×

เปิดรายชื่อ 34 รัฐมนตรี ครม. เศรษฐา 1 ใครเป็นใคร?

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2023
  • LOADING...
รายชื่อ รัฐมนตรี

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

 

มีหัวหน้าคณะรัฐมนตรีคือ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นสมัยแรก ที่มาจากการโหวตโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยมีองค์ประกอบคือ รัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน รวม 1 นายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับ 36 คน โดยเศรษฐานั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตนเอง ขณะที่รัฐบาลเศรษฐา 1 มีรัฐมนตรีเพียง 34 คน

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้มีเพียง 6 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, เพื่อไทย และประชาชาติ แต่การจับมือเป็นขั้วการเมืองฝ่ายรัฐบาลยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวน 5 พรรค ซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งใน ครม.

 

อย่างไรก็ตาม ครม. จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ และ ณ วินาทีนั้นเองจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์​ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการปิดฉากอำนาจ 9 ปีนับแต่สวมหมวก คสช.

 

1. เศรษฐา ทวีสิน

ตำแหน่ง: นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

ถึงจะเคยลั่นวาจาว่า “จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น” แต่สำหรับนักธุรกิจหมื่นล้าน เศรษฐา ทวีสิน เส้นทางนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ตั้งแต่ประกาศเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งได้รับการเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย นับเป็นเวลา 5 เดือน 22 วัน (1 มีนาคม – 22 สิงหาคม 2566) จนได้รับการเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้นั่งเก้าอี้ ‘นายกรัฐมนตรีคนที่ 30’

 

เศรษฐา ทวีสิน ชื่อเล่นว่า นิด เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นบุตรคนเดียวของ ร.ท.อำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน 

 

เศรษฐาสมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ มีบุตร 3 คน คือ น้อบ-ณภัทร ทวีสิน, แน้บ-วรัตม์ ทวีสิน และ นุ้บ-ชนัญดา ทวีสิน

 

ชื่นชอบฟุตบอลทีมลิเวอร์พูล ได้สร้าง ‘แสนสิริ อะคาเดมี’ ให้บริการเยาวชนฟรี เพื่อฝึกทักษะเป็นนักฟุตบอลที่ดีของประเทศชาติ 

 

เศรษฐาถูกจับตาในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาพร้อมกับการประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ท่ามกลางการที่พิสูจน์ฝีมือในฐานะหัวหน้า ครม. จึงเป็นโจทย์หินไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเชิงโครงสร้างด้วย

 

2. ภูมิธรรม เวชยชัย 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นที่รู้จักในชื่ออ้วน จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ผ่านหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ในปี 2547 ถือเป็นอดีตคนเดือนตุลา 19 ที่หนีเข้าป่า ต่อมาทำงานกับ NGO สร้างเครือข่ายอาสาสมัครทั่วประเทศ 

 

เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกด้วยการตั้งพรรคประชาธรรม แต่ปิดตัวลงในเวลาต่อมาเนื่องจากทุนไม่เพียงพอ ต่อมาในปี 2540 เริ่มต้นทำงานกับ ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งก่อตั้งพรรคไทยรักไทย         

 

ภูมิธรรมเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเมื่อปี 2544 เป็นเลขานุการให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งในปี 2548 ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากถูกยุบพรรค 

 

ในการเลือกตั้งปี 2557 ภูมิธรรมได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21 ต่อมาในปี 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวน สส. มากกว่าจำนวน สส. พึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งในปี 2566 ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะอยู่ในลำดับที่ 100 

 

3. ปานปรีย์ พหิทธานุกร

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ชื่อเล่น ตั๊ก ผ่านการเมืองมาหลายยุคสมัย รวมถึงการทำงานด้านต่างประเทศมากมาย เกิดในครอบครัวนักการทูต คุณปู่เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศและทูต ส่วนคุณพ่อทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ 

 

ปานปรีย์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ University of Southern California สหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการภาครัฐ Claremont Graduate University (CGU) สหรัฐอเมริกา

 

เริ่มต้นจากการเข้าสู่เส้นทางราชการ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีโอกาสทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีหลายคน ตั้งแต่สมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จนกระทั่งสมัยนายกฯ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกปฏิวัติ ปานปรีย์ถูกควบคุมตัวไปพร้อมกัน เนื่องในฐานะหลานเขยของ พล.อ. ชาติชาย ภายหลังลาออกไปใช้ชีวิตที่อังกฤษ ก่อนกลับมาทำงานภาคเอกชน 

 

ในปี 2539 สมัย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ปี 2545 ได้รับเลือกเป็น สส. และดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา, ในปี 2546 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน, ปี 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย ก่อนจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในปี 2551 รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

