มีการคาดการณ์ว่า อีก 2 ปีข้างหน้าทั่วโลกอาจต้องเตรียมรับมือกับราคาแบตเตอรี่ EV ที่แพงขึ้น เพราะลิเธียมจะขาดแคลน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ลิเธียม’ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันออสเตรเลียและชิลีถือเป็น 2 ประเทศผู้ผลิตและเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโลก
ล่าสุดในฐานะที่ไทยกำลังจะก้าวสู่ฮับ EV ภูมิภาค กระทรวงอุตสาหกรรมจึงไม่รอช้า เร่งจัดหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ซึ่งกำลังเป็นคลื่นทุนใหญ่ที่ต่างกำลังหลั่งไหลเข้ามาในไทย
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าลิเธียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า EV จึงได้สั่งการให้ กพร. เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตว่าประเทศไทยจะมีลิเธียมในการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- GAC และ Changan แบรนด์ยักษ์ EV จีน คลื่นลูกที่ 2 ที่หันมาบุกตลาดอาเซียน และอาจกำลังเข้ามาโค่นบัลลังก์ BYD ในไทย
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
- สรุป 10 อันดับ ยอดจองรถ Motor Expo 2023 คลื่น EV จีนเริ่มขึ้นแล้วในไทยจริงหรือ?
กรมเหมืองแร่ชี้ ไทยมีแหล่งลิเธียมศักยภาพ 2 แห่ง
อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กพร. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเธียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเธียมมาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้ม ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง
โดยลิเธียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเธียมในปัจจุบันสามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กพร. ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย
“นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเธียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน
กพร. จึงเร่งดำเนินการอนุญาตอาชญาบัตรให้มีการสำรวจแหล่งลิเธียม เพื่อกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเพิ่มเติม และจะเร่งอนุญาตประทานบัตรทำเหมือง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป” อดิทัตกล่าว
ออสเตรเลียและชิลี ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโลก
ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ออสเตรเลียและชิลี เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่ครองสัดส่วนรวม 77% ของการผลิตทั่วโลก ตามด้วยอาร์เจนตินาและจีน
ปริมาณการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 737,000 ตันต่อปี (LCE) โดยปี 2566 คาดว่าจะมีการผลิตสูงถึง 964,000 ตัน ขณะที่ความต้องการในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจขาดแคลนถึง 40,000-60,000 ตันภายในปี 2568
ส่วนตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วโลกมีมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสูงถึง 1.94 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2573
อ้างอิง: