ตลท. ยกระดับการกำกับดูแล บจ. ทั้งกระบวนการ ทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 ประกาศคุณสมบัติ Backdoor Listing และ Resume Trading ให้เทียบเท่า New Listing เป็นต้นไป
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างต่อเนื่อง ในการศึกษา ทบทวน และปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุด ตลท. ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการเพิกถอนเพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลและการเตือนผู้ลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย หลังจากการปรับปรุงการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลมากขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 โดยครั้งนี้ ตลท. ได้ปรับปรุงเกณฑ์ 4 เรื่องสำคัญดังนี้
- ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai โดยเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้
- ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมายดังนี้
2.1 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่อง หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้
2.2 กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
2.3 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด
โดยการเตือนผู้ลงทุนจะแสดงด้วยเครื่องหมายที่แตกต่างกันตามแต่ละเหตุ ซึ่งเครื่องหมายใหม่นี้จะทดแทนเครื่องหมาย C (Caution) ในปัจจุบันด้วย
- เพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน
- เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
โดยการปรับปรุงเกณฑ์ในข้อ 2-4 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว
ถึงเวลาต้องแก้เกณฑ์เน้นเพิ่มคุณภาพ บจ.
ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท. กล่าวว่า การยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. มาจากจุดที่มองว่าถึงเวลาที่เข้ามาปรับทบทวนเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ปรับมานาน โดยเฉพาะเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่เกณฑ์การรับบริษัท บจ. ใหม่เข้าจดทะเบียนปัจจุบันนั้น ตลท. ใช้เกณฑ์เดิมมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งในยุคนั้นผ่อนคลายเกณฑ์เพื่อสนับสนุนเอื้อให้บริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนได้สะดวก แต่มาถึงปัจจุบันมองว่าถึงเวลาเหมาะสมที่จะปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว โดยเกณฑ์การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai จะปรับปรุงด้านคุณสมบัติมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน
“ในมุม ตลท. ไม่ได้เน้นปริมาณหรือจำนวน บจ. ที่จะเข้ามาจดทะเบียน สิ่งที่เราอยากเห็นคือคุณภาพ จากเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงจะเห็นว่าสิ่งที่มีเพิ่มขึ้นคือความสามารถในการทำกำไรกับฐานะการเงินที่มีต้องมีมากขึ้นให้เหมาะกับสถานการณ์”
ขณะที่ในส่วนของการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องการเพิ่มการเตือนให้กับผู้ลงทุนในแต่ละจุดให้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและเพิ่มการเปิดเผยให้นักลงทุนมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ดูแลตัวเอง
“สิ่งที่ ตลท. ต้องการทำคือเน้นเรื่องการเปิดเผย เน้นการเตือน เน้นการให้ข้อมูลให้มากขึ้น”
เกณฑ์ใหม่ ทำ บจ. ถูกแขวน C เพิ่มขึ้น 50 บริษัท
ขณะที่ ดวงรัตน์ สมุทวณิช ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานกำกับบริษัทจดทะเบียนและตราสารอื่น ตลท. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 ตลท. จะเริ่มใช้มาตรการยกระดับการเตือนนักลงทุนด้วยการขึ้นเครื่องหมายในชุด C คาดว่าจะมีหุ้นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีปัญหาด้านฐานะการเงิน เช่น กลุ่มที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ, ถูกสั่งให้แก้ไขฐานะการเงิน, ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี, ผิดนัดชำระหนี้ จะถูกขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มขึ้นเป็น 50 บริษัท จากปัจจุบันที่มีหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จำนวน 19 บริษัท
สำหรับเครื่องหมายแรกจะขึ้นเป็น CB เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบว่า บจ. นั้นๆ มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว หรือศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หรือขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าทุนชำระแล้ว หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ หรือมีรายได้จากการดำเนินงานต่ำกว่า 100 ล้านบาท สำหรับ บจ. ใน SET และน้อยกว่า 50 ล้านบาท สำหรับ บจ. ใน mai ซึ่งมีหุ้น บจ. ที่จะเข้าข่ายการถูกขึ้นเครื่องหมายจำนวนมาก รวมถึง 19 บริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C อยู่แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องหมาย C ประเภทอื่นๆ ได้แก่ CS, CC และ CF จะทยอยตามมาทีหลัง เพื่อแจ้งให้กับนักลงทุนได้ทราบข้อมูลที่ควรนำไปพิจารณาลงทุน และหุ้นที่ถูกเครื่องหมาย CB, CS, CC และ CF จะต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance และต้องจัด Public Presentation ภายใน 15 วัน และทุกไตรมาสจนกว่าจะแก้ไขเหตุได้
ส่วนหุ้นที่เข้าเกณฑ์ถูกเพิกถอน ซึ่งมีอยู่ราว 20 บริษัท หลังจากยกระดับมาตรการเตือนนักลงทุนแล้ว มองว่าจะไม่กระทบต่อ บจ. ที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนมากนัก และเป็นโอกาสที่ บจ. กลุ่มดังกล่าวมีเวลาปรับปรุง แก้ไข และตื่นตัว ซึ่ง ตลท. คาดหวังให้ บจ. ที่เข้าข่ายถูกเพิกถอนพยายามปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้ถึงขั้นเพิกถอนออกไปจาก ตลท.