4. สมศักดิ์ เทพสุทิน 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี

 

 

สส. สุโขทัย ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่งไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นจากการเมืองท้องถิ่นในปี 2564 และเข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับประเทศด้วยการเป็น สส. พรรคกิจสังคม สมัยแรกในปี 2526 ด้วยอายุเพียง 26 ปี 

 

จากนั้นสะสมชั่วโมงบินจนสมัยรัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2535 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเรื่อยมาแม้จะย้ายสังกัดมาอยู่พรรคไทยรักไทย ต่อมาหลังการรัฐประหารในปี 2549 สมศักดิ์นำกลุ่มวังน้ำยมลาออกจากพรรคไทยรักไทย และไปตั้งกลุ่มมัชฌิมา กระทั่งเกิดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2550

 

ในปี 2561 สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อตั้งกลุ่มสามมิตร รวบรวมอดีต สส. ก่อนจะเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และในปี 2566 ได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่กับฝ่ายที่เป็นรัฐบาล

 

5. อนุทิน ชาญวีรกูล 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หรือเสี่ยหนู เป็นบุตรชายของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค และเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

 

ในปี 2562 ร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 

6. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีชื่อเล่นว่าตุ๋ย เป็นอดีตผู้พิพากษาที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเข้าไปเป็นที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

 

ต่อมาพีระพันธุ์ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งพีระพันธุ์เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ภายหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และหันหลังให้การเมือง โดยเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติก็ร่วมรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้พีระพันธุ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

7. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นน้องชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

 

พล.อ. พัชรวาท เติบโตจากวงการข้าราชการตำรวจ ในปี 2551 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยทำงานภายใต้บังคับบัญชานายกรัฐมนตรี 3 คน คือ สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 

ปัจจุบัน พล.ต.อ. พัชรวาท เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ลงนามในคำสั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ 113/2566 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566

 

8. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ทำให้เบนเข็มไปเรียนต่อต่างประเทศ จนจบคณะวิศวกรรมอุตสาหการ จาก University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา 

 

สุริยะเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกภายใต้สังกัดพรรคกิจสังคม และมีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ปี 2541 ต่อมาได้ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทยที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

 

ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และในปี 2561 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มสามมิตร รวบรวมอดีต สส. เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในหลายกระทรวง และในปี 2566 ได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่กับฝ่ายที่เป็นรัฐบาล

 

9. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส. น่าน 6 สมัย ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีชื่อเล่นว่าไหล่ เป็นคนพื้นเพจังหวัดน่าน จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

ก่อนเข้าสู่การเมือง นพ.ชลน่าน ประกอบอาชีพแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวช่วงปี 2538-2543 

 

นพ.ชลน่าน เข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2544 ได้รับเลือกเป็น สส. จังหวัดน่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนจะย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชาชน และปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย

 

ตำแหน่งแรกทางการเมืองของ นพ.ชลน่าน คือ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะขยับมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเคยได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ส่วนในรัฐสภา นพ.ชลน่าน ได้รับฉายา ‘ดาวสภา’ จากบทบาทการอภิปรายมุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าวาทศิลป์ ขณะที่ตำแหน่งในพรรค นพ.ชลน่าน เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทยในช่วงหนึ่ง จนกระทั่งปี 2564 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในปีเดียวกัน ล่าสุด นพ.ชลน่าน กลับมามีประเด็นอีกครั้ง เมื่อเคยประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ หากจับมือกับพรรคสองลุงในการจัดตั้งรัฐบาล และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นพ.ชลน่าน ประกาศลาออกท่ามกลางกระแสสังคมที่สอบถามถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรค

 

10. จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หรือ สส. หนิม เป็น สส. จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อกันถึง 5 สมัย โดยเริ่มลงสมัครครั้งแรกในปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ด้วยวัยเพียง 30 ปี ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และล่าสุดสังกัดพรรคเพื่อไทย 

 

จุลพันธ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ Boston College (B.C.) สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชายของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหลานของ พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ     

 

เส้นทางการเมืองของจุลพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งอดีตกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลากหลายคณะ เช่น การเงิน, การคลัง, การธนาคารและสถาบันการเงิน, การพัฒนาเศรษฐกิจ และงบประมาณ ฯลฯ

 

11. สุทิน คลังแสง 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

 

สุทิน คลังแสง สส. จังหวัดมหาสารคาม ฉายา ‘ผู้แทนติดดิน’ เนื่องจากเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย เข้ากับชาวบ้านทุกระดับ จบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, ปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปริญญาเอกด้านปรัชญา Magadh University ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากสถาบันพระปกเกล้า

 

สุทินเคยเป็นครูสอนเด็กพิการ หูหนวก ตาบอด เกือบ 20 ปี ก่อนย้ายมาทำงานวิจัยสายสังคมศาสตร์ ขณะกำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศได้เจอกับ อดิศร เพียงเกษ ทำให้เปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่สายการเมือง เรียนรู้จากอดิศรและพ่อใหญ่ แคล้ว นรปติ ทำให้มีความสนใจอยากเป็น สส.

