ามเอ่ยถึง

 

คาซุเอะ มูตะ ศาสตราจารย์สายสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ได้ชื่นชมว่าการ์ตูน Little Miss Period คือกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงกับปัญหาชายเป็นใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น

 

“ประเด็นชายเป็นใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่แฝงตัวอยู่ในสังคม และขาดการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่นำเสนอในเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องดีที่จะพาสังคมก้าวไปข้างหน้าและได้รับการศึกษามากขึ้น”

 

และเมื่อ Little Miss Period เข้าฉายที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2019 ก็ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้ชมเพศหญิงที่รู้สึกดีใจว่าในที่สุดก็มีคนนำปัญหาใหญ่ที่หลายคนชอบทำเป็นไม่สนใจออกมานำเสนอให้ทุกคนได้รับรู้เสียที

 

รวมทั้งนักเขียนเฟมินิสต์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง มิโนริ คิตาฮาระ ที่ศึกษาเรื่องราวของสิทธิสตรีตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม ก็ยังแสดงความชื่นชมหนังเรื่องนี้เช่นกัน

 

“ดีใจที่หนังกล้าพูดในประเด็นแบบนี้ แต่วิธีเล่าเรื่องอาจไม่ได้ซีเรียสจริงจังมาก จนดูเหมือนเป็นคอเมดี้ทอล์กโชว์ไปนิด จนอาจทำให้หนังขับเน้นว่าการมีประจำเดือนของผู้หญิงดูไม่ได้หนักหนาอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่คือสิ่งทุกท่านต้องไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเองกันในโรงภาพยนตร์”

 

ล่าสุดก็ถึงเวลาของผู้ชมในประเทศไทยที่จะเข้าไปทำความเข้าใจปัญหาภาวะทั้งช่วง ‘ก่อน’ และ ‘ระหว่าง’ มีประจำเดือนของผู้หญิงให้มากขึ้นอีกครั้งได้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ในโรงภาพยนตร์

 

โดยเฉพาะผู้ชายทั้งหลายที่ยังคิดว่าผู้หญิงชอบใช้ ‘ประจำเดือน’ เป็น ‘ข้ออ้าง’ เวลาโมโหหรือหงุดหงิดจนเกินไป ได้เข้าใจสิ่งที่พวกเธอเผชิญอยู่ได้มากขึ้น อย่าให้ต้องถึงขั้นเป็นแบบที่ตัวละครหนึ่งในเรื่องที่พูดว่า

 

“ฉันอยากให้ผู้ชายมีประจำเดือนอย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี”

 

เพราะเรามีทางเลือกที่ง่ายกว่านั้น เพียงแค่ เปิดใจ เห็นใจ ให้กำลังใจและคอยยืนอยู่ข้างๆ เพื่อปลอบใจในวันที่สภาวะจิตใจพวกเธออ่อนไหวมากที่สุด

 

เพียงแค่เดือนละครั้งเท่านั้นเอง

 

สามารถรับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X