 

ในปี 2544 สุทินได้รับเลือกเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชนในปี 2548 ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากยุบพรรคและย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันได้รับเลือกเป็น สส. บัญชีรายชื่อของพรรค ลำดับที่ 9 

 

ล่าสุดสุทินมีรายชื่อในโผรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน หลายตำแหน่ง ก่อนจะมาจบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำพลเรือนมาคุมกองทัพ โดยสุทินจะนับเป็นคนแรกที่จะเข้ารับตำแหน่งนี้ในฐานะพลเรือน นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี 5 ท่านที่เป็นพลเรือนควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

 

12. ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

 

 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

 

เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็น สส. จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2544, 2548, 2550, 2554, 2562 และ 2566 ประเสริฐเคยนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุดในโผคณะรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

 

นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การทำงานเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร ด้วย

 

13. เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

 

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เริ่มต้นการทำงานด้วยการรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอในหลายจังหวัด ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดและปทุมธานี ก่อนได้รับตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยการปกครอง และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและขอนแก่น อธิบดีกรมโยธาธิการ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองคือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

ด้านการศึกษา เสริมศักดิ์จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน 

 

มีบุตร 3 คน หนึ่งในนั้นคือ ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ   

 

เสริมศักดิ์เข้าสู่เส้นทางการเมือง สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2548 ต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรค ปี 2553 เสริมศักดิ์ได้เข้าร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และในปี 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

 

14. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็น สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 21 พรรคเพื่อไทย เป็นนักการเมืองหญิงที่ทำหน้าที่ดูแลการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก่อนลงเล่นการเมืองเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด

 

สุดาวรรณเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ลูกสาวกำนันป้อ’ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล สส. บ้านใหญ่ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

15. เกรียง กัลป์ตินันท์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

เกรียง กัลป์ตินันท์ หรือเสี่ยเบี้ยว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ และปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. สมัยแรก ปี 2538 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

ในปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมกับตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ซึ่งเกรียงถูกจัดเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้น ต่อมาในปี 2555 หวนสู่วงการการเมืองอีกครั้งด้วยตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในปี 2557 ได้เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 42

 

เกรียงนับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ถือเป็นหัวใจหลักของพรรค และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากภาพการพา สส. เพื่อไทย บินไปพบทักษิณที่ประเทศสิงคโปร์แบบส่วนตัว

 

16. ไชยา พรหมา 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

ไชยา พรหมา จบการศึกษาบริหารธุรกิจบัณฑิต ด้านการบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตทางพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ครั้งแรกปี 2535 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายมาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2548 ต่อมาปี 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร และในปี 2562 เป็นประธานกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ 

 

โดยในปี 2563 ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันพระปกเกล้า อีกทั้งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

17. สุรพงษ์ ปิยะโชติ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

สุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นที่รู้จักในชื่อหมอหนุ่ย จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีทางสัตว์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำธุรกิจฟาร์มโคนมส่งออกน้ำนมพาสเจอร์ไรซ์ระดับประเทศ 

 

เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกโดยการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สนามแย้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2548 ในปี 2554 ลงสมัคร สส. กาญจนบุรี เขตอำเภอท่ามะกา สังกัดเพื่อไทย และได้เป็น สส. สมัยแรก

 

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้ สส. จังหวัดกาญจนบุรี มา 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 5 ที่นั่ง ทำให้หมอหนุ่ยได้รับการพูดถึงและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในพรรคในฐานะแม่ทัพเพื่อไทย เมืองกาญจน์

 

18. จักรพงษ์ แสงมณี

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

จักรพงษ์ แสงมณี มีชื่อเล่นว่าเพ้า จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารจาก University of Colorado ผ่านประสบการณ์การทำงานเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปี 2553-2556, 2561 – ปัจจุบัน และเป็นอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่ผ่านมาเขาปรากฏตัวข้างกาย เศรษฐา ทวีสิน ในช่วงเข้าสู่สนามการเมืองมาโดยตลอด

 

19. พวงเพ็ชร ชุนละเอียด 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

 

พวงเพ็ชร ชุนละเอียด หรือแจ๋น เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกับสื่อด้วยรูปแบบการทำงานที่ใกล้ชิดมาตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าของฉายา ‘มาดามนครบาล’ จากการทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร จนพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์จากการเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานคร

 

พวงเพ็ชรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีและชีววิทยา จาก University of North Texas สหรัฐอเมริกา, ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จาก Southeastern Oklahoma State University สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

 

เริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2538 ด้วยการเป็น สส. จังหวัดเลย สังกัดพรรคชาติพัฒนา ต่อมาปี 2538 ลงเลือกตั้ง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และในปี 2548 ได้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี รวมถึงที่ปรึกษารัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีหลายกระทรวง 

 

ในปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมกับตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ก่อนจะหวนกลับมาอีกครั้งในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

พวงเพ็ชรถือว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของพรรคเพื่อไทยมาหลายยุคหลายสมัย และมีความใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตรเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามักจะเดินทางไปพบปะและดูแลทักษิณกับยิ่งลักษณ์สมัยลี้ภัยทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ 

 

20. มนพร เจริญศรี 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

มนพร เจริญศรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

 

ปี 2554 เป็น สส. จังหวัดนครพนม ครั้งแรกในสังกัดพรรคเพื่อไทย มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในฐานะนักต่อสู้ในนามคนเสื้อแดงจังหวัดนครพนมนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 โดยอาสารับผิดชอบงานในกรรมาธิการการมีส่วนร่วมพัฒนาการเมือง เพื่อทวงสิทธิให้กับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการชุมนุม

 

มนพรถือเป็นนักประสานงานระหว่างพรรคการเมือง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ประสาน 10 ทิศในสภาผู้แทนราษฎร และมีตำแหน่งเป็นเลขานุการภาคอีสานของพรรค

 

21. วราวุธ ศิลปอาชา 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

 

 

วราวุธ ศิลปอาชา ชื่อเล่นท็อป เป็นลูกชายคนสุดท้องของ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 กับ คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้ารวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ และระดับปริญญาโทด้านไฟแนนซ์และการธนาคาร University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา

 

เข้าสู่เส้นทางการเมืองตามบิดาโดยการเป็น สส. จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2544, 2548 และ 2550 สังกัดพรรคชาติไทย ในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค 

 

วราวุธได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2557 จากนั้นปี 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

22. พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

 

 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นบุตรชายของ ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา มีพี่ชายชื่อ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย และน้องชายชื่อ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์​ จันทร์โอชา จนทำให้สังคมมองว่า การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้เพราะนามสกุล ‘ชิดชอบ’  

 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน รับราชการตำรวจตั้งแต่ปี 2527 ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 2 จเรตำรวจ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง กทม. 

 

ส่วนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเด้งไปเป็นผู้อำนวยการจเรตำรวจ เมื่ออยู่ในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกขยับให้มารับตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และเกษียณอายุราชการปี 2564

 

23. พิพัฒน์ รัชกิจประการ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

 

 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนที่ 5 เป็นสามี นาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย และเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันเครือพีที นามสกุลรัชกิจประการมีความสนิทสนมนามสกุลชิดชอบมาอย่างยาวนาน และอยู่ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทยจนถึงปัจจุบัน

 

ในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลประยุทธ์ พิพัฒน์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในโควตาของพรรคภูมิใจไทย

 

24. ศุภมาส อิศรภักดี

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

 

ศุภมาส อิศรภักดี เคยเป็นโฆษกพรรคและเป็นอดีตคนไทยรักไทย เคยเป็น สส. กทม. เขต 13 หลักสี่ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 แต่ในปี 2554 พ่ายให้กับ สุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย

 

จากนั้นปี 2557 ได้ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 9 แต่ไม่มีการเลือกตั้ง และในปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

 

25. ชาดา ไทยเศรษฐ์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี มาจากครอบครัวมุสลิมปาทาน อพยพมาจากปากีสถานตั้งแต่รุ่นปู่ เป็นพี่ชายของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

ชาดาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี จากนั้นในปี 2543 เข้าร่วมงานกับพรรคถิ่นไทย และปี 2550 ได้รับเลือกเป็น สส. จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย และปี 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

 

ชาดาเคยถูกจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่า สมเกียรติ จันทร์หิรัญ เลขานุการของ ประแสง มงคลศิริ สส. พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2546 แต่สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องในปี 2548 และจากนั้นในปี 2561 ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวดอุทัยธานี และเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนที่ 4

 

26. ทรงศักดิ์ ทองศรี 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว, สภาผู้แทนราษฎร และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ต่อมาในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และเขายังเป็นหนึ่งในสมาชิก สส. กลุ่ม 16 ด้วย

 

ในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในโควตาพรรคภูมิใจไทย

 

27. สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ลูกชายของ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในลูกหลานบ้านใหญ่อยุธยา ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน มารับไม้ต่อจากพี่สาว สุวิมล พันธ์เจริญวรกุล อดีต สส. พรรคไทยรักไทย ที่ถอยจากวงการการเมือง จากนั้นในปี 2554 ได้รับการเลือกตั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย และปี 2562 ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดพรรคภูมิใจไทย 

 

ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย

 

28. นภินทร ศรีสรรพางค์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

นภินทร ศรีสรรพางค์ เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี ปี 2543-2549 และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2554-2556 

 

นอกจากนี้ยังเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป จำกัด รวมถึงผู้ดำเนินงานตลาดกลางผักและผลไม้ จังหวัดราชบุรี (ศรีเมือง)

 

29. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย ดูแลยุทธศาสตร์การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครให้พรรค และในการเลือกตั้งปี 2562 ลงสมัคร สส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และได้เป็น สส. ในการตั้ง ครม. ประยุทธ์ เขาถูกโจมตีเกี่ยวกับคดีในอดีต โดยได้รับฉายาที่เรียกกันทั่วไปว่า รัฐมนตรี ‘มันคือแป้ง’

 

ปี 2562 ร.อ. ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา จากนั้นออกจากพรรคพลังประชารัฐไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม และกลับมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง หลังมีข่าวย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้ย้ายไปในที่สุด

 

ปัจจุบัน ร.อ. ธรรมนัส เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา และเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ 

 

30. สันติ พร้อมพัฒน์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

 

 

สันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนที่ 1 และเป็นอดีต สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดพรรคความหวังใหม่, เป็นอดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย และอดีต สส. แบบสัดส่วน สังกัดพรรคพลังประชาชน

 

นอกจากนี้สันติเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

ในปี 2562 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และในปี 2566 ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 พรรคพลังประชารัฐ 

 

สันติถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในฐานะแกนนำจังหวัดเพชรบูรณ์ เขาปรากฏตัวเป็นรัฐมนตรีมาโดยเสมอ และมีบทบาทของการอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชารัฐในหลายเรื่อง อาทิ อาคารสำนักงานต่างๆ 

 

31. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ในวัย 43 ปี เป็น สส. นครศรีธรรมราช สมัยแรก เมื่อปี 2550 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเรื่อยมา ทั้งการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 และ 2562 ก่อนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาลงสมัคร สส. นครศรีธรรมราช ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4

 

โดยในครั้งนี้พิมพ์ภัทราได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมาจากโควตาสัดส่วน สส. ภาคใต้ ที่เป็น สส. ที่สมัยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกของพิมพ์ภัทรา

 

32. อนุชา นาคาศัย

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

 

อนุชา นาคาศัย หรือ แฮงค์ สส. ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็น สส. พรรคไทยรักไทย ก่อนถูกตัดสิทธิทางการ 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคจากคดียุบพรรคไทยรักไทย

 

อนุชาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของอนุชา หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

อนุชายังเคยเป็นคู่สมรสกับ พรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 

อนุชาเป็นแกนนำกลุ่ม 3 มิตร ที่ประกอบด้วย อนุชา นาคาศัย, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ก่อนจะแยกย้ายไปทำงานการเมืองคนละพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

 

33. กฤษฎา จีนะวิจารณะ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

 

 

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในโควตาสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังลาออกจากปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

กฤษฎาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงการคลังหลายตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมศุลกากร, อธิบดีกรมสรรพสามิต และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนต่างๆ เช่น บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)​

 

สำหรับกฤษฎาคาดว่าจะมาช่วยขับเคลื่อนงานในกระทรวงการคลัง เนื่องจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกด้วย

 

34. พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เป็นอดีตนายตำรวจที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมาหลายตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI, เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เริ่มต้นชีวิตการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคประชาชาติร่วมกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยเขาเป็นเลขาธิการพรรคและลงสมัครเป็น สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ของพรรค แม้ว่าในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 พรรคประชาชาติจะได้รับเลือก สส. บัญชีรายชื่อ เพียงลำดับเดียว คือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่ต่อมาได้ลาออกเพื่อเปิดทางให้ทวีขึ้นเป็น สส. แทน

 

ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 พรรคประชาชาติได้รับเลือกตั้ง สส. บัญชีรายชื่อ 2 คน ทำให้ทวีกลับเข้าสภาอีกครั้ง และพรรคประชาชาติประกาศเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยทวีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในโควตาพรรคประชาชาติ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising